นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์




นายกสภามหาวิทยาลัย

ครั้งที่ 1 30 ส.ค. 2531 – 29 ส.ค. 2533

ครั้งที่ 2 30 ส.ค. 2533 – 29 ส.ค. 2535



ศาสตราจารย์พิเศษ ประยูร จินดาประดิษฐ์ เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2471 ที่จังหวัดสมุทรปราการ เป็นบุตรของนายใช้ และนางน้อม จินดาประดิษฐ์

ศาสตราจารย์พิเศษ ประยูร จินดาประดิษฐ์ ได้รับการศึกษาในระดับประถมที่โรงเรียนประชาบาลวัดแหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนขัตติยะ จนจบชั้นมัธยมศึกษา หลังจากนั้นได้เข้าเรียนที่โรงเรียนพาณิชยการพระนคร และเรียนจบใน พ.ศ. 2488 ใน พ.ศ. 2489 เข้าทำงานที่กรมรถไฟ และเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปด้วย (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเปิด) แต่ก็สามารถจบประกาศนียบัตรการบัญชีได้ภายใน 3 ปี แล้วเรียนต่ออีก 2 ปี ได้ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางบัญชี (เทียบเท่าปริญญาโท) ใน พ.ศ. 2494 หลังจากนั้นสอบคัดเลือกเข้าทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ ในระหว่างทำงานก็ยังเรียนนิติศาสตร์ไปด้วย ได้ปริญญานิติศาสตร์บัณฑิตเมื่อ พ.ศ. 2508 ก่อนหน้านี้คือ ใน พ.ศ. 2506 ได้รับทุนจากธนาคารแห่งประเทศไทยไปเรียนที่ School for Bank Examiners สหรัฐอเมริกา ทำให้ได้รับความรู้เรื่องการบัญชีและการตรวจบัญชี ตลอดจนการธนาคารเป็นอย่างดียิ่ง

ศาสตราจารย์พิเศษ ประยูร จินดาประดิษฐ์ ทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนานถึง 17 ปี จนกระทั่งเป็นหัวหน้าส่วน (ผู้สอบบัญชีเอก) จึงลาออกจากธนาคารแห่งประเทศไทยมาเป็นรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทยอยู่ 3 ปี แล้วย้ายไปเป็นรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ประมาณ 6 ปี จึงกลับมาดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารทหารไทยประมาณ 6 ปี

ตลอดเวลาที่ทำงานในที่ต่างๆ ศาสตราจารย์พิเศษ ประยูร จินดาประดิษฐ์ จะรับสอนวิชาการธนาคารในฐานะอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งๆ ที่หาเวลาว่างได้ยาก มหาวิทยาลัยที่ได้เชิญไปสอนได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2526 ได้รับเชิญมาสอนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย และสอนต่อเนื่องอยู่ถึง 5 ปี

เนื่องจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความเห็นว่า ศาสตราจารย์พิเศษ ประยูร จินดาประดิษฐ์ เป็นผู้ที่มีความสามารถเป็นอย่างสูง และมีความรู้กว้างขวาง อยู่ในวงการธุรกิจและการธนาคาร ตลอดจนมีความรักการศึกษาอย่างจริงใจ ใน พ.ศ. 2531 จึงได้เชิญศาสตราจารย์พิเศษ ประยูร จินดาประดิษฐ์ มาดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารสูงสุด ศาสตราจารย์พิเศษ ประยูร จินดาประดิษฐ์ อยู่ในตำแหน่งนี้จนถึง พ.ศ. 2535 ศาสตราจารย์พิเศษ ประยูร จินดาประดิษฐ์ ได้กล่าวว่า …การที่ได้รับเชิญให้มาเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นั้น… ผมถือว่าเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตของผม เพราะผมจบจากธรรมศาสตร์ที่เกษตรศาสตร์ผมเป็นคนนอกคนเดียวที่ไม่ได้มีส่วนก่อตั้งมหาวิทยาลัยหรือเป็นนิสิตเก่า เพราะฉะนั้น ชีวิตผมส่วนใหญ่จึงต้องทุ่มให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์…


ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาสตราจารย์พิเศษ ประยูร จินดาประดิษฐ์ ได้ริเริ่มงานที่สำคัญไว้หลายเรื่อง เรื่องที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นการเปิดสอนปริญญาโททางบริหารธุรกิจ (Executive MBA) ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่เน้นให้เป็นหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูง ซึ่งมีประสบการณ์มามากแล้ว เมื่อได้มาเรียนเพิ่มเติมในหลักสูตรดังกล่าวนี้ ก็จะทำให้ได้รับความรู้ที่น่าจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงงานที่ทำอยู่ให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน และมีบางวิชาที่มหาวิทยาลัยอื่นไม่มี เช่น วิชาเกษตรอุตสาหกรรม เป็นต้น

อีกเรื่องหนึ่งที่ศาสตราจารย์พิเศษ ประยูร จินดาประดิษฐ์ ได้ริเริ่มขึ้นก็คือ การตั้งหลักสูตรนานาชาติขึ้นในโรงเรียนสาธิตเกษตร สอนเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้ปกครองที่สามารถรับภาระในทางการเงินได้ มีโอกาสที่จะเลือกให้ลูกหลานเข้าเรียน เป็นการปูพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษให้แก่เด็กนักเรียนอย่างเข้มข้นตั้งแต่เยาว์วัย โครงการนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ผลงานที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของศาสตราจารย์พิเศษ ประยูร จินดาประดิษฐ์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็คือ การตั้งกองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของมหาวิทยาลัยในอนาคตซึ่งจะต้องพึ่งตัวเองมากขึ้น ศาสตราจารย์พิเศษ ประยูร จินดาประดิษฐ์ มีความเห็นว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความจำเป็นจะต้องสร้างอาจารย์ที่มีคุณภาพให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อคงความเป็นเลิศทางวิชาการและทำนุบำรุงชื่อเสียงเกียรติคุณของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ดียิ่งขึ้นตลอดไป กองทุนฯ นี้จะใช้เพื่อพัฒนาบุคลากรคือ คณาจารย์ ข้าราชการ นิสิต รวมทั้งการพัฒนามหาวิทยาลัยในทุกๆ ด้าน

ด้วยความสามารถและผลงานอันมากมายของศาสตราจารย์พิเศษ ประยูร จินดาประดิษฐ์ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทำให้ท่านได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นอย่างมาก ดังจะขอยกตัวอย่างเกียรติยศที่สำคัญมาให้ทราบ ดังนี้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (พ.ศ. 2525)

ตำแหน่งทางวิชาการ ศาสตราจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2521) และศาสตราจารย์พิเศษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2533)

ปริญญากิตติมศักดิ์ พาณิชยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2526) เศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. 2529) วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (บริหารธุรกิจ) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. 2530) ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (บริหารธุรกิจ) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (พ.ศ. 2531) บัญชีดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม (พ.ศ. 2537)


โล่เกียรติยศและอื่นๆ โล่เกียรติยศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2522) โล่ประกาศเกียรติคุณศิษย์เก่าดีเด่น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพาณิชยการพระนคร (พ.ศ. 2527) นักการธนาคารแห่งปี 2528 นิตยสารดอกเบี้ย นักการธนาคารแห่งปี 2529 วารสารการเงินการธนาคาร รางวัลในการแต่งตำรา การธนาคารพาณิชย์ การดำเนินงานและการบัญชี สมาคมธนาคารไทย

ทางด้านครอบครัวนั้น ศาสตราจารย์พิเศษ ประยูร จินดาประดิษฐ์ สมรสกับคุณยุพา (นามสกุลเดิม ลิ่มวงศ์) มีบุตรชาย 2 คน และบุตรสาว 1 คน บุตรทั้ง 3 คน ได้รับการศึกษาที่ดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเจริญรอยตามบิดาโดยเลือกเรียนทางเศรษฐศาสตร์และการจัดการ ซึ่งคงจะทำให้มีครอบครัวที่มั่นคงสืบต่อไป

ศาสตราจารย์พิเศษ ประยูร จินดาประดิษฐ์ ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า หลักในการดำเนินชีวิตนั้น มนุษย์ทุกคนควรรู้จักสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ เมื่อยึดถือเช่นนี้แล้ว ก็จะทำงานอย่างมีความสุข และสร้างความเจริญให้แก่ตัวเองและองค์กร นับได้ว่าเป็นคนที่มีจริยธรรม และคุณธรรมที่สมบูรณ์ และสำหรับนิสิตนั้น ก็ควรตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด เพื่อจะได้จบออกไปอย่างมีศักดิ์ศรี และดำรงชีวิตให้เป็นคนดีเป็นศรีแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตลอดไป

ศาสตราจารย์พิเศษ ประยูร จินดาประดิษฐ์ ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 สิริอายุได้ 93 ปี


แหล่งข้อมูล

ประยูร จินดาประดิษฐ์. สัมภาษณ์, 15 มกราคม 2544.



Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University