-->
นายกสภามหาวิทยาลัย
ครั้งที่ 1 22 พ.ย. 2490 – 6 ก.พ. 2491
ครั้งที่ 2 25 ก.พ. 2491 – 7 เม.ย. 2491
หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เป็นโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ (พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น) กับหม่อมสุภาพ ประสูติเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2426 ทรงมีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมอุทรมารดาเรียงตามลำดับดังนี้ หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร หม่อมเจ้าบวรเดช (ต่อมาทั้ง 2 องค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า) หม่อมเจ้าเศรษฐศิริ หม่อมเจ้าสิทธิพร หม่อมเจ้าอมรทัต หม่อมเจ้าเขจรจรัสฤทธิ์ และหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์
ทรงได้รับการอบรมเลี้ยงดูตามแบบแผนของเจ้านายในช่วงเวลานั้น คือเมื่อเจริญชันษาขึ้นถึงวัยอันสมควรก็จะถูกส่งตัวไปศึกษาที่ต่างประเทศ หม่อมเจ้าสิทธิพร เสด็จไปทรงศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงอุดมศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ณ Harrow School และ City and Guild's Technical College (พ.ศ. 2434-2444) ซึ่งต่อมารวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ University of London สาขาวิชาที่สนพระทัยคือวิศวกรรมเครื่องกล ทรงช่างคิดและหมั่นค้นคว้าจึงสามารถใช้ความถนัดในสาขานี้ให้เป็นประโยชน์แก่การประกอบกิจการงานต่างๆ ของพระองค์ตลอดมา
พ.ศ. 2444 หลังจากเสด็จกลับมายังประเทศไทยแล้วได้ทรงช่วยเหลือกิจการโรงงานทำปูนขาวของครอบครัวที่จังหวัดสระบุรีอยู่ระยะหนึ่ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงเข้ารับราชการเป็นเลขานุการของที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ใน พ.ศ. 2449 ในขณะที่ทรงงานที่กระทรวงการต่างประเทศทรงพัฒนาวิธีการเขียนชวเลขไทยประกวดได้รับรางวัลที่ 1 จากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่ด้วยเหตุที่ทรงมีความรู้ดีเรื่องเครื่องจักรกลจึงได้รับการโยกย้ายไปทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมฝิ่น กระทรวงการคลัง (พ.ศ. 2453) เพื่อกำกับดูแลการจัดสร้างและดำเนินงานโรงงานใหม่ เมื่องานสำเร็จลงก็ทรงย้ายไปเป็นอธิบดีกรมกษาปณ์สิทธิการ (พ.ศ. 2456) ดำเนินการปรับปรุงเครื่องทำเหรียญกษาปณ์ ท้ายสุดทรงย้ายกลับไปเป็นอธิบดีกรมฝิ่น (พ.ศ. 2458) ทรงปรับปรุงระบบการจำหน่ายจนกรมฝิ่นสามารถทำรายได้ให้แก่ราชการมากถึงร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมด
ระหว่างที่ทรงทำงานโรงงานปูนขาว ได้สมรสกับหม่อมคำทิพย์เมื่อ พ.ศ. 2447 มีบุตรชาย 1 คน คือหม่อมราชวงศ์อำนวยพร กฤดากร ต่อมาหม่อมคำทิพย์ป่วยและเสียชีวิตลง หม่อมเจ้าสิทธิพรทรงครองตนอยู่โดยลำพังจนถึง พ.ศ. 2459 จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เษก สมรสกับเจ้าศรีพรหมา ธิดาเจ้าสุริยพงศ์ผลิตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน ที่พระยามหิบาลบริรักษ์ ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และคุณหญิงขอมาเลี้ยงเป็นบุตรีบุญธรรมอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ในขณะที่เษกสมรสกับเจ้าศรีพรหมา หม่อมเจ้าสิทธิพรกำลังเจริญก้าวหน้าในราชการอย่างมาก ทั้งเจ้าศรีพรหมาเองก็ทรงเป็นหญิงสาวชาววังผู้มีชาติตระกูล เคยใช้ชีวิตในต่างประเทศ เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติและรูปสมบัติ ทรงมีบุตรกับหม่อมศรีพรหมาเป็นชาย 1 คน หญิง 1 คน ได้แก่ หม่อมราชวงศ์อนุพร กฤดากร และ หม่อมราชวงศ์เพ็ญศรี กฤดากร
จุดหักเหในชีวิตของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เอง
เดือนมีนาคม 2464 หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ เสด็จจากกรุงเทพฯ พร้อมครอบครัวอันประกอบด้วยชายา บุตรชายอายุ 3 ขวบครึ่ง บุตรหญิงอายุ 9 เดือน คนรับใช้ 2 คน ไปตั้งรกรากที่บ้านบางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในอำเภอบางสะพานในขณะนั้น
การเปลี่ยนวิถีชีวิตครั้งใหญ่นี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่ชอบทำงานประจำประเภท นั่งโต๊ะ ไม่มีสิ่งท้าทายให้ขบคิดแก้ปัญหา แต่ส่วนสำคัญสืบเนื่องมาจากทัศนะของหม่อมเจ้าสิทธิพรเกี่ยวกับอนาคตของคนรุ่นหลังที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับทัศนะของคนร่วมสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในชนชั้นเดียวกับพระองค์ กล่าวคือทรงเห็นการณ์ไกลว่าราชการไม่อาจขยายตำแหน่งได้เพียงพอที่จะรองรับคนรุ่นใหม่ได้ พ่อแม่จึงจำเป็นต้องหาอาชีพอื่นเตรียมไว้ให้บุตรของตน ในบรรดาอาชีพทั้งหลายทรงเลือกอาชีพกสิกรรมด้วยทรงเห็นว่าเป็นอาชีพที่มีโอกาสเหลือเฟือ ไม่ต้องแข่งขันกับใครนอกจากตัวของตัวเอง
การตัดสินใจสำคัญถึงเช่นนี้ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นโดยกะทันหันอย่างแน่นอน
หม่อมศรีพรหมาเล่าไว้เมื่อให้สัมภาษณ์คณะผู้จัดพิมพ์หนังสือ อัตชีวประวัติของหม่อมศรีพรหมา กฤดากร ว่า หม่อมเจ้าสิทธิพรทรงสนพระทัยเรื่องเกษตรกรรมมาตั้งแต่ทรงมีโอกาสอ่านรายงานเกี่ยวกับการเกษตรของประเทศสหรัฐอเมริกาสมัยที่ทรงงานที่กระทรวงการต่างประเทศแล้ว ประกอบกับโปรดการเลี้ยงไก่ เมื่อมีผู้นำไก่พันธุ์เล็กฮอร์นจากออสเตรเลียมาถวาย จึงทรงขวนขวายหาตำรับตำราฝรั่งมาอ่านเพิ่มเติม ยิ่งศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับการเกษตรมากขึ้นก็ยิ่งทรงปรารถนาที่จะสร้างแบบอย่างของ กสิกรชั้นกลาง ที่ทรงเชื่อมั่นว่าจะเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่สังคมไทยมากขึ้น
ความหมายของ กสิกรชั้นกลาง ก็คือ ผู้ประกอบอาชีพการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์โดยอาศัยวิชาความรู้อย่างมีหลักการ
ที่บางเบิด หม่อมเจ้าสิทธิพรและหม่อมศรีพรหมาได้สร้างสถานที่ที่เป็น ทั้งบ้านและไร่นา คือเป็นทั้งที่อยู่อาศัยชนิดพึ่งพาตนเองได้และเป็นที่หาเลี้ยงชีพขึ้นเพื่อให้เป็นตัวอย่าง ทรงทดลองนำพืชและสัตว์พันธุ์ใหม่ๆ จากต่างประเทศมาปลูกและเลี้ยง ทรงทดลองนำเครื่องจักรกลมาใช้ทุ่นแรง ใช้ปุ๋ย ใช้ยาฆ่าแมลง ทั้งชนิดวิทยาศาสตร์และชีวภาพโดยมีการวิเคราะห์เปรียบเทียบผลดีผลเสียตลอดเวลา ทรงนำระบบบริหารไร่แบบใหม่มาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก มีการเก็บสถิติและทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อให้รู้ต้นทุนอย่างแท้จริง ฟาร์มบางเบิดนอกจากจะเป็นต้นกำเนิดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่สามารถปลูกและเลี้ยงได้ผลดีในประเทศไทยในเวลาต่อมา เช่น ข้าวโพด แตงโม ยาสูบ ไก่ หมู แล้วยังกลายเป็นสถานีฝึกงานและศึกษางานของนักเกษตรรุ่นใหม่ของไทยไปโดยความตั้งใจและเต็มใจของท่านเจ้าของอีกด้วย พระปรีชาสามารถในเชิงเกษตรของพระองค์ซึ่งใครๆ ก็กล่าวว่า ไม่ใช่นักเกษตรโดยตรง เป็นที่ยกย่องของนักเกษตรที่ต่อมาเป็นนักเกษตรชั้นครูทั้งหลายเป็นอันมาก ดังปรากฏในข้อเขียนแสดงความระลึกถึงหม่อมเจ้าสิทธิพรในหนังสือ บทความของและเกี่ยวกับ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ที่สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2514
ความคิดว่าวิชาความรู้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังสั่งสอนกันทำให้หม่อมเจ้าสิทธิพรทรงรับเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ กสิกร ใน พ.ศ. 2470 และได้ร่วมทำงานเผยแพร่ความรู้ร่วมกับหนุ่มนักเรียนนอกที่เป็นครูโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมที่บางสะพาน และเป็นข้าราชการกรมกสิกรรม ได้แก่ พระช่วงเกษตรศิลปการซึ่งเป็นผู้คิดริเริ่ม หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ หลวงอิงคศรีกสิการ และ ขุนศรีสุพรรณราช เป็นต้น ท่านเหล่านี้ผลัดเปลี่ยนกันเขียนบทความลงเผยแพร่โดยหม่อมเจ้าสิทธิพรและหม่อมศรีพรหมาเป็นผู้เขียนคอลัมน์ประจำนำเสนอผลจากการลงมือปฏิบัติจริงที่ฟาร์มบางเบิดสู่ประชาชนติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี
เมื่อ พ.ศ. 2474 ข้าวราคาตกเนื่องจากเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร กลับเข้ารับราชการเป็นอธิบดีกรมตรวจกสิกรรมเพื่อนำแนวคิดเรื่องการปลูกพืชที่ดอนมาแก้ปัญหาผลผลิตเกษตร หม่อมเจ้าสิทธิพรทรงให้เริ่มตั้งสถานีทดลองพืชดอนขึ้น 3 แห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ คือที่แม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ที่โนนสูง อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และที่คอหงษ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผู้ที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่หัวหน้าสถานีทดลอง ในสังกัดกระทรวงเกษตราธิการ ไปพร้อมกับเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนประถมกสิกรรม ในสังกัดกระทรวงธรรมการ ก็คือพระช่วงเกษตรศิลปการ หลวงอิงคศรีกสิการ และหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ นั่นเอง นี่คือต้นเค้าที่ สามเสือแห่งเกษตร บูรพาจารย์ทั้งสามท่านของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เริ่มเข้ามาสู่วงราชการกระทรวงเกษตราธิการพร้อมกับการจัดการศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์ถูกชักนำกลับสู่กระทรวงเกษตราธิการหลังจากที่ถูกแยกไปไว้กับกระทรวงธรรมการเมื่อ พ.ศ. 2456
ระหว่าง พ.ศ. 2476-2487 หม่อมเจ้าสิทธิพร ทรงต้องโทษจำขังที่บางขวาง เกาะเต่า และเกาะตะรุเตา เนื่องด้วยคดีกบฏบวรเดช แม้กระนั้นงานค้นคว้าทดลองการเกษตรที่ฟาร์มบางเบิดก็คงยังดำเนินต่อไปโดยทรงให้คำแนะนำปรึกษาในการทำงานทางจดหมายแก่หม่อมศรีพรหมาอย่างสม่ำเสมอ ทรงขอให้ชายาคู่ชีวิต Keep the farm going ที่บางขวางทรงใช้เวลาว่างในที่คุมขังให้เป็นประโยชน์ด้วยการสอนการเพาะปลูกให้นักโทษและนิพนธ์ตำราสมัยใหม่ทางการเกษตรเล่มแรกของประเทศไทยขึ้นชื่อว่า กสิกรรมบนดอน โดยทรงขยายความท้ายชื่อหนังสือว่า หลักวิทยาศาสตร์และคำแนะนำสำหรับทำจริง ประกอบด้วยความรู้ที่จำเป็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำ ไร่นาผสม ที่ทรงค้นคว้าจากตำราและทดลองแล้วที่ฟาร์มบางเบิด หนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2479 และสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์นำมาพิมพ์อีกครั้งหนึ่งเพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้มาร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพท่านผู้นิพนธ์ใน พ.ศ. 2514
สถาบันการศึกษาวิชาเกษตรระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยก่อเกิดขึ้นในระหว่างนั้น เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2486 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมหนึ่งในสังกัดกระทรวงเกษตราธิการ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี ต่อมาจึงเปลี่ยนให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเพียงตำแหน่งเดียว
หนึ่งปีหลังการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หม่อมเจ้าสิทธิพรได้รับพระราชทานอภัยโทษใน พ.ศ. 2487 ทรงมีพระชันษา 61 ปีแล้ว แต่ก็เสด็จกลับไปทดลองการเกษตรที่บางเบิดต่อ ในช่วงหลังความสนพระทัยขยายขอบเขตไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรสามัญด้วย ทรงแสดงความคิดเห็นโต้แย้งรัฐบาลเกี่ยวกับผลผลิตข้าวลงในหนังสือพิมพ์ ทำให้รัฐบาลระลึกขึ้นได้ถึงเจ้าชายนักเกษตรผู้นี้ ใน พ.ศ. 2491 รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ทูลขอให้ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ทรงตอบรับในขณะเดียวกันก็ทรงประสงค์ที่จะพิสูจน์ตนเองจึงทรงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย ทรงได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงอันท่วมท้น ในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2490-2491 ที่ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการก็ทรงดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตามเงื่อนไขของรัฐบาลยุคนั้นด้วย
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้จัดตั้งคณะกรรมการข้าวนานาชาติ (International Rice Commission - IRC) ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนข้าว หม่อมเจ้าสิทธิพรได้ทรงรับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของประเทศไทยและได้ทรงรับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการระหว่าง พ.ศ. 2492-2495
เมื่อ พ.ศ. 2492 หม่อมเจ้าสิทธิพร ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าอันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันแสดงยศเสมอด้วยเจ้านายชั้นพระองค์เจ้า
ใน พ.ศ. 2503 ทรงขายฟาร์มบางเบิดให้แก่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากที่กระทรวงเกษตรตอบปฏิเสธไม่รับซื้อไว้เป็นสถานีทดลองเพราะไม่มีงบประมาณ ทรงนำเงินมาซื้อที่ดินขนาดย่อมลงเหมาะแก่กำลังที่หัวหินแล้วดำเนินการทดลองการเกษตรต่อ ศาสตราจารย์ปวิณ ปุณศรี ผู้ได้ศึกษาวิจัยทำให้ประเทศไทยสามารถปลูกองุ่นได้สำเร็จได้เริ่มเข้าร่วมการทดลองนำองุ่นมาปลูกเป็นครั้งแรกๆ ณ ไร่ บ้านเขาน้อย ของหม่อมเจ้าสิทธิพรและชายาที่หัวหินนี้เอง
พ.ศ. 2510 ดูเหมือนจะเป็นปีหนึ่งที่มีความสำคัญในประวัติของหม่อมเจ้าสิทธิพร ด้วยสถาบันถึง 2 สถาบันพร้อมใจกันยกย่องท่านให้เป็นที่ประจักษ์ นั่นคือ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขากสิกรรมและสัตวบาลแก่ท่านในเดือนกรกฎาคม และมูลนิธิรามอน แมกไซไซ ถวายรางวัลด้านบริการสาธารณะ สาขาพัฒนาการเกษตรแผนใหม่แก่ท่านเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2510
แม้ความผันผวนทางการเมืองจะทำให้หม่อมเจ้าสิทธิพรไม่อาจทรงงานตามอุดมการณ์ในตำแหน่งราชการได้นาน แต่บทบาทของท่านในการพัฒนาเกษตรกรรมและเกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนากลับดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ใน พ.ศ. 2512 ทรงริเริ่มก่อตั้งพรรคการเมือง ชื่อ พรรคสัมมาชีพ-ช่วยชาวนา เพื่อรวบรวมนักวิชาการที่มีอุดมการณ์เข้าด้วยกัน ทรงนิพนธ์บทความโต้แย้งการเก็บค่าพรีเมียมข้าวของรัฐบาล และตอกย้ำความสำคัญเรื่องการศึกษาของชาวนา เงิน 1 แสนบาทอันเป็นส่วนหนึ่งของรางวัลแมกไซไซก็หมดไปกับโครงการอบรมลูกหลานชาวนา และ โครงการนาสาธิต ที่ท่านทรงลงมือทำด้วยตนเองต่อมาโดยตลอด ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สนับสนุน โครงการ อบรมลูกหลานชาวนารุ่นแรกซึ่งจัดขึ้น ในเดือนพฤษภาคม 2513 สำเร็จลงด้วยดีโดยอธิการบดีในขณะนั้นคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงอำนวยความสะดวกให้ใช้หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นสถานที่อบรมและทรงจัดนิสิตให้เป็นพี่เลี้ยงดูแลผู้มารับการอบรมอย่างดีเป็นที่ประทับใจแก่ผู้มีส่วนร่วมโครงการทุกคน
หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงถึงชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2514 สิริชันษา 88 ปี
เพื่อสืบทอดมรดกอุดมการณ์ของหม่อมเจ้าสิทธิพร และเพื่อให้มีสิ่งน้อมใจอนุชนให้รำลึกถึงเจ้าชายนักเกษตรผู้อุทิศตนเพื่อพัฒนาการเกษตรและเกษตรกรผู้นี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้ดำเนินการจัดสร้างสถานีวิจัยและอนุสรณ์สถานขึ้นบนพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นฟาร์มบางเบิด โดยได้รับอนุมัติจากกรมธนารักษ์และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และตั้งชื่อสถานีวิจัยแห่งนี้ตามพระนามของท่านว่า สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร
แหล่งข้อมูล
กสิกร 1 (เมษายน 2470).
อนุสรณ์ ม.จ. สิทธิพร กฤดากร. พระนคร : สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2514.
ศรีพรหมา กฤดากร. อัตชีวประวัติของหม่อมศรีพรหมา กฤดากร. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิจิศทอมป์สัน, 2522.
100 ปี หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร. กรุงเทพมหานคร : กรุงเทพมหานคร : โครงการรัตนโกสินทร์ศตวรรษที่ 3, 2526.