กาลานุกรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



เหตุการณ์เมื่อ 27 สิงหาคม 2545

 

รองศาสตราจารย์ดร. ศานติ วิริยะวิทย์ รองอธิการบดีวิทยาเขตศรีราชา

รองอธิการบดีวิทยาเขตศรีราชา (วาระที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2545- 7 มิถุนายน 2547) (วาระที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2547- 7 มิถุนายน 2549) ผมมาช่วยราชการที่วิทยาเขตศรีราชาตอนปลายปี พ.ศ. 2538 โดยการชักชวนของอาจารย์พรเทพ พัฒธนานุรักษ์ ติดต่อผ่านรองศาสตราจารย์วุฒิชัย กปิลกาญจน์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในขณะนั้นผมดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศยาน จึงได้เข้ามาช่วยอาจารย์พรเทพทำงานเป็นรองผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งวิทยาเขตศรีราชา และผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ต่อมาเป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในช่วงปี พ.ศ. 2539-2540 วิทยาเขตศรีราชามีอาคารอยู่เพียง 1 อาคาร คือ อาคาร 1 บริการวิทยาการ นอกนั้นเป็นอาคารเรือนไม้ 3 – 4 หลัง และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 อาคาร คือ อาคาร 2 ปฏิบัติการวิศวกรรมศาสตร์ และอาคาร 3 ที่พักอาศัยบุคลากร ถนนหนทางภายในวิทยาเขตยังเป็นถนนดินทั้งหมด ฤดูฝนเฉอะแฉะ ฤดูแล้งมีแต่ฝุ่น การเดินทางจากบางเขนมาศรีราชาค่อนข้างลำบาก เนื่องจากถนนสายหลักๆ คือ ถนนสายบางนา – ตราด และในขณะนั้นถนนมอเตอร์เวย์อยู่ระหว่างการก่อสร้าง วิทยาเขตศรีราชารับนิสิตรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2539 จำนวน 203 คน เป็นนิสิตคณะวิทยาการจัดการ สำหรับคณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และคณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา (ตอนนั้นชื่อคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม) รับนิสิตรุ่นแรกในปีถัดมา ซึ่งนิสิตที่รับมารุ่นแรกต้องนับว่าเป็นนิสิตรุ่นบุกเบิก เนื่องจากต้องลุยโคลน ปีนเขาไปเรียนหนังสือระหว่างอาคาร 1 กับอาคาร 2 และต้องไปรับประทานอาหารที่โรงอาหารเรือนไม้ (ปัจจุบันถูกรื้อไปเป็นพื้นที่ก่อสร้างอาคารพลศึกษา) และพักอาศัยอยู่ที่อาคารหอพักเรือนไม้เก่าๆ ภายในวิทยาเขต พ.ศ. 2541 คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ตัดสินใจย้ายสถานที่ก่อสร้างอาคาร 4 ปฏิบัติการวิศวกรรมการบินและอวกาศยานจากวิทยาเขตกำแพงแสนมาที่วิทยาเขตศรีราชา เป็นความเห็นชอบร่วมกันระหว่างอาจารย์พรเทพ พัฒธนานุรักษ์ รองศาสตราจารย์วุฒิชัย กปิลกาญจน์ และผม อาคารนี้ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการโครงสร้างอากาศยาน และห้องปฏิบัติการอากาศพลศาสตร์ ซึ่งมีอุโมงค์ลมขนาดใหญ่ที่จัดซื้อมาด้วยงบประมาณโครงการเงินกู้ธนาคารโลก ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2542 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเจิมแผ่นศิลาฤกษ์และหมุดประจำวิทยาเขต และทรงเปิดอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมการบินและอวกาศยาน นอกจากนี้ผมได้มีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตรใหม่ให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2 หลักสูตร คือ เป็นประธานกรรมการร่างหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศร่วมกับกองทัพอากาศ มี ศ.พล.อ.ท.ดร.จุน จันสุดา ให้เกียรติเป็นที่ปรึกษา เปิดสอนที่วิทยาเขตบางเขนในปี พ.ศ. 2536 และเป็นประธานกรรมการร่างหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมต่อเรือและเครื่องกลเรือ ร่วมกับกองทัพเรือ มี ศ.พล.ร.ท.จิตต์ ณ นคร และ น.อ.ดร.พงศ์สรร ถวิลประวัติ ร.น. ให้เกียรติเป็นที่ปรึกษาเปิดสอนที่วิทยาเขตศรีราชาในปี พ.ศ. 2543 วันที่ 8 มิถุนายน 2545 รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นอธิการบดี ท่านไว้วางใจโดยมอบหมายให้ผมมาดำรงตำแหน่งบริหารเป็นรองอธิการบดีวิทยาเขตศรีราชา ซึ่ง ผมรับภารกิจนี้มาด้วยความเต็มใจ เพราะคิดว่าการบริหารวิทยาเขตศรีราชาเป็นงานที่ท้าทาย เนื่องจาก วิทยาเขตศรีราชาต้องพึ่งพาตนเองค่อนข้างสูงและช่วยเหลือตัวเองมาโดยตลอด ในแต่ละปีได้รับเงินงบประมาณแผ่นดินสนับสนุนเพียง 20% ที่เหลือ 80% เป็นงบประมาณเงินรายได้ของวิทยาเขตเอง บุคลากรประมาณ 80% เป็นพนักงานเงินรายได้ โครงการก่อสร้างหลายโครงการต้องใช้เงินรายได้หรือเงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาสมทบ ช่วงแรกๆ วิทยาเขตศรีราชามีปัญหามากกับโครงการก่อสร้างที่ล่าช้าอยู่หลายโครงการ ได้แก่ อาคาร 6 ศูนย์เรียนรวม 1 อาคาร 7 หอพักนิสิต และอาคาร 8 โรงอาหารกลาง เนื่องจากผู้รับเหมาทิ้งงาน การก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดและไม่ได้มาตรฐาน วิทยาเขตต้องเข้าไปดูแล เร่งรัด และควบคุมการก่อสร้างอย่างใกล้ชิดจนกระทั่งแล้วเสร็จ ปัญหาขาดแคลนอาคารสถานที่สำหรับจัดการเรียนการสอนและการทำกิจกรรมของนิสิตลดลงไปได้ระดับหนึ่ง เมื่อการก่อสร้างอาคาร 9 ศูนย์กิจกรรม อาคาร 10 ศูนย์เรียนรวม 2 และอาคาร 11 สถานที่และยานพาหนะแล้วเสร็จ อาคาร 12 พุทธศาสนสถาน “ศรีธรรมเกษตร” และอาคาร 13 พลศึกษา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง อาคาร 14 หอสมุดอนุสรณ์ 10 ปี อาคาร 15 ปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาคารหอพักนิสิตเพิ่มเติมและอาคาร 16 ธุรกิจศึกษาอยู่ระหว่างการออกแบบ วิทยาเขตศรีราชาเป็นวิทยาเขตที่มีพื้นที่ขนาดเล็กและค่อนข้างจำกัด ตอนนั้นมีพื้นที่อยู่ในความดูแลประมาณ 270 ไร่ ต่อมาเทศบาลตำบลแหลมฉบังขอไปสร้างสนามกีฬาประมาณ70 ไร่ ปัจจุบันเหลือพื้นที่อยู่ 199 ไร่ 48 ตารางวา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขออนุญาตพื้นที่บนภูเขาน้ำซับจากกรมป่าไม้มาดูแลอีกประมาณ 340 ไร่ ดังนั้นวิทยาเขตศรีราชาจึงต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการการใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้บริหารวิทยาเขตศรีราชารุ่นแรกๆ ได้แก่ อาจารย์พรเทพ พัฒธนานุรักษ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชาญ ภู่พัฒน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ผสม เพชรจำรัส รองศาสตราจารย์ธงชัย คัมภีร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไพโรจน์ อุตรพงศ์ รองศาสตราจารย์ศรีอร สมบูรณ์ทรัพย์ อาจารย์จำลอง เจียมจำนรรจา รองศาสตราจารย์อำนาจ ธีระวนิช และอาจารย์เติมศักดิ์ สุขวิบูลย์ ( ที่มา : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา. 2548 (หน้า 37-39). 10 ปี แห่งการสถาปนาวิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. )





Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University