ทำเนียบอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา

รักษาราชการแทนอธิการบดี

1 มีนาคม 2525 – 7 มิถุนายน 2525


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา เป็นบุตรของ พ.ต.อ. พระมหาวิชัย (ฉัน) และนางลักขณา ทรรทรานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2469 ที่ตำบลกุฎีจีน อำเภอธนบุรี จังหวัดธนบุรี ในระยะแรกของการศึกษา จบชั้นประถมที่โรงเรียนซานตาครูสคอนแวนต์ พ.ศ. 2482 ชั้นมัธยมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พ.ศ. 2486 ปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง สาขาเคมี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อพ.ศ. 2491 ได้เข้าทำงานในโรงงานผลิตภัณฑ์ยางได้ไม่นานก็ต้องลาออก ด้วยล้มป่วยเนื่องจากการสูดดมแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ในโรงงาน ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลอเมริกาไปเรียนต่อปริญญาโท สาขาเคมี ที่ University of California เบอร์กเลย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยไม่มีเงื่อนไขการชดใช้ทุนกับหน่วยราชการใด ความทราบถึงท่านอธิการบดีคุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ จึงได้กราบบังคมทูลให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ เมื่อครั้งเสด็จไปประเทศสหรัฐอเมริกาให้แวะไปชักชวน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา กลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดังนั้น หลังจากจบปริญญาโท ทาง Science ที่ University of California เมื่อ พ.ศ. 2496 แล้ว ศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา ชุติมา จึงได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใน พ.ศ. 2496 ในขณะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก่อตั้งได้เพียง 10 ปี และจบปริญญาเอก ทาง Agricultural Biochemistry ที่ Purdue University ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2505

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 30 ปี ที่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเฉพาะคุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ อธิการบดี ปูชนียบุคคลที่ควรแก่การยกย่องอย่างยิ่ง ท่านมีระบบบริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เยี่ยงบิดาปกครองบุตร ครูอาจารย์ทุกคนต่างทำงานหนักด้วยความอดทนเยี่ยงเกษตรกร ทุกฝ่ายได้ช่วยกันดำเนินการทุกวิถีทางที่จะให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเปรียบเสมือนเด็กลูกทุ่ง สามารถเจริญเติบโตท่ามกลางสายลมแสงแดด มีชีวิตที่แข็งแกร่งมั่นคงแข็งแรง จนเติบใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของประเทศดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การบริหารงานในระบบครอบครัวของอธิการบดีหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมาประทับใจอย่างยิ่งคือ ทุกครั้งที่อธิการบดีมีราชการต้องประชุมปรึกษาหารือกับผู้ร่วมงาน ท่านจะเชิญให้มาประชุมที่โต๊ะตัวยาว เก้าอี้ธรรมดาๆ ไม่หรูหราอย่างการประชุมผู้บริหารในยุคปัจจุบัน สถานที่ประชุมเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวกลางทุ่งบางเขน ที่ภาคภูมิใจที่สุดคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา ซึ่งเปรียบเสมือนลูกสาวคนเล็กจะได้รับเกียรติให้เข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง โดยนั่งอยู่ปลายๆ โต๊ะร่วมประชุมกับอาจารย์ผู้ใหญ่ อาทิ ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ อาจารย์แทน อิงคสุวรรณ อาจารย์กวี วิสุทธารมณ์ และคุณหลวงสมานวนกิจ เป็นต้น ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การดำเนินงานด้านวิชาการ หรือในเรื่องทั่วๆ ไปของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะผ่านการถกเถียงวิพากวิจารณ์ เสนอความคิดเห็นอย่างอิสระจากที่ประชุมดังกล่าว และก่อนการปิดประชุมทุกครั้ง ท่านอธิการบดีจะมีวิธีสรุปรวบยอดความคิดที่ทุกคนเห็นด้วยและยอมรับ เพื่อนำไปปฏิบัติและดำเนินการต่อไปโดยไม่มีข้อโต้แย้งภายหลัง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา ได้เล่าต่อไปว่า บางครั้งการที่ลูกทำตามคำสั่งพ่อก็ทำให้มีเรื่องขำไม่ออกเหมือนกัน ดังเช่น มีอยู่วันหนึ่ง อธิการบดีให้คนมาตาม ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา ไปพบ มอบหมายให้นำฝรั่งสามีภรรยาคู่หนึ่งชมกิจการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะทำหน้าที่อย่างขมักเขม้นอยู่นั้น ก็มีคำถามจากฝรั่งทั้งคู่ว่า คุณเรียนจบสาขาใด ? ตอบทันทีว่า สาขาเคมี จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่เบอร์กเลย์ และในเร็วๆ นี้ ดร. ไลนัส พอลิ่ง จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี จะแวะมาประเทศไทยในโอกาสผ่านมาเพื่อไปรับรางวัลที่ประเทศสวีเดน ฝรั่งผู้ชายยิ้มอย่างกว้างขวางพร้อมกับพูดว่า ผมนี่แหละ ไลนัส พอลิ่ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมาตระหนักในทันทีนั้นว่า ได้จุดใต้ตำตอเข้าแล้ว และเกิดความสงสัยไม่รู้หาย จนถึงปัจจุบันนี้ว่า ใครหนอเป็นคนแนะนำให้ ดร. ไลนัส พอลิ่ง แวะมาเยี่ยมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของเรา และ ดร. ไลนัส พอลิ่ง จะคิดเช่นไร เมื่อมาพบว่าสำนักงานอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นเพียงเรือนไม้ชั้นเดียว หลังเล็กๆ อยู่กลางทุ่งกว้าง มีอธิการบดีนั่งบริหารงานในห้องที่เปิดโล่ง ลมพัดผ่านท่ามกลางเปลวแดด ที่สำคัญคือ ไม่มีเลขานุการสาวนั่งหน้าห้องดังเช่นที่พบเห็นอยู่ทั่วไป

แม้อธิการบดีคุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปนานแล้ว แต่วัฒนธรรมองค์กรของเราแบบลูกทุ่ง ทำให้พูดกันง่าย เข้าใจกันง่าย เอาอย่างไรก็เอากัน แม้มีปัญหาก็ช่วยกันแก้ไข จนบางครั้งอาจจะสามัคคีกันมากเกินไปด้วยซ้ำ ต่อคำถามที่ว่าเคยมีลูกๆ คิดนอกลู่นอกทางบ้างไหม? ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา ตอบว่า มีแน่นอน แต่พี่ๆ น้องๆ จะช่วยกันชี้แจงแสดงเหตุผลเกลี้ยกล่อม โน้มน้าวกันไป จนในที่สุดก็ลงเอยกันด้วยดี

ในอดีตที่ผ่านมา ใช่ว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปทางด้านการศึกษาก็หาไม่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า ในระบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยไทย ได้มีการเปลี่ยนจากระบบชั้นปีมาเป็นระบบหน่วยกิต และเปลี่ยนการวัดผลจากการให้คะแนนร้อยละ มาเป็นระดับแต้มคะแนน ซึ่งมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ รับสิ่งเหล่านั้นมาปฏิบัติเป็นมหาวิทยาลัยแรก อย่างราบรื่นโดยพร้อมเพรียงกันทุกคณะ ทั้งนี้ เพราะผู้บริหาร ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ ท่านจบจาก University of Maryland ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านจึงเข้าใจและคุ้นเคยกับระบบการศึกษาแบบนี้มาก่อน จึงได้นำมาปรับใช้อย่างไม่มีปัญหา ในขณะที่บางมหาวิทยาลัยเกิดการโต้เถียงขัดแย้งกันภายในเป็นอย่างมาก ทำให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่มาเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถามด้วยความสงสัยว่า เหตุใดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงมีเอกภาพ ทุกคณะปฏิบัติได้เหมือนๆ กันอย่างเรียบร้อย คำตอบคือ เป็นเพราะประวัติความเป็นมาเมื่อครั้งก่อตั้งมหาวิทยาลัยไม่เหมือนกัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ผ่านระยะเริ่มแรกด้วยการบริหารแบบพ่อปกครองลูก ทำให้มีความปรองดองกัน อันเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังเป็นมหาวิทยาลัยแรกๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือจาก Rockefeller Foundation ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา เป็นหนึ่งในสองคนแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ได้รับทุนนี้ไปทำปริญญาเอก สาขาเคมี ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ถามถึงความภาคภูมิใจในงานที่ได้กระทำไว้ให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา ตอบว่า การต่อเติมและก่อสร้างตึกเคมีทั้งห้องปฏิบัติการและห้องบรรยายขนาดใหญ่แทนห้อง 600 เดิม เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุด ทั้งนี้เพราะในสมัยนั้นท่านได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าแผนกวิชาเคมี ต่อจากศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ ดังนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมาจึงรับผิดชอบในการออกแบบต่อเติมห้องปฏิบัติการเคมีเองทั้งหมด รวมถึงการเดินท่อน้ำ ท่อแก๊ส ระบบไฟฟ้า ซึ่งล้วนเป็นงานกระจุกกระจิกที่ต้องชี้แจงเจรจาต่อรอง ด้วยเหตุด้วยผลกับสถาปนิก ผู้ซึ่งไม่มีความคุ้นเคยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่เป็นผู้ออกแบบตึกแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ได้ไต่ถามถึงความต้องการและประโยชน์ใช้สอยจากผู้ใช้ตึก นับเป็นประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิตของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา ดังนั้น จึงต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการขอเข้าไปมีส่วนร่วมกับสถาปนิกและวิศวกรในระหว่างการก่อสร้างทุกขั้นตอน เมื่อสร้างห้องปฏิบัติการเสร็จแล้ว ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมายังต้องออกแบบติดตั้งโต๊ะปฏิบัติการซึ่งต้องเว้นพื้นที่ตรงกลางไว้ให้อาจารย์ผู้ควบคุมเดินผ่านได้ รวมถึงการติดตั้งท่อลม ท่อแก๊ส ระบบไฟฟ้า ตู้ดูดควันและอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆ อีกจิปาถะ ในที่สุดทุกอย่างก็สำเร็จลุล่วงด้วยดี

ต่อมาใน พ.ศ. 2517-2518 ได้งบประมาณก่อสร้างตึกเคมีใหม่ เป็นตึก 6 ชั้น มีดาดฟ้า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของถนนหลวงสุวรรณฯ อันเป็นตึกเคมีที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ อาศัยประสบการณ์ที่ได้จากการต่อเติมตึกเคมีเดิมมาแล้ว 2 ครั้ง อีกทั้งได้ไปดูงานห้องปฏิบัติการเคมีที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมาจึงตั้งใจออกแบบตึกใหม่นี้ให้ดีที่สุด โดยได้ขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบกับสถาปนิกและวิศวกรตั้งแต่เริ่มต้น กำหนดให้ตึกใหม่นี้ไม่มีระเบียงซึ่งเป็นสูตรสำเร็จของสถาปนิกในสมัยนั้น แต่ขอให้มีโถงทางเดินอยู่ตรงกลางตึกแทน ให้ด้านหนึ่งเป็นห้องทำงานอาจารย์ และห้องบริการเบิกจ่ายของแก่นิสิต ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นห้องปฏิบัติการ ส่วนห้องเก็บสารเคมีไวไฟ ห้องจ่ายแก๊ส รวมทั้งถังเก็บน้ำ ปั๊มน้ำอัตโนมัติให้อยู่บนชั้นดาดฟ้าทั้งหมด การที่ได้ทำการตกลงและแจ้งให้วิศวกรและสถาปนิกทราบล่วงหน้าถึงความต้องการและประโยชน์ใช้สอยที่จำเป็นในสาขาวิชาเคมี เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะการคำนวณโครงสร้างตึกเพื่อรองรับสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ที่สำคัญคือมีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้น ได้ห้องปฏิบัติการเพิ่มขึ้น เพียงพอต่อนิสิตและวิชาที่จะเปิดสอนในอนาคต นอกจากนั้นยังมีพื้นที่สำหรับห้องปฏิบัติการวิจัยสำหรับอาจารย์และนิสิตปริญญาโท-เอกอีกด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมากล่าวต่อไปว่า การก่อสร้างตึกใหม่นี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากสถาปนิกและวิศวกรโดยมีรองศาสตราจารย์บุญสม สุวชิรัตน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะวิศวกรควบคุมการก่อสร้างเป็นสื่อกลางช่วยเจรจากับสถาปนิกให้ แม้เรื่องใหญ่ๆ เช่น การขอเปลี่ยนจากคานเหล็กซึ่งไม่ทนต่อไอกรด ไอด่าง มาเป็นคานคอนกรีตตลอดจนดวงไฟฟ้าให้แสงสว่างต้องไม่มีโลหะโผล่มาให้เห็น ท่อน้ำดี ท่อน้ำทิ้ง ท่อลม และท่อแก๊ส ต้องอยู่ใต้ฝ้าทั้งหมด เพื่อง่ายแก่การตรวจสอบและซ่อมแซมภายหลัง โดยไม่มีการรื้อฝ้าให้เสียหายและเสียเวลา พื้นห้องต้องไม่เป็นพื้นไม้ กระเบื้องยาง กระเบื้องเซรามิกซ์ หรืออื่นใดที่ไม่ทนต่อการหกนองของกรดด่าง หรือเสี่ยงต่อการลื่นล้ม ต่างๆ เหล่านี้ก็ได้รับการสนองตอบจากสถาปนิกและวิศวกรเป็นอย่างดี ในที่สุดตึกเคมีใหม่ก็เสร็จสิ้นด้วยความเรียบร้อย หลังจากเวลาผ่านไป 30 ปี ปัจจุบันนี้การสร้างตึกเคมีไม่ยุ่งยากอีกต่อไป สถาปนิกรุ่นใหม่เข้าใจหลักวิชาดีขึ้น รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ในห้องปฏิบัติการก็มีรูปแบบที่ทันสมัย ง่ายต่อการติดตั้ง ไม่ต้องทุ่มเทความคิดเหนื่อยยากดังที่เป็นมาในอดีต ทั้งหลายทั้งปวงที่ได้เล่ามานี้ จึงเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา ที่ได้ฝากไว้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในยุคต้นๆ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา ยังมีเรื่องราวที่นำความภาคภูมิใจและประทับใจอีกหลายเรื่อง แต่ด้วยพื้นที่และเวลามีจำกัด ท่านจึงขอเล่าเรื่องสุดท้ายที่ท่านได้รับเกียรติสูงสุดในชีวิตคือ การได้รับมอบหมายจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ให้เป็นพระอาจารย์ที่ปรึกษาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชธิดาองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเข้าศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา กล่าวต่อไปว่า ท่านมีความภาคภูมิใจในงานสำคัญนี้มาก ที่ได้ถวายงานทูลกระหม่อมเล็ก โดยได้พยายามทำให้ดีที่สุดตลอดระยะเวลา 4 ปีที่พระองค์ทรงเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านได้ดูแลให้ทูลกระหม่อมเล็กทรงศึกษาตามหลักสูตรเคมีที่พระองค์ทรงเลือกเป็นวิชาเอก ได้ถวายคำแนะนำในการเรียนและการทำกิจกรรม อีกทั้งได้ทูลแนะแนวทางว่าเรียนอย่างไรจึงจะได้ผลดี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมากล่าวว่าท่านไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยมาก ทั้งนี้เพราะทูลกระหม่อมเล็กทรงมีพระสติปัญญาสูง ความจำดีมาก เข้าพระทัยง่ายต่อคำอธิบายในหลักวิชา ที่สำคัญคือ ทรงขยันมาก ดังนั้น ในฐานะพระอาจารย์ที่ปรึกษา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมาเพียงแต่พยายามค้นหาจุดเด่นต่างๆ และพยายามให้พระองค์ดึงเอาจุดเด่นเหล่านั้นออกมาใช้ จึงทำให้ผลการเรียนไปได้ดียิ่ง โดยทรงได้รับเหรียญรางวัลเรียนดีทุกปี และเมื่อทรงเรียนครบตามหลักสูตรปริญญาตรีแล้ว ทูลกระหม่อมเล็กทรงได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง และทรงสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมหิดลในเวลาต่อมา

เมื่อคณะวิทยาศาสตร์อักษรศาสตร์ ได้ตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2509 แผนกวิชาเคมีได้ถูกโอนมาสังกัดคณะใหม่ และปรับเปลี่ยนเป็นภาควิชาเคมี โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา เป็นหัวหน้าภาควิชาเช่นเดิม ใน พ.ศ. 2521 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ต่อมาได้มีการก่อตั้งคณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษได้ถูกโอนไปสังกัดคณะใหม่ คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะวิทยาศาสตร์ และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมาก็ยังคงดำรงตำแหน่งคณบดีต่อไปจนครบวาระ

ใน พ.ศ. 2523 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ เป็นอธิการบดี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องถึง พ.ศ. 2529 รักษาการอธิการบดีในระหว่างที่ยังไม่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่ ซึ่งสรรหาเรียบร้อยแล้ว อีกประมาณ 3-4 เดือน แม้จะดำรงตำแหน่งบริหารในฐานะหัวหน้าแผนกวิชา หัวหน้าภาควิชา คณบดี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และรักษาการอธิการบดีอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา ไม่เคยทอดทิ้งงานสอน ท่านยังคงรับผิดชอบงานสอนในภาควิชาเคมีเหมือนเดิม โดยเฉพาะวิชาเคมีชั้นปีที่ 1 เพราะท่านถือว่าวิชาพื้นฐานในชั้นปีที่ 1 สำคัญมาก ถ้านิสิตมีฐานดี มีหลักที่มั่นคงแล้ว จะสามารถเรียนวิชาที่สูงขึ้นไปได้อย่างไร้ปัญหา โดยจะสอนในช่วงเวลา 08.00-09.00 น. ทั้งนี้เพื่อจะได้มีเวลาทำงานบริหารได้เต็มที่อย่างมีประสิทธิภาพ

งานที่ภาคภูมิใจที่สุดอีกชิ้นหนึ่งคือ ตำราเคมีเล่มแรก พิมพ์ครั้งแรกในพ.ศ. 2515 โดยสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอลิขสิทธิ์ไปพิมพ์และทุกมหาวิทยาลัยจะใช้หนังสือเล่มนี้เป็นหลัก ด้วยมีการปรับปรุง และเพิ่มเติมเนื้อหาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่พิมพ์ จึงต้องแยกเป็น 2 เล่ม ปัจจุบันนี้พิมพ์เป็นครั้งที่ 14 แล้ว

นอกจากจะมีโอกาสร่วมทุกข์ ร่วมสุข กับผู้บริหารบุกเบิกก่อสร้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วยความเหนื่อยยากในยุคต้นๆ แล้ว ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา ยังได้ทุ่มเทให้กับงานสอน งานวิจัย งานวิชาการ ตลอดจนงานบริหารทุกระดับอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 จวบจนเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2530 เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานถึง 34 ปี และด้วยความรู้ ความสามารถอันสูงส่ง แม้เมื่อเกษียณอายุราชการไปแล้ว ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมายังได้รับเกียรติเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของทบวงมหาวิทยาลัย และกระทรวงศึกษาธิการ ที่สำคัญคือ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ด้วยการไปประชุมเดือนละ 3-4 ครั้ง ทุกเดือน จึงนับว่าศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมาได้ทำคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และแผ่นดินเกิดอย่างอเนกอนันต์ สมควรแก่การยกย่องอย่างยิ่ง

รางวัลชีวิตที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมาได้รับคือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ 3 (พ.ศ. 2527)
และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (พ.ศ. 2542)

ในด้านครอบครัวนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา สมรสกับนายวิสุทธิ์ ชุติมา (ปัจจุบันถึงแก่กรรม) มีบุตร 2 คน คนโตจบการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ทำงานเป็นล่ามแปลภาษาอังกฤษ แต่งงานแล้ว มีบุตรชาย 1 คน ส่วนคนที่สอง จบการศึกษาจากประเทศเยอรมัน ทำงานที่บริษัทรถยนต์ Mercedes Benz

ต่อคำถามสุดท้ายเกี่ยวกับผลดี ผลเสีย ในการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับในอนาคตอันใกล้นี้ ท่านตอบว่า ในหลักการโดยแท้แล้วดีมาก เพราะท่านได้เคยเป็นกรรมการที่ปรึกษาวิชาการร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุรนารี และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มาแล้ว ข้อดีอันดับแรกคือ จะสามารถบริหารเงินและงานได้อย่างอิสระ และคล่องตัวกว่าอยู่ในระบบราชการ และยังคงได้รับเงินก้อนอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นปกติ ที่สำคัญคือ จะสามารถคัดสรรคนเก่ง คนดี มีความรับผิดชอบสูงมาทำงานโดยได้รับเงินเดือนสูงกว่าการอิงระเบียบราชการ เขาเหล่านั้นจะได้ทุ่มเทให้กับงานและองค์กรอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ทำงานครึ่งวันที่มหาวิทยาลัย อีกครึ่งวันไปทำงานที่อื่นดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ข้อเสียคือ มหาวิทยาลัยอาจต้องหารายได้เพิ่มเติมสำหรับเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นและกิจกรรมบางอย่างที่จำเป็น ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของเราทำได้แน่นอน เพราะเรามีจุดเด่นทางสาขาเกษตรศาสตร์ จึงควรผลักดันจุดเด่นนี้ให้สูงขึ้นอย่างจริงจังเป็นเรื่องเป็นราวและมีประสิทธิภาพ ให้เป็นที่เชื่อถือทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และควรมีการผลักดันด้านอื่นๆ เสริมด้วย ตลอดจนควรมีการเรียนการสอนทางด้านแพทยศาสตร์และพยาบาลศาสตร์ ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ประกาศศยกย่องเชิดชู ให้ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กฤษณา ชุติมา" เป็น “เกษตราภิชาน” ประจำ ปี พ.ศ. 2565 เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะครบ 80 ปี ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566



Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University