นิทรรศการหอประวัติ มก.

เย็นศิระเพราะพระบริบาล / สามบูรพาจารย์-แก้วเกษตร / สารนิเทศหกทศวรรษ / นิทรรศการเกษตรศาสตร์



ความเป็นมาก่อนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยและลำดับเหตุการณ์ในก่อนการจัดตั้ง



วันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2013 เวลา 14:28 น.


การจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นของวิวัฒนาการจากการจัดการศึกษาวิชาเกษตรของประเทศ ซึ่งเริ่มในระบบโรงเรียนวิชาชีพ ในสมัยเริ่มแรก อาจแบ่งออกได้เป็น ๓ ระยะดังนี้


๑) ระยะต้น (พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๔๕๖) เป็นระยะก่อตั้งระบบการศึกษาวิชาเกษตร ให้เป็นระบบโรงเรียนของไทย เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ เมื่อ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม องค์อธิบดีกรมช่างไหมในกระทรวงเกษตราธิการ ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนช่างไหมขึ้น ณ ท้องที่ตำบล ทุ่งศาลาแดง กรุงเทพมหานคร ในบริเวณเดียวกันกับส่วนหม่อน และสถานีทดลองเลี้ยงไหม โดยจัดการศึกษาหลักสูตร ๒ ปี สอนเกี่ยวกับวิชาการ เลี้ยงไหมโดยเฉพาะ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้ขยายหลักสูตรเป็น ๓ ปี โดยเพิ่มวิชาการเพาะปลูกพืชอื่น ๆ เข้าในหลักสูตร ตลอดจนได้เริ่มสอนวิชา สัตวแพทย์ด้วย และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียน เป็นโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ กระทรวงเกษตราธิการ ได้รวมโรงเรียนที่อยู่ในสังกัด ๓ โรงเรียนคือโรงเรียนแผนที่ (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕) โรงเรียนกรมคลอง (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘) และโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก เป็นโรงเรียนเดียวกันเพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตราธิการ โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่าโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ และย้ายสถานที่ตั้งมารวมกัน ณ พระราชวังสระปทุม พร้อมกับได้ให้เรียบเรียงหลักสูตรใหม่ซึ่ง ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์ หลักสูตรแรกของประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการสอนหลักสูตรใหม่นี้ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ รัฐบาลได้ยกโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการไปรวมเข้ากับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ด้วยเหตุที่วัตถุประสงค์ของโรงเรียนกระทรวง เกษตราธิการตรงกับพระราชดำริในการจัดตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ซึ่งได้ทรงจัดตั้งขึ้นในกระทรวงธรรมการงานการศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์ จึงมาสังกัดกระทรวงธรรมการ


๒) ระยะกลาง (พ.ศ. ๒๔๕๗-๒๔๖๖) เป็นการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถม-กสิกรรม เจ้าพระยาธรรศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดี กระทรวงธรรมการได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมหอวัง ณ บ้านสวนหลวง กรุงเทพมหานคร โรงเรียนนี้รับผู้จบชั้น ม.๓ (เปลี่ยนเป็น ม.๖ ในระยะต่อมา) เข้าศึกษาในหลักสูตร ๒ ปี เพื่อรับประกาศนียบัตรประโยคครูประถมกสิกรรม (ปป.ก.) และในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้ย้ายที่ตั้งไปอยู่ที่ตำบล พระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม


๓) ระยะปลาย (พ.ศ. ๒๔๖๗-๒๔๘๕) เป็นการขยายโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมไปสู่ทุกภาค โดยได้ย้ายโรงเรียนจากตำบลพระประโทน จังหวัด นครปฐม ไปตั้งที่ตำบลบางสะพานใหญ่ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ และจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมขึ้นใหม่ อีกแห่งหนึ่งที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ต่อมาการจัดการศึกษาวิชาเกษตรในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นั้น ได้ดำเนินการในรูปแบบของโรงเรียนประถมวิสามัญกสิกรรม และโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมหลายแห่ง

ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๔ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร อธิบดีกรมตรวจกสิกรรมในกระทรวงเกษตราธิการ ทรงดำริว่าควรจัดตั้งสถานีทดลองกสิกรรมขึ้นที่ ภาคอีสาน ภาคใต้และภาคพายัพ พร้อมกับโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม เพื่อให้งานวิจัยการเกษตรดำเนินควบคู่ไปกับการให้การศึกษาในสาขา เกษตรศาสตร์ จังได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมกับสถานีทดลองกสิกรรมตามภาคต่าง ๆ มีผลให้กระทรวงเกษตราธิการจัดการศึกษาวิชา เกษตรศาสตร์ใหม่

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัด ตำบลโนนสูง อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม แม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมคอหงษ์ ตำบลคอหงษ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

แนวคิดในการดำเนินงานสถานีทดลองกสิกรรมควบคู่กับโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมทั้ง ๓ แห่ง นับได้ว่าเป็นต้นแบบอย่างอันดียิ่งของการประสาน ระหว่างงานวิจัยทดลองและงานศึกษา หัวหน้าสถานีและอาจารย์ใหญ่ชุดแรก ได้แก่ หลวงอิงคศรีกสิการ (ที่โนนวัด) หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (ที่คอหงส์) และพระช่วงศิลปการ (ที่แม่โจ้)

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ นโยบายการศึกษาสาขาเกษตรศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือรัฐบาลในขณะนั้นเกรงว่าจะมีการผลิตครูเกษตรเกินความ ต้องการของประเทศ จึงมีดำริที่จะยุบโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมทั้ง ๓ แห่ง หลวงอิงคศรีกสิการ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และพระช่วงเกษตร ศิลปการจึงได้ร่วมกันเสนอโครงการให้คงโรงเรียนฝักหัดครูประถมกสิกรรมที่แม่โจ้ พร้อมกับจัดตั้งโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมขึ้นแทนซึ่งต่อมา ได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัย ชื่อ "วิทยาลัยเกษตรศาสตร์" มีฐานะเป็นกองวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในกรมเกษตรและประมง ผู้ที่ได้รับแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของวิทยาลัยได้แก่พระช่วงเกษตรศิลปการ

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ กระทรวงเกษตราธิการได้จัดตั้งโรงเรียนวิชาชีพเฉพาะขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่จังหวัดแพร่ คือโรงเรียนป่าไม้ ซึ่งเปิดสอนหลักสูตร ๒ ปี และ ได้โอนกิจการไปเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนวนศาสตร์

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ กระทรวงเกษตราธิการได้จัดตั้งสถานีเกษตรกลางขึ้นในท้องที่ อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร อันเป็นที่ตั้งวิทยาเขตหลักของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปัจจุบัน และได้ย้ายวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากแม่โจ้มาบางเขน มีหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัย เปิดสอนหลักสูตร ๓ ปี ในระดับอนุปริญญา โดยมี ๓ แผนก คือแผนกเกษตรศาสตร์กับแผนกสหกรณ์ ซึ่งเปิดสอนที่บางเขน (สำหรับนักศึกษาแผนก สหกรณ์ ชั้นปีที่ ๓ ต้องไปเรียนที่กรมสหกรณ์ ท่าเตียน เพื่อสะดวกในการอบรมวิชาภาคปฏิบัติ) และแผนกวนศาสตร์ซึ่งเปิดสอนที่โรงเรียนวนศาสตร์ จังหวัดแพร่ (ต่อมาโรงเรียนวนศาสตร์ได้แยกดำเนินกิจการในลักษณะเดิมอีกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๙)


ที่มา : หนังสือเรื่อง "๕0 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : กำเนิดและพัฒนาการ" หน้า ๓๒-๓๔

ลำดับเหตุการณ์สำคัญ


ตึกบัญชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๗๘

The administration Building of Kasetsart University in 1935


วิวัฒนาการสถาบันสอนวิชาการเกษตรในประเทศไทย


2447      โรงเรียนช่างไหม

2449      โรงเรียนวิชาการเพาะปลูก

2451      โรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ

2456      รัฐบาลยุบโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ

2460      โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมหอวัง

2461      โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมวัดพระประโทน

2467      โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมบางสะพานใหญ่

2469      โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมทับกวาง

2476      โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัด

2477      โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคใต้ ต. คอหงษ์

            โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคเหนือ ที่ แม่โจ้

2478      โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม ที่แม่โจ้

2479      จัดตั้งโรงเรียนป่าไม้ จ.แพร่

            เริ่มกิจกรรม วิ่งประเพณี 15 กม.

2481      ยกฐานะโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม ที่แม่โจ้ เป็นวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

            สถานีเกษตรกลาง บางเขน

            จัดตั้งโรงเรียนช่างชลประทาน

2482      ย้ายวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากแม่โจ้มาอยู่บางเขน ส่วนที่แม่โจ้เปลี่ยนเป็นโรงเรียน

            เตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

            โรงเรียนป่าไม้ จ.แพร่ เปลี่ยนเป็น โรงเรียนวนศาสตร์สังกัดวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่อยู่บางเขน

            เริ่มมีผู้นำกีฬารักบี้ฟุตบอลเข้ามาฝึกซ้อมและหัดเล่น

2484-2486   เริ่มผลิตนิสิตออกรับราชการในกรมเกษตร กรมสหกรณ์ และกรมป่าไม้

                 ชุดนิสิตหญิง ยังไม่มีการกำหนดเครื่องแบบ แต่เน้นสีสุภาพ


ตึนักเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ( ป . ป . ก .) รุ่นแรก สวนหลวง ( หอวัง ) พ . ศ . ๒๔๖๐


1. พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ ( โห้ กาฬดิษย์ ) อจ . ใหญ่

2. ครูทองดี เรศานนท์ ( หลวงสุวรรณวาจก กสิกิจ )

3. ครูผล สินธุระเวชญ์ ( หลวงผลสมัยฤทธิ์กสิกรรม )

4. นายผาย พรมสีใหม่ ( ขุนกสิกรพิศาล ( อุบล ))

5. นายบุญ ภักดีรัตน์ ( ราชสีมา )

6. นายทองม้วน ( อยุธยา )

7. นายเนื่อง วีระกะลัส ( ราชบุรี )

8. นายชื่น ( แพร่ )

9. นายออง ( จันทบุรี )

10. นายก้าวต้า ฉายากุล ( ขุนฉายากุลศึกษากร ( สงขลา )

11. นายเสงี่ยม ( จันทบุรี )

12. นายเนียม ( ปัตตานี )

13. นายขัน ( ชุมพร )

14. นายบั่นขิ้ม บุญยสิงหานนท์ ( สงขลา )

15. นายบุญมา พ้นภัย ( เชียงใหม่ )

16. นายพร ( อุบล )

17. นายไล ( ลำปาง )

18. นายเจริญ สุวรรณจิตร ( ปัตตานี )

19. นายช่วง ชนะณรงค์ ( ขุนชนะณรงค์ศึกษากร ( นครศรีธรรมราช )

20. นายบุญนาค ฉิมพลี ( เชียงใหม่ )

21. นายฟู ( พิษณุโลก )

22. นายเฮง จิระศิริ ( ขุนจิระศิริศึกษากร ( ราชบุรี ))

23. เจ๊กฮั้ว - ภารโรง

24. นายเจียม ศุภลักษณ์ ( ขุนศุกลักษณ์ศึกษากร ( ราชสีมา ))

25. นายจี่ ปัจฉิมเวส ( ปัตตานี )

26. นายบุญหนัก ทินกูล ( อุดร )

27. นายพุ่ม ( ชุมพร )

28. นายยิ้ม เปตานนท์ ( พิษณุโลก )

29. นายนาก สุบงกช ( ขุนสุบงกชศึกษากร ( ราชสีมา ))

30. นายเปลื้อง ( อยุธยา - ไม่ได้ถ่ายรูป )

รวมนักเรียนทั้งสิ้น ๒๖ คน




Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University