-->
กาลานุกรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เหตุการณ์เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2522
การก่อตั้งวิทยาเขตกำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดมาจากโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม เมื่อ พ.ศ. 2460 ซึ่งมีการขยายและยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 โดยมีตราประจำมหาวิทยาลัยเป็นรูปพระพิรุณทรงนาค ล้อมรอบด้วยกลีบบัวคว่ำ บัวหงายในวงกลม สีประจำมหาวิทยาลัยคือ สีเขียวใบไม้ และมีต้นนนทรีเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ต่อมาพื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สำหรับการเรียนการสอน การวิจัยทางการเกษตรไม่เพียงพอต่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยจึงจัดทำแผนและโครงการขยายกิจการต่าง ๆ ในด้านสาขาวิชาเกษตรไปดำเนินการ ณ สถานที่ที่เหมาะสมแห่งใหม่ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ในด้านการพัฒนาการเกษตรของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งจึงได้บังเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นส่วนหนึ่งของความเจริญก้าวหน้าและการขยายขอบเขตทางวิชาการของมหาวิทยาลัยคือการก่อตั้งวิทยาเขตเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งในท้องที่ตำบลกำแพงแสน (เดิม คือ ตำบลทุ่งกระพังโหม) อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในด้านการพัฒนาการเกษตรของประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 - 2509 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เตรียมการในแผนนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ในช่วงที่ศาสตราจารย์อินทรี จันทรสถิตย์ เป็นอธิการบดี โดยวางแผนให้มีการเพิ่มการผลิตบัณฑิตในสาขาเกษตรและสาขาที่สนับสนุนการเกษตรให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพ แผนการนี้ได้รับการสานต่อจาก ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิการบดีคนต่อมา โดยในปี พ.ศ. 2510 มหาวิทยาลัยได้จัดหาพื้นที่เพื่อการนี้ในท้องที่ตำบลทุ่งกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และจัดตั้งสถานีฝึกนิสิตของคณะเกษตร ภายใต้การดำเนินงานของภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร นอกจากนี้ มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ได้ให้ความช่วยเหลือในการยกร่างโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยสำหรับช่วง พ.ศ. 2511 - 2517 โดยในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 รัฐบาลไทยกับธนาคารโลกได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยโครงการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเงินกู้ธนาคารโลก โดยกำหนดการดำเนินโครงการพัฒนาเป็นเวลา 20 ปี แบ่งเป็น 4 ระยะๆ ละ 5 ปี เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2519 ศาสตราจารย์วัฒนา เสถียรสวัสดิ์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี (กำแพงแสน) นับเป็นการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยประจำวิทยาเขตกำแพงแสนเป็นครั้งแรก ด้วยเหตุที่กิจการด้านการเรียนการสอนจำเป็นต้องดำเนินการไปพร้อม ๆ กันกับการวิจัยและการบริการวิชาการแก่สังคม จึงจะบังเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อสร้างความพร้อมด้านอาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับงานวิจัยและงานบริการวิชาการที่วิทยาเขตกำแพงแสนในปี พ.ศ. 2525 รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดเงินช่วยเหลือในรูปให้เปล่าเพื่อการนี้ให้แก่มหาวิทยาลัย จำนวน 4,100 ล้านเยน(ประมาณ 410 ล้านบาทในขณะนั้น) เพื่อก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง ศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ และศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ รวมทั้งงบประมาณสำหรับจัดหาครุภัณฑ์และเครื่องจักรกลการเกษตรที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน เป็นเงิน 500 ล้านเยน (ประมาณ 50 ล้านบาท) รวมทั้งสิ้น4,600 ล้านเยน (ประมาณ 460 ล้านบาท) สำหรับการเรียนการสอนที่วิทยาเขตกำแพงแสน เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นวันเปิดเรียนภาคปลาย ปีการศึกษา 2522 โดยมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดการเรียนการสอน ประกอบด้วย 4 คณะ คือ คณะเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และ คณะศึกษาศาสตร์ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มีคณะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 6 คณะ คือ คณะเกษตร กำแพงแสน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีสถาบันและสำนักอื่น ๆ ที่ให้การสนับสนุน ภาระหน้าที่หลักของวิทยาเขต ทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการทางวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม