ความเป็นมา

      หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ริเริ่มให้มีการจัดสร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2495 เป็นครั้งแรก โดยมหาวิทยาลัยมีแนวคิดในการก่อสร้างอาคารหอประชุมให้มีขนาดเท่ากับหอประชุมของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีขน าดความจุประมาณ 500-600 คน แต่เนื่องจากจอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เสนอให้ก่อสร้างอาคารเป็นอาคาร 3 ชั้น คล้ายคลึงกับอาคารขององค์การสหประชาชาติที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ทางมหาวิทยาลัยจึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและขอตั้งเสนอเงินงบประมาณไปเป็นจำนวน 2,500,000 บาท หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยได้มีการปรับเปลี่ยนขนาดของหอประชุมให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นขนาด 1,000 คน เพื่อรองรับการใช้เป็นที่อบรมกสิกรและประชาชนในทางเกษตร ทั้งในเวลาปกติเป็นครั้งคราว และเวลามีงานวันเกษตร พร้อมทั้งขอเพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างด้วย ( เอกสารจดหมายเหตุสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2495 )

      อาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปีพ.ศ. 2496 โดยสามารถสรุปรายละเอียดได้ดังนี้คือ

ปีงบประมาณ                   2497              2498              2499*

ค่าก่อสร้างหอประชุม           4,000,000       2,375,000       1,600,000

*รายงานประจำปี กรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงเกษตร ประจำพุทธศักราช 2499, หน้า 70)

      งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมดคิดเป็นมูลค่า 7,975,000 บาท ทั้งนี้งบประมาณดังกล่าวยังไม่ได้รวมงบประมาณในปี 2496 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งงบประมาณไปยังกระทรวงการคลัง เป็นเงิน 2,500,000 บาท แต่ถูกตัดทอนเพราะงบประมาณรายจ่ายไม่สมดุลกับรายรับ จึงคงตั้งงบประมาณไว้เป็นค่าปรับปรุงพื้นที่ดินและวางรากฐานเพียง 410,000 บาท

ที่ตั้ง

      หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่มุมถนนพหลโยธินตัดกับถนนงามวงศ์วาน ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2497 โดยมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธาน

      หอประชุมสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2500 และเปิดใช้เพื่อเป็นสถานที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร งานวันเกษตร อบรมสัมมนาต่างๆ เรื่อยมา พร้อมกันนี้ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขานุการ (สำนักงานอธิการบดี) กรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งย้ายมาจากตึกชีววิทยา และใช้พื้นที่ชั้นล่างเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่างๆในมหาวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่และยังไม่มีอาคารที่ทำการ

แต่ระหว่าง พ.ศ. 2520 – 2528

      หอประชุมของมหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างการซ่อมแซมและไม่เพียงพอต่อจำนวนบัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ที่มีจำนวนมากขึ้น จึงย้ายสถานที่จัดไปที่อาคารใหม่ สวนอัมพร และเมื่อซ่อมแซมหอประชุมเสร็จแล้วก็ไม่ได้ใช้เป็นสถานที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรอีก เนื่องจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้สร้างอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริขึ้นและเปิดใช้ครั้งแรกในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปี 2529 และใช้เป็นสถานที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการทำนุบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง และใช้เป็นสถานที่จัดงานพิธีการต่างๆ เช่น งานดนตรีไทยอุดมศึกษา งานเกษตรแห่งชาติ งานเกษตรแฟร์ นิทรรศการอุทยานวิจัย งานวันที่ระลึกวันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี เป็นต้น รวมทั้งยังเคยเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนของคณะบริหารธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันอาคารนี้ไม่ได้ใช้จัดการเรียนการสอนแล้ว

เนื่องในวาระโอกาสครบรอบ 72 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทำการปรับปรุงอาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และได้จัดทำห้องนิทรรศการ แสดงประวัติความเป็นมาของอาคารหอประชุมและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง นำเสนอเป็นนิทรรศการภาคโปสเตอร์และมัลติมีเดีย แบ่งเป็นห้องนิทรรศการถาวรภายใต้ชื่อ “ใต้บารมี ธ ปกเกล้าฯ” และห้องนิทรรศการหมุนเวียนภายใต้ชื่อ “ใต้ร่มนนทรี”

ใต้บารมี ธ ปกเกล้าฯ

ใต้บารมี ธ ปกเกล้าฯ

ใต้บารมี ธ ปกเกล้าฯ

ใต้บารมี ธ ปกเกล้าฯ

ใต้ร่มนนทรี

ใต้ร่มนนทรี

ใต้ร่มนนทรี

ใต้ร่มนนทรี

*** หมายเหตุ สำหรับป้ายชื่ออาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ติดอยู่ด้านหน้าอาคาร ในปัจจุบัน เรียกชื่ออาคารว่า “หอประชุมใหญ่” นั้น มาจากการเรียกขานของนิสิตในสมัยก่อน เนื่องด้วยเป็นอาคารหอประชุมขนาดใหญ่เพียงอาคารเดียวในขณะนั้น กอปรกับอาคารแห่งนี้ไม่มีป้ายชื่ออาคารติดไว้ให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกัน ดังนั้น ในสมัยของรักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร. จงรัก วัชรินทร์รัตน์ จึงดำริให้จัดทำป้ายชื่ออาคารว่า หอประชุมใหญ่ MAIN AUDITORIUM ติดตั้งเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561



Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University