กาลานุกรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



เหตุการณ์เมื่อ 27 สิงหาคม 2535

 

นายพรเทพ พัฒธนานุรักษ์

ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน (ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2535 – 7 พฤษภาคม 2540) ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งวิทยาเขตศรีราชา (ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2540 – 19 มิถุนายน 2543) ปรัชญาการก่อตั้งวิทยาเขตศรีราชา การก่อตั้งวิทยาเขตศรีราชาที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2532-2533 สมัย ศ.ดร.สุธรรม อารีกุล เป็นอธิการบดี ท่านได้สั่งการให้ตรวจสอบและทบทวนการใช้ประโยชน์ที่ดินของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณอ่าวอุดมในอำเภอศรีราชา ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติแผ่นดินที่กระทรวงมหาดไทยมอบให้มหาวิทยาลัยใช้ประโยชน์มาตั้งแต่พ.ศ. 2498 มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งเป็นสถานีวิจัยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และเมื่อความเจริญเกิดขึ้น หน่วยงานต่างๆ ได้ขอใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ของชุมชน เช่น โรงพยาบาล สถานีดับเพลิง เป็นต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยก็แบ่งให้ใช้มาโดยตลอด ภายหลังจากที่รัฐบาลได้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกในพ.ศ. 2525 ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่าของทรัพย์สินต่างๆ สูงขึ้น คนในพื้นที่จำนวนไม่น้อยปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลง ความคิดในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสถานศึกษาจึงเกิดขึ้น นอกจากนี้ได้มีการศึกษาวิเคราะห์แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก และสำรวจสภาพความต้องการของชุมชนในช่วงเตรียมการจัดตั้งสถานศึกษานั้น พบว่าการจัดตั้งสถานศึกษาขึ้นในพื้นที่บริเวณนี้ จะต้องมุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคการผลิตที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่และความต้องการของภาคเอกชน โดยควรดำเนินการจัดการศึกษาใน 2 ระดับ คือ การต่อยอดให้กับกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปวส. หรืออนุปริญญา และการผลิตกำลังคนในระดับสูงคือตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป โดยการกำหนดสถานะของสถานศึกษาในช่วงต้นนั้น เกิดขึ้นในรูปแบบที่เรียกว่า "วิทยาลัยชุมชน" (Community College) โดยมุ่งหวังจะเป็นสถานศึกษาที่ชุมชนทุกภาคส่วนจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้ว เมื่อดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง พบว่าแนวคิดการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนไม่ได้รับการตอบรับจากหลายฝ่าย ด้วยรูปแบบสถานศึกษาในลักษณะนี้เคยถูกนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือและยอมรับ จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นวิทยาเขต และด้วยเหตุที่มีพื้นที่น้อยจึงได้กำหนดการจัดตั้งคณะวิชาเป็น 3 กลุ่มแกนหลัก เพื่อตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ดังนี้ แกนที่หนึ่ง การจัดการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อตอบสนองกำลังคนทางด้านอุตสาหกรรมและการขนส่ง (เดิมเคยใช้ชื่อว่าคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม) ซึ่งในขณะนั้นได้กำหนดให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกมีบทบาททั้งการขนส่งทางทะเลและการขนส่งทางอากาศ แกนที่สอง การจัดการศึกษาทางด้านการบริหารจัดการ เพื่อตอบสนองเศรษฐกิจภาคบริการ ภาคการผลิตและภาคการขนส่ง จึงได้จัดตั้งเป็นคณะวิทยาการจัดการ (Management Science ) ที่มีองค์ความรู้ทั้งการบริหารภาคธุรกิจและการบริหารภาคสาธารณะ แกนที่สาม การจัดการศึกษาทางด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโครงสร้างทางกายภาพและสังคมของพื้นที่ชายฝั่งภาคทะเลตะวันออกมีข้อจำกัดมากมาย ทั้งทรัพยากรน้ำ ดิน ชายฝั่งทะเล มนุษย์และวัฒนธรรมชุมชน ทิศทางการพัฒนาที่จะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของพื้นที่จากภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการจะส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชน จึงได้จัดตั้งเป็นคณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และด้วยนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกจากระบบราชการและพึ่งตนเองมากขึ้น การออกแบบทางการบริหารจึงถูกกำหนดขึ้นภายใต้แนวคิดของการรวมศูนย์ระบบบริการ กระจายความรับผิดชอบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ประสิทธิภาพ และความประหยัดในการใช้ทรัพยากรกำลังคน เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ จึงได้กำหนดโครงสร้างและรูปแบบการบริหารไว้ดังนี้ 1. การบริหารคณะวิชา ไม่มีการจัดแบ่งเป็นภาควิชา การจัดการศึกษาจัดทำในรูป Program Management เพื่อมิให้เกิดข้อจำกัดในการใช้กำลังคน และเปิดโอกาสให้อาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ ได้สอนแม้จะต่างสาขาก็ตาม การจัดกำลังคนให้มีทั้ง Internal Staff และ External Staff เพื่อให้เกิด ความยืดหยุ่นในการบริหารสาขาวิชา และใช้ทรัพยากรกำลังคนทางวิชาการอย่างคุ้มค่า 2. การบริหารสำนักบริหารและบริการ ใช้ระบบการรวมศูนย์ นอกจากเป็นการเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรแล้ว ยังสร้างโอกาสความก้าวหน้าให้กับบุคคลในสายงานสนับสนุนทางวิชาการอีกด้วย 3. การสร้างเกียรติภูมิและความน่าเชื่อถือให้กับสถานศึกษา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างผลผลิตของวิทยาเขตที่มีมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับของสังคม การรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อต้องกระจายโอกาสอย่างเป็นธรรม จึงได้กำหนดรูปแบบการรับเป็น 2 รูปแบบ คือ จากระบบการสอบ Entrance และการรับนักเรียนจากผู้ที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยในภาคตะวันออก ( ที่มา : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา. 2548 (หน้า 28-29). 10 ปี แห่งการสถาปนาวิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. )





Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University