-->
นายกสภามหาวิทยาลัย
ครั้งที่ 1 30 ส.ค. 2517 – 29 ส.ค. 2519
ครั้งที่ 2 30 ส.ค. 2519 – 29 ส.ค. 2521
ครั้งที่ 3 30 ส.ค. 2521 – 29 ส.ค. 2523
ครั้งที่ 4 30 ส.ค. 2523 – 29 ส.ค. 2525
ครั้งที่ 5 30 ส.ค. 2525 – 29 ส.ค. 2527
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ เป็นพระอิสริยยศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาให้แก่หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ตามประกาศสถาปนาวันที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2537
ในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ คือ ท่านจักรฯ ผู้ทรงมีบทบาทอย่างสำคัญในการพัฒนาช่วง 10-20 ปีแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ท่านจักรฯ ทรงเป็นโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ (พระองค์เจ้าออสคาร์นุทิศ) กับหม่อมจำรัส จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 27 กรกฎาคม 2452 ณ วังถนนหลานหลวง ทรงมีเจ้าพี่เจ้าน้องรวม 4 องค์ เรียงตามลำดับดังนี้ หม่อมเจ้าหญิงดวงตา สวัสดิวัตน์ หม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธุ์ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และหม่อมเจ้าหญิงลุอิสาณ์ ดิศกุล
ทรงเริ่มต้นเรียนหนังสือที่บ้านพระญาติก่อนจะเข้าเรียนชั้นประถมจนจบมัธยมปีที่ 1 สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2463 ที่โรงเรียนอุทัยวิทยาคมของวัดอรุณราชวราราม (คำว่าอุทัยกับอรุณมีความหมายเดียวกัน) แล้วเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ทรงเล่าไว้ว่าช่วงนั้นผลการเรียนไม่ดีเพราะในวังมีวงเครื่องสายไทย ทรง เป็นนักร้องเสียงใส ต้องฝึกซ้อมอย่างหนักทั้งขับร้องเพลงและตีโทนเข้าคู่กับพระบิดาซึ่งทรงตีรำมะนา ครั้นจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว ทรงเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าชั้นมัธยมเมื่อ พ.ศ. 2464 รุ่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทรงเรียนดีแต่ประสบอุบัติเหตุทำให้ต้องพักการศึกษาไป 1 ปีแล้วกลับมาเรียนต่อในรุ่นเดียวกับจอมพลถนอม กิตติขจร จนจบชั้น 5 พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้ไปศึกษาในระดับมัธยมศึกษาต่อที่ Peddie College สหรัฐอเมริกา หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาบริบูรณ์ใน พ.ศ. 2473 ทรงเข้าศึกษาต่อที่ Cornell University อีก 2 ปีครึ่ง ก็สำเร็จเทียบชั้นจูเนียร์ของสหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. 2476 ทรงย้ายจากสหรัฐอเมริกาไปศึกษาที่ University of the Philippines at Los Banos ณ ประเทศฟิลิปปินส์ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นักศึกษาร่วมสมัยได้แก่ ชม รักตะกษิษฐ์ ประทีป-ประเทือง ประทีปเสน ก่าน ชลวิจารณ์ กมล ชาญเลขา ม.ร.ว. อนุพร กฤดากร (บุตรหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร) เป็นต้น
ทรงได้รับปริญญา B.S.Agr. ใน พ.ศ. 2479 แล้วกลับมาเข้ารับราชการตำแหน่งนักเกษตรโท ผู้ช่วยประจำกองอุตสาหกรรมพืชพรรณ กรมเกษตรและการประมง กระทรวงเกษตราธิการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2480 อัตราเงินเดือน 140 บาท ในช่วงนี้ทรงเป็นอาจารย์พิเศษให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย ทรงได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามให้สร้างบ้าน ปลูกผักสวนครัว ทำคอกสัตว์เลี้ยง บ่อปลา มีคันคูส่งน้ำ-ระบายน้ำครบครันในพื้นที่ 200 ตารางวาที่สนามหลวงให้ประชาชนเข้าชมเป็นตัวอย่างตามโครงการชักชวนประชาชนให้สนใจปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์หลังบ้านไว้บริโภคเอง
พ.ศ. 2482 ทรงได้รับทุนไปศึกษาต่อชั้นปริญญาโทที่ Cornell University อีก เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นทำให้เดินทางกลับประเทศไทยไม่ได้จึงทรงทำเรื่องขอศึกษาต่อในชั้นปริญญาเอก แต่ยังเรียนไม่สำเร็จก็ทรงถูกเรียกตัวกลับมาทำงานที่กระทรวงเกษตราธิการตามเดิม
พ.ศ. 2494 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งมีหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นอธิการบดีได้ทูลเชิญท่านจักรฯ มาเป็นรองอธิการบดี ทรงเข้ามาทำงานให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในช่วงเริ่มต้น ที่ขาดแคลนคนทำงานอย่างที่สุด ทรงเป็นทั้งอาจารย์สอนวิชาที่ขาดแคลนผู้สอนและเป็นผู้บริหาร ทรงมีส่วนสำคัญในการติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศทั้งด้านวิชาการและเทคโนโลยี เช่น ทุนจาก Rockefeller Foundation เงินกู้จากธนาคารโลก (ร่วมกับ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และหม่อมหลวงชูชาติ กำภู) ทำให้สามารถขยายพื้นที่การศึกษาไปยังวิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมได้เป็นผลสำเร็จ
นอกเหนือจากจะทรงมีบทบาทสำคัญในด้านวิชาการและงานบริหารแล้ว ยังทรงมีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดวงดนตรีสากลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ K.U. Band ทรงเป็นธุระจัดหาทั้งเครื่องดนตรี สถานที่ซ้อม และเวทีแสดงให้ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เขียนไว้ใน คำถวายพระพร หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ลงพิมพ์ในสูจิบัตรงานแสดงดนตรี คอนเสิร์ตศิษย์ท่านจักรฯ ในวาระครบ 7 รอบวันคล้ายวันประสูติ ว่า วงดนตรีเคยูแบนด์ตั้งขึ้นและเจริญรุ่งเรือง มีชื่อเสียงในระดับชาติเพราะท่านจักร ฯ ของเรา
ช่วง พ.ศ. 2495-2496 K.U. Band ได้มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดบรรเลงดนตรีออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส. อันเป็นสถานีวิทยุส่วนพระองค์ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปรับฟัง โดยทรงร่วมบรรเลงและจัดรายการด้วยเป็นครั้งคราว และเป็นที่มาของกิจกรรมสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ การเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีครั้งแรก ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ติดต่อกันเกือบทุกปี จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2515 รวม 9 ครั้ง และทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ในวันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2506
ความสนพระทัยในดนตรีการของท่านจักรฯ ปรากฏชัดตั้งแต่ยังทรงอยู่ในวัยเยาว์ ดังได้กล่าวถึงแล้วบ้างในประวัติช่วงต้น ผลงานที่ดีเด่นยิ่งคือผลงานด้านการประพันธ์คำร้อง ที่มาแห่งพระปรีชาสามารถในด้านนี้นอกเหนือจากสิ่งที่คนทั่วไปเรียกว่าพรสวรรค์แล้วก็คือการศึกษาอบรมในช่วงต้น กล่าวคือหม่อมจำรัสผู้มารดาส่งเสริมเรื่องการอ่านวรรณคดีไทยมาก ท่านจักรฯ ได้อ่านวรรณคดีไทยเรื่องต่าง ๆ ให้หม่อมมารดาฟังในยามพักผ่อนตอนบ่ายเสมอ และโรงเรียนเทพศิรินทร์ในสมัยนั้นมีชื่อเสียงมากด้านการสอนภาษาไทย พระสหายร่วมชั้นเรียนเล่าว่าขณะที่ทรงเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ทรง เก่งบทกลอน…ทรงมีเสียงใสกังวาน …จึงได้รับมอบหมายจากคุณครูให้เป็นนักร้องประจำโรงเรียน
ท่านจักรฯ นิพนธ์บทเพลงไว้เป็นจำนวนมาก และที่ควรแก่ความปิติยิ่งคือได้ทรงรับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ประพันธ์คำร้องถวายเพื่อประกอบทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ขึ้น รวมทั้งสิ้น 28 เพลง เป็นภาษาไทย 15 เพลง ภาษาอังกฤษ 13 เพลง
ด้วยความสามารถทางวรรณศิลป์อันเป็นที่ปรากฏ สภากวีโลกจึงถวายปริญญา Doctor of Literature แด่ท่านจักรฯ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2531 และเมื่อ พ.ศ. 2532 ในโอกาสของการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ถวายพระเกี้ยวทองคำแก่ท่านจักรฯ เพื่อเป็นเครื่องแสดงพระเกียรติคุณอันได้สดุดีไว้ว่า …คำร้องในบทเพลงที่ทรงนิพนธ์มีความไพเราะในเชิงวรรณศิลป์และถูกต้องด้วยฉันทลักษณ์ ทรงเลือกสรรถ้อยคำทีมีความหมายเด่นชัด ให้ภาพที่งดงามคมคาย บางเพลงมีลักษณะคล้ายกลบท ทั้งยังใช้ภาพพจน์เปรียบเทียบที่ลึกซึ้งกินใจ และมุ่งในทางสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้แก่สังคม
เพลง รำวงเกษตร ที่ทรงนิพนธ์ทั้งทำนองและคำร้องให้แก่วง เคยู แบนด์ นับเป็นเพลงที่แปลกแหวกแนวได้รับความนิยมสูงสุดเพลงหนึ่งแห่งยุค ทั้งเป็นเพลงที่แสดงลักษณะเฉพาะของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขณะนั้นได้อย่างแยบคาย ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางว่า เกษตรนี้หล่อจริง ๆ ผู้หญิงเขาอยากรู้จัก …เกษตรนี้หล่อยิ่งนัก แม้ใครรู้จักกินผักฟรีๆ …
ระหว่าง พ.ศ. 2496 - พ.ศ. 2512 ท่านจักรฯ ปฏิบัติราชการให้แก่กระทรวงเกษตรและมหาวิทยาลัยในตำแหน่งต่าง ๆ ควบคู่กัน ได้แก่อธิบดีกรมการข้าวและรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบดีกรมกสิกรรม คณบดี (กิตติมศักดิ์) คณะเกษตร และในที่สุดได้ทรงดำรงตำแหน่งอธิการบดีและนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย ในวาระที่พระชันษาครบ 84 ปี เมื่อ พ.ศ. 2536 ทรงนิพนธ์ถึงเรื่องที่ทรงรำลึกถึงด้วยความปีติสุขไว้ว่า
…(พ.ศ.2512) เกษียณอายุราชการที่กรมกสิกรรม มาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การได้กลับมาอยู่มหาวิทยาลัยเหมือนได้กลับบ้านเก่า เพราะได้เป็นรองอธิการตั้งแต่ปี 2494 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สังกัดกระทรวงเกษตราธิการ ย้ายไปย้ายมาแล้วกลับที่เดิม เป็นความสุขใจชื่นใจ คณาจารย์และนิสิตก็เป็นที่น่าสรรเสริญและชื่นชม ผลงานพัฒนาที่บางเขนก็ได้ผลดีและสานงานการก่อตั้งวิทยาเขตกำแพงแสนเป็นผลสำเร็จ
16 ตุลาคม 2516 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมเป็นรัฐบาลชั่วคราวภายใต้การนำของ ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีทั้งสองสมัย ก็เป็นประสบการณ์ชีวิตการทำงานที่น่าจดจำและภาคภูมิใจ ได้จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญและเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรเข้าบริหารประเทศ เป็นการเสร็จสิ้นภารกิจของรัฐบาลชั่วคราว
ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับใช้สนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งองคมนตรี พ.ศ. 2518…
ในฐานะองคมนตรี ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นที่ปรึกษา กำกับดูแลต่างพระเนตรพระกรรณเกี่ยวกับโครงการตามพระราชดำริและงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มแรก ยกเว้นงานเกษตรที่สูง ทั้งยังทรงเป็นกรรมการและที่ปรึกษาของมูลนิธิชัยพัฒนาด้วย
ท่านจักรฯ ทรงสมรส 2 ครั้ง ครั้งแรกทรงสมรสกับนางสาววิภา เก่งระดมยิง ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงมีธิดา 5 คน ได้แก่ หม่อมราชวงศ์หญิงสุพินดา หม่อมราชวงศ์หญิงอรพรรณ หม่อมราชวงศ์หญิงจันทิรา หม่อมราชวงศ์หญิงมาลินี และหม่อมราชวงศ์หญิงเบญจาภา
และทรงสมรสครั้งที่ 2 กับนางสาวประพาล รจนานนท์ มีธิดา 1 คน คือหม่อมราชวงศ์หญิงเพ็ญศิริ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2536
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับอนุญาตให้ตั้งชื่ออาคารสำคัญอันเป็นสถานที่ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2529 เป็นต้นมาว่า อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีเปิดอาคารดังกล่าวในคราวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2540 และนับแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยได้ประดิษฐานพระรูปของ ท่านจักรฯ ไว้ ณ โถงหน้าหอประชุมของอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจอนุชนให้รำลึกถึงพระกรุณาที่ทรงมีต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สืบไป
แหล่งข้อมูล
ที่ระลึกในวันพระราชทานเพลิงศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ. ณ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันพุธที่ 30 มีนาคม 2537.