นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์




นายกสภามหาวิทยาลัย

30 ส.ค. 2529 – 29 ส.ค. 2531



ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2461 ที่จังหวัดแพร่ เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 8 คนของนายบุญเรืองกับนางกิมไล้ ณ นคร สมรสกับนางสาวเยาวลักษณ์ ลีละชาต มีบุตรชื่อนายปิยพร ณ นคร และสมรสกับนางสาวสมทรง โหตระกิตย์ มีธิดาชื่อนางเสมอใจ บุญวิวัฒน์ (ณ นคร)

การศึกษา ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนนารีรัตน์แพร่ สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนพิริยาลัย จังหวัดแพร่ สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7-8 จากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ เรียนซ้ำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพื่อให้มีสิทธิ์สอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง สำเร็จปริญญาตรี (สาขาเกษตรวิศวกรรม) จาก University of the Philippines at Los Banos ด้วยทุน ก.พ. ปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทและเอกทางสถิติจาก Cornell University สหรัฐอเมริกา ประกาศนียบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 11

เริ่มเข้ารับราชการเป็นนักเกษตรผู้ช่วยโท แผนกปฐพีวิทยาและอาจารย์วิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน กรมเกษตรและการประมง กระทรวงเกษตราธิการ (9 พฤษภาคม 2482) ต่อมาย้ายไปที่สถานีทดลองเกษตรกรรมแม่โจ้และเป็นอาจารย์ (1 ตุลาคม 2482) และกลับมาเป็นอาจารย์โทแผนกวิศวกรรม สำนักงานคณะเกษตรศาสตร์ (1 มกราคม 2487) เลขานุการคณะเกษตรศาสตร์ (12 ธันวาคม 2489) เลขาธิการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (15 กุมภาพันธ์ 2490) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย (30 พฤษภาคม 2503) รองอธิการบดี (9 มกราคม 2507 - 28 กันยายน 2515) รักษาการในตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย (29 กันยายน 2509) รักษาการเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติและรองเลขาธิการฝ่ายสังคมศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย (29 กันยายน 2515 - 30 กันยายน 2522)

คนจบเมืองนอกต้องไปอยู่บ้านนอก

ใน พ.ศ. 2482 เมื่อตั้งวิทยาลัยเกษตรในเกษตรกลางบางเขนแล้ว ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้ย้ายมาอยู่ในบางเขน ขณะนั้นมีคณะเกษตร คณะประมง คณะวนศาสตร์ และคณะสหกรณ์ โดยมีศาสตราจารย์หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัย และศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ


ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เล่าว่า

…พอถึงกลางปี 2482 นั้น ผมถูกสั่งย้ายไปอยู่ที่แม่โจ้ เนื่องจากนโยบายของกรมเกษตรที่อยากจะให้คนจบจากเมืองนอกต้องไปอยู่บ้านนอกเพื่อจะได้รู้ว่า เมืองไทยส่วนใหญ่เป็นบ้านนอก เดี๋ยวจะเข้าใจผิดว่ากรุงเทพฯ เป็นตัวแทนของเมืองไทย...ผมอยู่ที่สถานีทดลองการเกษตรแม่โจ้ตั้งแต่ พ.ศ. 2482 ถึง พ.ศ. 2486 และได้ช่วยสอนในโรงเรียนมัธยมเกษตรด้วย

ไม่ชอบเรื่องการบริหาร แต่ต้องทำหน้าที่บริหาร

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่บางเขนเมื่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น คุณพระช่วงเกษตรศิลปการ เป็นคณบดีคณะเกษตรได้แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ให้เป็นเลขานุการคณะเกษตร ซึ่งท่านไม่ชอบการบริหารเลย แต่ต่อมาโชคชะตาบันดาลให้ต้องทำหน้าที่บริหารมาโดยลำดับ นับตั้งแต่เป็นเลขาธิการมหาวิทยาลัย รองอธิการบดี รักษาการคณบดีคณะที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และดำรงตำแหน่งปลัดทบวงมหาวิทยาลัย จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ท่านเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า

…ผมเองอยากจะเป็นอาจารย์สอนหนังสือมากกว่า แต่มาทำงานในฝ่ายบริหารนี่ เมื่อมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว เขาเริ่มคิดให้มีข้าราชการประจำเป็นอธิการบดี โดยแต่เดิมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเป็นอธิการบดี และปลัดกระทรวงเกษตรเป็นรองอธิการบดี คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจนั้นเป็นเลขาธิการ คุณทวี บุณยเกตุ มาเจรจาขอให้คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจช่วยเป็นอธิการบดีคนแรกท่านก็ขอร้องไป 3 ข้อ มีเงื่อนไขว่า ถ้าจะให้เป็นอธิการบดีนั้น ประการที่ 1. จะต้องหาเงินพิเศษมาให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 400,000 บาท สี่แสนในตอนนั้นถ้าจะพูดเดี๋ยวนี้ก็คือ 40 ล้าน ท่านบอกว่ามหาวิทยาลัยนี้มีงบประมาณน้อยเกินไป ไม่สามารถจะปรับปรุงให้ดีได้อย่างใจ ต้องของบประมาณเพิ่มพิเศษ ประการที่ 2. ให้ผมมาเป็นเลขาธิการมหาวิทยาลัย ประการที่ 3. ต้องหาเงินมาเพิ่มให้มหาวิทยาลัยอีก นอกจากงบประมาณธรรมดา เพราะงบประมาณที่ได้น้อยเกินไป ถ้าเกิดท่านมาถามผมก่อน ผมก็จะบอกว่าไม่อยากเป็นเลขาธิการ แต่ท่านว่าท่านไปตกลงกับผู้ใหญ่เรียบร้อยแล้ว ผมก็ไม่รู้จะหลีกเลี่ยงอย่างไรก็ได้ทำหน้าที่ช่วยท่านเรื่อยมา

ปริญญาเอกทางสถิติคนแรกของไทย และผู้ริเริ่มหลักสูตรสถิติในมหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร สอบได้ทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อและสำเร็จปริญญาโทและเอกทางสถิติ จาก Cornell University สหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. 2500 นับเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาทางสถิติ สอนวิชาสถิติแก่นิสิตทุกคณะในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องจากหลักสูตรปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยต้องศึกษา 5 ปี และทำวิทยานิพนธ์ด้วย วิชาสถิติจึงเป็นวิชาพื้นฐานทั่วไปของปริญญาตรี และสอนวิชาสถิติที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ยังเป็นผู้ริเริ่มหลักสูตรสถิติขึ้น ตั้งแต่หลักสูตรคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาเริ่มสอนในปีที่ 4 เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับทำวิทยานิพนธ์ ส่วนคณะสหกรณ์เรียนวิชาสถิติทั่วไปในปีที่ 1 และเมื่อเป็นผู้บริหารแล้วก็ยังสอนวิชาสถิติอยู่

การวางรากฐานองค์การนิสิต

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้ร่างระเบียบว่าด้วยองค์การนิสิตของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ โดยพยายามให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การนิสิตและให้แถลงนโยบายให้องค์การนิสิตรับรองทั้งนี้เพื่อให้รองรับในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยให้นิสิตปกครองด้วยความรักใคร่เป็นพี่น้อง เอาแบบอย่างมาจากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ท่านเล่าว่า

น่าเสียดายที่ผมต้องไปอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2494 กลับมา พ.ศ. 2500 ปรากฏว่าระบบองค์การนิสิตมีแต่พระคุณ พระเดช ไปอยู่กับสภา senior ซึ่งผมเสียใจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างที่ผมตั้งใจวางแบบให้ แต่กลับไปใช้ระบบสภาซีเนียร์ ซึ่งผลดีก็มีอยู่บ้าง แต่ไม่เป็นประชาธิปไตย

เริ่มนำระบบหน่วยกิต และการโอนหน่วยกิตมาใช้ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร กล่าวว่าศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางกฎระเบียบทั้งหลายและวางหลักสูตรอยู่ก่อน และศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ได้มาช่วยสานงานนี้ต่อ เรื่องการนำระบบหน่วยกิตมาใช้ในมหาวิทยาลัยนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ริเริ่มขึ้น โดยใช้ระบบหน่วยกิตที่ว่าตกวิชาไหน ก็เรียนซ้ำในวิชานั้น เป็นการนำเอาระบบของอเมริกามาใช้ ซึ่งแต่เดิมมาเมืองไทยใช้ระบบอังกฤษ ถ้าตกวิชาไหน ก็ต้องเรียนซ้ำชั้นเลย

นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มให้มีการโอนหน่วยกิตข้ามคณะ และข้ามมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยอื่นไม่มีในสมัยนั้น

ริเริ่มการสอบเข้ามหาวิทยาลัยระบบรวม

ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยใช้วิธีสอบรวมพร้อมกัน เพื่อเป็นการลดปัญหาการรับนิสิตไม่ครบเมื่อเปิดภาคเรียน ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ลดค่าใช้จ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศที่จะต้องมาใช้เป็นค่ากระดาษสอบตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ลดความเครียดที่เด็กจะต้องวิ่งสอบไปทุก ๆ มหาวิทยาลัยที่อยากเข้าเป็นเวลาทั้งเดือน และเพื่อความเที่ยงธรรม ป้องกันระบบอุปถัมภ์ในการฝากเด็กเข้าเรียน ซึ่งต่อมามหาวิทยาลัยอื่น ๆ ก็มาร่วมมือกันเป็นระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยรวมเป็นการประหยัดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การแก้ระบบ เกาหลัง

ดร. กำแหง พลางกูร เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติในขณะนั้น ได้ร่วมกับศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร กับอีกหลายท่านช่วยกันแก้ปัญหาการบริหารในมหาวิทยาลัย โดยพยายามให้ผู้บริหารตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี หัวหน้าภาควิชา เป็นตำแหน่งประจำซึ่งจะต้องทำงานเต็มเวลา และให้รักษาการได้อีกไม่เกิน 1 ตำแหน่ง สืบเนื่องจากผู้บริหารในมหาวิทยาลัยดำรงตำแหน่งและรักษาการหลายตำแหน่ง เป็นการกีดกันผู้อื่น และทำให้งานขาดประสิทธิภาพ พอนาย ก. หมดวาระเป็นคณบดี นาย ข.จะเสนอนาย ก. พอนาย ข. หมดวาระ นาย ก. ก็จะเสนอนาย ข. บ้าง คนกลุ่มเดียวจะผลัดกันเสนอคนในกลุ่มนั้นเองเป็นการช่วยเกาหลังกันเองเป็นวงกลม ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยใช้เวลา 3 ปี ในการวางระเบียบใหม่ แต่มีมหาวิทยาลัยเดียวที่ไม่ตอบรับรองให้ใช้ระบบใหม่นี้ การแก้ไขจึงไม่บรรลุผลสำเร็จทันที ต้องรอมาอีกหลายปี จึงแก้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยตามระบบใหม่นี้ได้

ระบบสรรหาผู้บริหารในมหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เล่าว่า

…ระบบการสรรหาเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก่อนที่อื่น ตอนนั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงเป็นอธิการบดี ทางคณะประมงมีคณบดีที่เป็นอาจารย์อาวุโสมาก ทั้งคณะมีอาจารย์อยู่ 26 คน เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์คนนี้หมดเลย อาจารย์ในคณะต้องการเปลี่ยนคณบดี อธิการบดีจึงให้ผมหยั่งเสียงว่าจะเอาอย่างไร ความจริงในสมัยนั้นอธิการบดีเสนอผู้ใดขึ้นไป สภามหาวิทยาลัยจะรับคนนั้น ไม่มีปัญหาเลย เพราะการตั้งคณบดี หัวหน้าภาควิชา อธิการบดี ใช้วิธีแต่งตั้ง ไม่ใช่เลือกตั้ง มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เลือกตั้งผู้มีความสามารถมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารได้โดยไม่จำเป็นต้องมีอาวุโสสูงสุด มหาวิทยาลัยอื่นก็พลอยเห็นดี เลยนำไปปฏิบัติบ้าง ต่อมาจึงเห็นว่าระบบแบบนี้มีข้อเสียหายมาก ที่ประชุมอธิการบดีจึงอยากจะเลิกใช้วิธีเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้เป็นเวลายี่สิบสามปีมาแล้ว

การวางผังแม่บทเพื่อเป็นฐานรากในการบริหาร

ในการขยายวิทยาเขตบางเขน เพื่อรองรับจำนวนนิสิตที่เพิ่มขึ้น ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เล่าว่า

…ผมไปขอ President Jensen ซึ่งเป็นอธิการบดีเกษตรของมหาวิทยาลัย Oregon ให้มาช่วยวางรากฐานการบริหาร ผมเห็นว่าเมืองไทยเรานี้ให้นักวิชาการมาบริหารงานซึ่งถ้ามีนิสิต 5-6 พันคน ก็ไม่เป็นไรหรอก และถ้ามีนิสิต 2 หมื่นคนอย่างนี้ งานบางอย่างผมว่าใช้นักวิชาการธรรมดาไม่ได้ ต้องใช้มืออาชีพมาถึงจะได้ แต่แรกก็มีวิธีเรียนลัดโดยไปขอศาสตราจารย์เจนเซ่นให้มาวางรากฐานว่าควรจะทำอย่างไรที่จะเตรียมสำหรับขยายเพื่อนิสิตเป็น 10,000 - 20,000 คน ศาสตราจารย์เจนเซ่นเดินทางมา แต่พอดีผมต้องไปรักษาการที่สภาการศึกษาแห่งชาติเป็นเลขาธิการอยู่ 1 ปี ก็เลยให้ ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี เป็นคนช่วยทำให้ โดยมาเริ่มศึกษากับศาสตราจารย์เจนเซ่น และช่วยกันวางผังแม่บทมหาวิทยาลัยเป็นแห่งแรกของเมืองไทย

สำหรับการมีส่วนร่วมตั้งวิทยาเขตกำแพงแสนนั้น ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เล่าว่า

…ทางผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเขาเรียกผมไปเรื่องการซื้อที่ 8,000 ไร่ ที่กำแพงแสน โดยปรารภว่าเนื้อที่มากเกินไป ขอลดลงไปเท่าที่จำเป็นจริง ๆ ผมอธิบายว่ามหาวิทยาลัยเกษตรทั่วโลก ต้องใช้พื้นที่มาก รัฐบาลไม่เคยเตรียมสถานที่ไว้รองรับความต้องการของหน่วยราชการเลย ผมสัญญาว่า 8,000 ไร่นี้ ถ้า ม.ก.ใช้ไม่หมด กระทรวง ทบวง กรมไหน จะย้ายไปผมยินดีให้ย้ายเลย แต่รับรองว่าใช้หมด ที่การเกษตรแค่นี้ไม่พอหรอก ทางผู้อำนวยการสำนักงบประมาณก็เป็นนักเรียนเก่าสวนกุหลาบเหมือนกับผม แต่เป็นรุ่นเดียวกับน้องชายผม เค้าก็เกรงใจผมในฐานะเป็นรุ่นพี่ จึงจัดสรรเงินไปซื้อที่ 8,000 ไร่ เป็นเงิน 16 ล้านบาท และก็ได้มาอย่างที่เราต้องการ ผมก็มีส่วนช่วยเท่านี้แหละ

การจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ และโรงเรียนสาธิต

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้วางรากฐานสำคัญในการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษาสาขาทางสังคมศาสตร์ ได้แก่ คณะศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เป็นต้น ท่านได้ริเริ่มจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ขึ้นโดยทาบทามขอศาสตราจารย์ ดร.อุบล เรียงสุวรรณ มาช่วยวางรากฐานคณะ และเปิดโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ฝึกสอน พร้อมทั้งเป็นการบริการอาจารย์ ข้าราชการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในเรื่องที่เรียนของเด็ก เพื่อตอบแทนที่ต้องเสียสละมาสอนที่บางเขน ซึ่งในสมัยนั้นเป็นอำเภอชั้นนอกไม่มีใครยอมมารับราชการ

คีตกวี

นอกจากผลงานดีเด่นด้านการศึกษาแล้ว ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ทรงคุณวุฒิผู้มีคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อวงการดนตรีไทยและสากล ช่วยพัฒนางานดนตรีของชาติให้รุ่งเรืองก้าวไกลด้วยการอุทิศตนทุ่มเทความรู้ความสามารถตลอดจนแรงกายแรงใจในการประพันธ์เพลงอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาโดยตลอด อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมเป็นอเนกอนันต์ ความสามารถด้านดนตรีเป็นที่ยกย่องอย่างกว้างขวางในวงการดนตรี จึงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประพันธ์คำร้องเพลงพระราชนิพนธ์รวม 5 เพลง คือ เพลงใกล้รุ่ง ชะตาชีวิต ในดวงใจนิรันดร์ แว่ว และเกษตรศาสตร์ อันนำความชื่นชมมาสู่ปวงชนชาวไทยและเป็นความภาคภูมิใจของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างสุดที่จะประมาณได้

เพลงสดุดีพระเกียรติที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อสดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยเฉพาะนั้น เป็นความภาคภูมิใจของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทุกคนมาตราบจนทุกวันนี้ ยิ่งไปกว่านั้น เพลงฝากรักยังได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำร่วมกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ


นอกเหนือจากผลงานการประพันธ์เพลงเป็นจำนวนมาก ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ยังมีผลงานเกี่ยวข้องกับดนตรีอีกนานัปการ ดังจะเห็นได้จากเมื่อครั้งยังรับราชการอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมมือกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ก่อตั้งวง KU. BAND ขึ้น

นอกจากผลงานด้านเพลงไทยสากล ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ยังร่วมมือกับศาสตราจารย์ ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์ ก่อตั้งวงดนตรีไทยแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น โดยที่ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นทั้งนักดนตรี (ฆ้องวง) นักร้อง และนักแต่งเพลง

ด้วยผลงานในด้านดนตรีเป็นที่ประจักษ์ดังกล่าว สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้มอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางด้านดนตรีให้แก่ท่าน เมื่อ พ.ศ. 2540



คนไทยจะต้องอ่านจารึกได้ !

…เมื่อก่อนเมืองไทยพบศิลาจารึกก็จะต้องทำสำเนาส่งไปให้ศาสตราจารย์เซเดย์อ่านที่ปารีส ท่านก็อายุมากแล้ว ถ้าตายไป มิเป็นอันว่าจะไม่มีคนไทยอ่านศิลาจารึกในเมืองไทยได้เชียวหรือ ผมคิดว่าถ้าไม่มีคนไทยคนไหนจะอ่านจารึกได้ ผมนี่แหละจะต้องเป็นคนอ่านให้ได้

คำกล่าวข้างต้นของศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร นับว่าเป็นจริง ท่านได้ศึกษาศิลาจารึก อักษรโบราณ ภาษาถิ่น จนเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านภาษาไทยถิ่นและไทยอาหม จารึก วรรณกรรมและโบราณคดี ได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยงานด้านนี้อย่างกว้างขวาง มีผลงานด้านประวัติศาสตร์ไทยและโบราณคดี ผลงานค้นคว้าวิจัยจารึกประเทศไทยพิมพ์เป็นบทความภาษาอังกฤษร่วมกับนาย เอ.บี. กริสโวลด์ งานจารึกและประวัติศาสตร์และผลงานค้นคว้าทางวรรณคดีและภาษา ด้วยเหตุที่ผลงานค้นคว้าด้านจารึกประวัติศาสตร์และวรรณคดีเป็นที่ประจักษ์ในวงวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศถึงความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ มหาวิทยาลัยและสถาบันต่าง ๆ จึงได้มอบปริญญากิตติมศักดิ์และรางวัลเพื่อเป็นเกียรติประวัติ เช่น ได้รับปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ประวัติศาสตร์) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2516) ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยศิลปากร (พ.ศ. 2518) ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ประวัติศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. 2531) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2535) ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภาษาไทย) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. 2536) และได้รับยกย่องจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชให้เป็นกิติเมธีคนแรกในสาขาศิลปศาสตร์ (พ.ศ. 2531)

อนึ่ง ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ยังได้รับการยกย่องในวงวิชาการสาขาอื่นๆ ในความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีคุณูปการต่อวงการศึกษา มหาวิทยาลัยจึงได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้ ได้แก่ ปริญญาศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. 2527) ปริญญาคุรุศาสตรอุตสาหกรรมดุษฎีบัณฑิต จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า (พ.ศ. 2528)

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ยังได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2531 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้รับพระราชทานพระเกี้ยวทองคำในฐานะผู้ส่งเสริมภาษาไทยดีเด่นจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2532) เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมสาขามนุษยศาสตร์ (พ.ศ. 2535) เป็นผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น (พ.ศ. 2533) และได้รับรางวัลอาเซียน (ASEAN Awards) ในสาขาวรรณกรรม ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศที่มอบให้แก่บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศที่จัดขึ้นครั้งที่ 3 ณ ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม (8 - 10 ตุลาคม พ.ศ. 2536) นักเรียนทุนรัฐบาลดีเด่น (พ.ศ. 2537) และเป็นบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม (พ.ศ. 2540)

แม้ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร จะเป็นข้าราชการบำนาญมากว่า 20 ปีแล้วก็ตาม ท่านก็ยังศึกษาค้นคว้าและเป็นอาจารย์พิเศษในหลายมหาวิทยาลัย ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่สำคัญ เช่น เป็นราชบัณฑิตในสาขามนุษยศาสตร์และสาขาโบราณคดี อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นศาสตราจารย์พิเศษจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดล ประธานกรรมการชำระประวัติศาสตร์ ประธานกรรมการมูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และรองประธานกรรมการมูลนิธิภูมิพโลภิกขุเพื่อการค้นคว้า เป็นต้น

สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทาน ได้แก่ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ทุติยดิเรกคุณาภรณ์ และเหรียญดุษฏีมาลา เข็มศิลปวิทยา

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 สิริรวมอายุได้ 101 ปี


แหล่งข้อมูล

ภาควิชาภาษาตะวันออกและชมรมรวมใจจารึก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ภาษาจารึกฉบับที่ 5 80 ปี ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2542.

ประเสริฐ ณ นคร. สารัตถคดีประเสริฐ ณ นคร. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์พิฆเณศ, 2527.

ประเสริฐ ณ นคร. งานจารึกและประวัติศาสตร์ของประเสริฐ ณ นคร. กรุงเทพมหานคร : สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม, 2534.

ประเสริฐ ณ นคร. เรื่องจารึกกับประวัติศาสตร์ศิลป์. กรุงเทพมหานคร : Millet Group, 2544.

ประเสริฐ ณ นคร. สัมภาษณ์, 5 มีนาคม 2545.



Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University