-->
นายกสภามหาวิทยาลัย
15 เม.ย. 2491 – 29 พ.ย. 2491
พระยาพนานุจร นามเดิมคือ เปล่ง สาครบุตร เป็นบุคคลสำคัญในวงการป่าไม้ของไทยสมัยของการบุกเบิกวางรูปแบบการบริหารกิจการป่าไม้ให้เป็นระเบียบตั้งแต่สมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมป่าไม้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2439 ในระยะแรกนั้น ชาวอังกฤษได้เข้ารับราชการและได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมป่าไม้ของไทย คนแรกคือ Mr. H. Slade ท่านผู้นี้ได้วางหลักการที่สำคัญไว้ประการหนึ่งคือ การคัดนักเรียนไทยรับทุนศึกษาวิชาการป่าไม้ในต่างประเทศเพื่อรับการศึกษา ฝึกฝนอบรมอย่างเข้มงวดที่จะกลับมาทำงานด้านป่าไม้ของไทย ด้วยเหตุนี้ พระยาพนานุจรจึงเป็นนักเรียนทุนที่ได้รับทุนไปเรียนวิชาป่าไม้ที่ Forest College เมือง Dehradun ประเทศอินเดีย ได้ศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติตามหลักสูตรวิชาวนศาสตร์อย่างเข้มข้น ต้องมีความรู้อย่างดีในวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป พฤกษศาสตร์ แผนที่ วิศวกรรมป่าไม้ ประโยชน์ของป่าไม้ ตลอดจนกฎหมายป่า แม้การศึกษาในวิทยาลัยป่าไม้ที่เมือง Dehradun จะหนักมาก พระยาพนานุจรก็ได้รับความสำเร็จอย่างดี สอบได้ที่ 1 ได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรตินิยมชั้นสูง และเหรียญเงินในวิชาวนศาสตร์ นับเป็นนักเรียนคนแรกที่มิใช่นักเรียนของดินแดนใต้การปกครองของอังกฤษที่ได้รับรางวัลทั้งเหรียญทองและเหรียญเงิน เมื่อท่านกลับมาเมืองไทยแล้ว ท่านก็ตรากตรำทำงานหนัก บุกเบิกการพัฒนาการป่าไม้ในเมืองไทยทั้งด้านการศึกษา และการทำงานของรัฐ
พระยาพนานุจร เป็นบุตรชายคนโตของนายเทียน และนางสั้น สาครบุตร เกิดที่บ้านบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2432 เริ่มเรียนหนังสือกับบ้าน และเรียนหนังสือขอมกับพระช่วงที่วัดกลาง แล้วเข้าเรียนในโรงเรียนพิทยาคม ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงเรียนบวรวิทยายน จบประโยคประถมตอนปลายใน พ.ศ. 2445 แล้วมาเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมราชบูรณะ ในกรุงเทพฯ จบการศึกษาที่นี่หลังจากได้สอบข้ามชั้นเรียนหลายครั้ง ต่อมาสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แผนกภาษาอังกฤษ จบชั้น ม. 6 พ.ศ. 2449 แล้วเข้าเรียนในกรมป่าไม้จนได้ทุนไปเรียนวิชาป่าไม้ที่เมือง Dehradun ประเทศอินเดีย มีกำหนด 2 ปี รอนแรมทางเรือไป 15 วัน ก็ถึงอินเดีย
การเรียนในวิทยาลัยป่าไม้ที่อินเดียนั้น เน้นความสำคัญของ First Hill Tour การออกสนามต้องบรรลุจุดประสงค์ 3 ประการ คือ ความแข็งแรงอดทนในการตรากตรำ การมีปฏิภาณไหวพริบ และความสามารถที่จะศึกษาตามหลักสูตร ดังนั้น เมื่ออบรมครบกำหนดแล้ว ใครอ่อนแอ ขาดจิตใจ หรือสติปัญญาที่จะเป็นนักป่าไม้ที่ดี ก็จะถูกส่งตัวกลับ แต่พระยาพนานุจรก็สำเร็จการศึกษาด้วยดี ได้เหรียญทองดังกล่าวมาแล้ว และเดินทางกลับประเทศไทยในเดือนเมษายน พ.ศ. 2454
หลังจากสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว พระยาพนานุจรก็เข้ารับราชการเป็นผู้ช่วยเจ้ากรมป่าไม้ แล้วทำงานที่ด่านป่าไม้นครสวรรค์ เป็นผู้ช่วยป่าไม้เขต จังหวัดลำปาง เลื่อนขึ้นเป็นป่าไม้เขตประจำจังหวัดน่าน และเชียงราย ซึ่งเป็นภาระหนัก แต่ท่านก็ฝ่าฟันไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนพนานุจร ต่อมาย้ายมาเป็นป่าไม้เขตพิษณุโลกใน พ.ศ. 2457 ที่กว้างขวางใหญ่โตรวมอาณาเขตของห้าจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้เผชิญกับการลักลอบตัดไม้เพิ่มขึ้น ตลอดจนการละเมิดสัญญาของบริษัทไม้ ทำให้ท่านตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งป่าไม้เขตพิษณุโลก อย่างไรก็ดี จากความสามารถของท่าน ทำให้ได้รับแต่งตั้งเป็นป่าไม้เขตมณฑลนครสวรรค์ และนายด่านภาษีไม้ปากน้ำโพใน พ.ศ. 2458 ในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่นั้น ท่านได้เน้นการจัดการป่าไม้ให้ถูกต้องตามหลักวิชา และให้การศึกษาต่อผู้บริหารว่า ป่าไม้เป็นทรัพยากรที่สำคัญของโลก ต่อมาท่านได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น หลวงพระ และ พระยา อย่างรวดเร็ว จนถึง พ.ศ. 2478 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมป่าไม้
ผลงานสำคัญที่พระยาพนานุจรที่มีต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประเทศไทยคือ การตั้งโรงเรียนป่าไม้ที่จังหวัดแพร่ใน พ.ศ. 2478 และโรงเรียนนี้ก็ได้เข้ารวมอยู่ในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และท่านสนับสนุนให้มีนิตยสาร วนสาร ตั้งแต่ พ.ศ. 2479 เพื่อเป็นสื่อเผยแพร่กิจการและความรู้ในการป่าไม้ ท่านริเริ่มให้มีการจัดส่งข้าราชการของกรมป่าไม้ไปดูกิจการป่าไม้ในประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ใน พ.ศ. 2480-2481 และจัดส่งไปดูงานป่าไม้ในสหรัฐอเมริกา อิตาลี และอินเดีย ใน พ.ศ. 2482 ท่านพยายามให้รัฐบาลเสนอสภาผู้แทนราษฎรออกพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พุทธศักราช 2481 ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ถือกันว่าเป็นตัวสำคัญอย่างยิ่งในประวัติการป่าไม้ของประเทศไทย
พระยาพนานุจร เกษียณอายุราชการในวันที่ 14 พฤษภาคม 2484 แต่ด้วยผลงานดีเด่นของท่านตลอดมา ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิกในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2490 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ใน พ.ศ. 2491-2492 (สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี) ท่านดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 15 เมษายน -30 พฤศจิกายน 2491 และได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในสาขาวนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2506 ในฐานะเป็นนักการป่าไม้ผู้ทำงานตรงต่ออุดมการ คือการอนุรักษ์ป่าไม้และรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ
พระยาพนานุจรได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2512 สิริอายุ 80 ปี
แหล่งข้อมูล
เอกสารออกรายการทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันที่ 26 กันยายน 2534
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระยาพนานุจร. ณ วัดโสมนัสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2513.
ที่ระลึกวันสถาปนากรมป่าไม้ครบรอบ 80 ปี กรุงเทพมหานคร : กรมป่าไม้ 2519.