ทำเนียบอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



ศาสตราจารย์ระพี สาคริก

รักษาราชการแทนอธิการบดี

6 พฤศจิกายน 2517 - 12 พฤษภาคม 2518


ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม 2465 ณ แขวงวรจักร อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย กลางใจเมืองกรุงเทพฯ เป็นบุตรคนโตของขุนตำรวจเอกพระมหาเทพกษัตริย์สมุห (เนื่อง สาคริก) กับนางสนิท ภมรสูต บิดารับราชการในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมรสกับนางสาวกัลยา มนตริวัต บุตรีพลตำรวจตรี ขุนพิชัยมนตรี อดีตหัวหน้าเสรีไทยค่ายกาญจนบุรี และรองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปราม มีบุตรชาย 3 คน หญิง 1 คน

ศาตราจารย์ระพีเป็นผู้ที่ได้รับการเลี้ยงดูเพื่อให้เติบโตขึ้นมาเป็น ลูกผู้ชาย แบบ คนรุ่นเก่า นิยมทำกันดังที่ท่านเล่าว่า

…พ่อผมเป็นคนที่เลี้ยงลูกไม่เหมือนใคร คือ พ่อแม่หลายคนลำบากมาแล้วไม่อยากให้ลูกลำบาก แต่พ่อคนนี้อยากให้ลูกลำบากเหมือนพ่อ พ่อใจแข็ง พ่อพูดว่าเพราะว่าเขาเป็นลูกคนโต เอาเขาไว้กับเราเขาจะไม่ดีเท่าที่ควร…

ด้วยเหตุนี้วัยเยาว์ของท่านจึงเป็นวัยที่ท่านต้องประสบความยากลำบากต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ต้องเปลี่ยนโรงเรียนไม่ต่ำกว่า 8 แห่ง เมื่อายุ 6-7 ขวบต้องเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล นับเป็นเด็กประจำที่เล็กที่สุดในโรงเรียน ไม่ได้พบบิดามารดาเลยตลอดเวลา 1 ปีเต็ม (ปัจจุบันทางโรงเรียนได้จารึกชื่อศาสตราจารย์ระพี สาคริกไว้ในฐานะศิษย์เก่าดีเด่นที่อาคารหอประชุมโรงเรียน) บางช่วงต้องทำงานหนักเพื่อตอบแทนผู้ให้ที่พักอาศัย และต้องอดทนต่อความขาดแคลนต่างๆ นานา ทำให้ท่านเป็นเด็กที่แกร่งเกินวัย ท่านอธิบายว่าการที่บิดาเลี้ยงท่านเช่นนั้นก็เพื่อให้ท่านได้ตระหนักว่าผู้เป็นบิดา ฝ่าฟันชีวิต มาอย่างไร และได้เล่าถึงบิดาด้วยความภาคภูมิใจว่า

…เมื่อครั้งที่พ่อรับใช้เบื้องพระยุคลบาทรัชกาลที่ 6 ถูกปรามาสว่าเป็นเด็กบ้านนอก แต่แล้วพ่อได้เป็นหัวหน้าชั้น และเป็นนักกีฬารักบี้ที่มีฝีมือยอดเยี่ยม และขึ้นมาเป็นหัวหน้านักเรียนวชิราวุธซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พ่อเป็นคนที่ภูมิใจในความเป็นคน ไม่เคยขออะไรจากในหลวง ไม่เคยขออะไรจากใคร พ่อมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมากทีเดียว…

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เป็นคนเรียนหนังสือเก่งและไม่หวงวิชา พร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่เพื่อนฝูงเสมอ และไม่เคยตั้งความหวังว่าจะต้องเรียนให้ได้เป็นที่ 1 เสมอ ในขณะที่ผลการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ดีมาก ท่านก็แบ่งเวลาสนุกกับศิลปะที่ท่านชื่นชอบ เช่น ดนตรี การวาดภาพ การปลูกต้นไม้ และทำสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ด้วย หลังจากจบจากโรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้ ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2484 แล้ว ศาสตราจารย์ระพีก็ได้โอนมาศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่กรุงเทพฯ นับเป็นนิสิตมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์รุ่นที่ 2 ท่านจบปริญญากสิกรรมและสัตวบาลบัณฑิต (กส.บ.) หลักสูตร 5 ปี เมื่อ พ.ศ. 2490 แล้วเลือกที่จะกลับไปทำงานเป็นนักวิจัยที่วิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้ ทั้ง ๆ ที่ …ที่นี่ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) มีอัตรา มีตำแหน่งพร้อม ผมไม่ได้ลังเลเลย ผมตอบว่าจะกลับไปอยู่แม่โจ้ เพราะว่าแม่โจ้สมัยก่อนนั้นเป็นโรงเรียนเตรียมของเกษตรศาสตร์ เพื่อนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดบอกกันว่าถ้าอั๊วเป็นนกจะไม่ขอบินผ่านแม่โจ้อีกเพราะแสนจะลำบาก เพราะว่าใครอยู่ที่นั่นไม่ได้เป็นไข้มาเลเรียไม่ถือว่าได้ประกาศนียบัตรแม่โจ้ หอพักมุงด้วยใบตองตึง ขึ้นไปมุงหลังคาเองทำอะไรทุกอย่างเอง …ผมเป็นคนสู้ พอจบปุ๊บผมสมัครไปที่นั่นอีก แต่อาจารย์ก็แสนจะดี บอกว่าเธอไปทำไมแสนจะลำบาก ไฟฟ้าก็ไม่มี น้ำประปาก็ไม่มี ไข้มาเลเรียก็ชุม ผมตอบทันทีเลยว่าผมไป อาจารย์บอกว่าถ้าเธอไปอยู่ที่นั่นเธอได้เพียงแค่ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวเหมือนคนงานไปทันทีเลย แต่ผมไป ผมรู้สึกว่าผมสบาย ผมอิสระ อิสระในที่นี้ไม่ได้ไปเหลวไหล คือทำในสิ่งที่ควรทำอะไรที่ทำไม่ได้ต้องทำให้ได้…
ในช่วง พ.ศ. 2490-2492 ขณะที่ทำงานอยู่ที่แม่โจ้ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เป็นผู้ริเริ่มนำวิชาการสถิติและการวางแผนวิจัยการเกษตรออกใช้ในงานสนามเป็นครั้งแรก

การศึกษาวิจัยเรื่องกล้วยไม้ก็เริ่มขึ้นอย่างจริงจังที่แม่โจ้ งานที่เติบโตเป็นสมบัติของชาติไทยโดยส่วนรวมนี้เริ่มด้วยทุนส่วนตัวกับเวลาว่างจากภารกิจประจำของ ลูกจ้างชั่วคราว หนุ่มไฟแรงคนหนึ่ง

เหตุจูงใจให้ท่านจับเรื่องกล้วยไม้ขึ้นมาศึกษาและพัฒนา คือความชื่นชมในความงามของดอกไม้ประเภทนี้ โดยเฉพาะที่เป็นพันธุ์พื้นเมือง ขึ้นตามป่าเขาที่ท่านเคยเห็นตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก ได้ติดตามบิดาไปตรวจราชการทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเกิดจากความปรารถนาที่จะทะลายกำแพงที่กั้นขวางมิให้ชาวบ้าน เข้าถึง กล้วยไม้ลงให้จงได้ ด้วยเหตุที่ในครั้งนั้นการเลี้ยงกล้วยไม้จำกัดวงอยู่แต่เฉพาะผู้มีอันจะกิน เนื่องจากกล้วยไม้ลูกผสมที่ เล่น และประกวดประขันกันต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งที่ท่านได้เห็นด้วยตาตนเองว่าส่วนหนึ่งของกล้วยไม้ลูกผสมที่นำเข้ามานั้นมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ซึ่งเก็บจากป่าในประเทศไทยเราเอง

พ.ศ. 2493 ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ย้ายเข้ามาประจำกรมกสิกรรมที่กรุงเทพฯ เพื่อทำงานปูพื้นฐานการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวของไทยตามความต้องการของหน่วยงาน ในขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์สอนวิชา ข้าว และ การวางแผนวิจัยและสถิติวิเคราะห์ทางชีววิทยา ให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย
งานค้นคว้าวิจัยด้านกล้วยไม้ด้วยใจรักก้าวหน้าคู่ขนานกันไปกับงานประจำ อีก 2 ปีต่อมา ท่านได้เผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนโดยมีสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหมซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ช่องแรกของประเทศไทย สถานีวิทยุกระจายเสียง และสิ่งพิมพ์เป็นสื่อ เป็นการริเริ่มการพัฒนาวงการกล้วยไม้ของไทยซึ่งเป็นแนวทางสู่การสร้างประโยชน์ทางธุรกิจจากกล้วยไม้ อันเป็นการทวนกระแสค่านิยมเก่า และเมื่อมีการตั้งกรมการข้าวในช่วง พ.ศ. 2496 โรงสีทดลองของแผนกการโรงสี กรมการข้าว ที่ท่านเป็นหัวหน้าอยู่ก็กลายเป็นสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ให้การเรียนการสอน การส่งเสริมและฝึกอบรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวคือห้องปฏิบัติการตรวจคุณภาพข้าวห้องแรกถูกใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมและทำวิทยานิพนธ์ของนิสิต พื้นที่ด้านหลังโรงสีก็ได้ถูกปรับสร้างเรือนต้นไม้ไว้ให้นิสิตที่มีใจรักได้ทดลองปลูกกล้วยไม้ในยามว่าง

ในช่วงเวลาประมาณ 10 ปีเศษ ผลงานด้านกล้วยไม้ของศาสตราจารย์ระพี สาคริกได้รับการเผยแพร่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางถึงระดับนานาชาติ นับแต่ พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา ท่านได้รับเชิญให้เป็นผู้บรรยายทางวิชาการในที่ประชุมกล้วยไม้โลกทุกครั้งสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ดุจดังเป็นประเพณีของเวทีแห่งนั้น

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก โอนย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำที่ภาควิชาพืชสวน ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นในคณะกสิกรรมและสัตวบาล (คณะเกษตร) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2503 และ พ.ศ. 2513 ท่านได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดในด้านวิชาการก่อนที่จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อ พ.ศ. 2513 โดยมิได้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์มาก่อน ท่านได้ปฏิบัติงานบริหารระดับสูงหลายตำแหน่ง ได้แก่ เลขาธิการมหาวิทยาลัย รองอธิการบดีฝ่ายธุรการ และอธิการบดี (พ.ศ.2518 - 2523) ทำให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีโอกาสร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานกล้วยไม้โลกครั้งแรกของเมืองไทยเมื่อปี 2521 เมื่อสิ้นสุดวาระอธิการบดีแล้วท่านได้รับทาบทามให้เป็นประธานสภาข้าราชการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีส่วนในการจัดตั้งองค์กรที่พัฒนามาเป็น ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน


นอกจากนั้นท่านยังเป็นสมาชิกก่อตั้งและนักดนตรีวงดนตรี เคยู แบนด์ ท่านฟื้นความหลังส่วนนี้ด้วยความปีติว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริท่านมีพระเมตตาให้เข้าไปร่วมวงดนตรีรับใช้เบื้องพระยุคลบาท ทุกวันศุกร์ ซึ่งหมายถึงการร่วมบรรเลงดนตรีกับวง อ.ส. ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส. ช่วง พ.ศ. 2495 และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรี ณ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ (ช่วง พ.ศ. 2506 - 2524) …ท่านก็ทำหน้าที่เป็นโฆษกหน้าพระที่นั่งโดยตลอด

เมื่อ พ.ศ. 2522 ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้รับเชิญให้ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสมัยนั้นพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ลาออกจากราชการก่อนกำหนดเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ. 2525

…ผมออกจากราชการก่อนเกษียณ ไม่ใช่รังเกียจมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผมอยากจะลงพื้นดินให้ลึกซึ้งยิ่งกว่าเก่า แล้วบอกว่ามหาวิทยาลัยมีอะไรใช้มาเถอะ ผมเต็มใจ เพราะผมเกิดที่นี่ ผมต้องตายที่นี่ อย่างที่ผมพูดไว้กับช่อง 11 (หลังจากที่ได้ทำรายการศาลาริมสวนมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ช่อง 9 และต่อมาเป็นช่อง 11 โดยไม่รับค่าตอบแทน) ว่าถ้าผมออกจากที่นี่แล้วคนอื่นซื้อตัวผมไม่ได้หรอก กี่สิบกี่ร้อยกี่พันล้านก็ไม่ได้ คนเราผ่านด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นคน อันนี้ต่างหากที่เราควรจะภูมิใจ ไม่ใช่ภูมิใจที่ได้เครื่องประดับ ไม่ใช่เพราะเป็นรัฐมนตรีแล้วมาแสดงความยินดี เรามีความยินดีและความภูมิใจในตัวของเราเอง ที่เราไม่ถูกสังคมกลืน ไม่ต้องไปเป็นทาสรับใช้คนอื่น นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด และอยากเห็นการศึกษาของเราเป็นอย่างนี้…

ตลอดช่วงเวลา 22 ปีที่ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกเหนือจากการทำหน้าที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาการแก่นิสิตแล้ว ท่านยังปลูกฝังทัศนะอันงดงามต่อโลกและชีวิตแก่ลูกศิษย์ด้วยการประพฤติปฏิบัติตนเป็นคน ติดดิน ตามวัฒนธรรมเกษตรไทยอีกด้วย

…ผมนำลูกศิษย์ลงพื้นดินทั้งนั้น ไม่ค่อยได้สอนด้วยปากหรอก…วัฒนธรรมไทยจริง ๆ ไม่ใช่การแต่งชุดไทย ไม่ใช่การรำละครไทย ไม่ใช่เล่นดนตรีไทย นั่นเปลือก วัฒนธรรมไทยจริงๆ คือวิญญานความเป็นไทแก่ตัว รักพื้นดินถิ่นเกิด เห็นคุณค่าของพื้นดิน สิ่งสำคัญที่สุดเวลานี้เราทำอะไรก็ตามน้อยคนที่จะนึกถึงแผ่นดินไทย…ผมคิดว่าชีวิตผมเท่าที่ผ่านมาแล้ว วิญญาณผมอยู่กับผืนดิน วิญญาณผมอยู่กับชนบท วิญญาณผมอยู่กับชนรุ่นหลัง…

ท่านมีความเห็นว่า

…การเกษตรไม่ใช่อาชีพ เรามองตื้นเขินเกินไป การเกษตรเป็นวัฒนธรรม เป็นชีวิต ผมพูดอยู่เสมอว่าทุกสาขา ถ้าคิดตรงนี้ได้ ไม่แบ่งก๊กแบ่งพวก ขีดเส้นแบ่งภาควิชาแบ่งคณะแบ่งอะไรกัน มันเป็นเส้นในใจกันทั้งนั้น มันไม่ใช่เส้นจริงเลย คือเส้นกิเลส ความจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นหมวดเป็นอะไรก็แล้วแต่ ศาสตร์แขนงไหนต้องพึ่งพื้นดิน เมื่อพึ่งพื้นดินแล้วเกษตรอยู่ได้ ทำหน้าที่สาขาไหนก็แล้วแต่ มันมาพบเป็นหนึ่งเดียวกันในพื้นดิน นั่นแหละเป็นการเกษตรของไทยที่แท้จริง นี่เป็นจุดสำคัญจริง ๆ และมันทำให้การศึกษาไทยทุกวันลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นหลังนี่ลำบากมากที่สุด และคนยากคนจน คนด้อยโอกาส…ครูบาอาจารย์ทำอะไรก็ได้ถ้าสามารถที่จะพัฒนาคนรุ่นหลังขึ้นมาให้เขามีความภูมิใจในความเป็นคน และก็มั่นคงอยู่ได้ตลอดชีวิต…เรื่องอื่นเป็นเรืองปรุงแต่งทั้งนั้น ไม่ใช่ของจริง ของจริงอยู่ที่ใจของเราเอง

เมื่อลาออกจากราชการแล้ว ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้ปวารณาตนที่จะทำงานให้เฉพาะองค์กรการศึกษาและสาธารณกุศลเท่านั้น ตำแหน่งที่รับทำงานให้ยาวนานที่สุดคือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของทบวงมหาวิทยาลัยวาระละ 2 ปี 4 วาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งสภามหามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อย่างไรก็ตามเมื่อถึง พ.ศ. 2533 ท่านได้ประกาศลาออกหมดทุกแห่ง หลังจากนั้นมาท่านจะรับเชิญเข้าร่วมกิจกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในด้านการสัมมนา การประชุมทางวิชาการ การบรรยายพิเศษ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาชนบทและเยาวชนที่เน้นคุณธรรมจริยธรรมและการพึ่งพาตนเองตามแนวทางเดียวกันกับที่ท่านถือปฏิบัติอย่างมั่นคงมาตลอดชีวิต

คุณูปการของศาสตราจารย์ระพี สาคริกต่อวงการกล้วยไม้เป็นที่ตระหนักแก่สาธารณชนดังคณะกรรมการจัดตั้งห้องสมุดกล้วยไม้ ระพี สาคริก กล่าวไว้ในคำนำหนังสือที่จัดพิมพ์ในพิธีเปิดห้องสมุดกล้วยไม้ระพี สาคริก ณ หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2536 ว่า

…ความเจริญก้าวหน้าในวงการกล้วยไม้ของไทย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวิชาการหรือทางด้านเศรษฐกิจก็ตาม ส่วนใหญ่นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทุ่มเทค้นคว้าทดลอง ส่งเสริม และเผยแพร่ผลงานวิจัยออกไปสู่สาธารณชนด้วยความรัก และทุ่มเททั้งชีวิตและจิตใจของนักวิชาการคนหนึ่ง ได้แก่ศาสตราจารย์ระพี สาคริก จนชื่อเสียงของท่านเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปในวงการกล้วยไม้ทั้งไทยและต่างประเทศทั่วโลก เป็นภาพพจน์ด้านกล้วยไม้ของเมืองไทยตลอดมาหลายทศวรรษ

ท่านเคยกล่าวถึงความสำเร็จประการนี้ไว้อย่างถ่อมตนว่า …ที่จริงผมเรียนทางปฐพีวิทยา ศึกษาเรื่องดิน การที่มาเอาดีเรื่องกล้วยไม้นี้ก็เห็นจะเข้าหลักอิทธิบาท 4 ทำด้วยใจรัก ทำจริง เอาใจใส่ และพิจารณา ผมถือว่าผมเรียนชีวิตจากโรงเรียนกล้วยไม้ และยังเชื่อว่าใครอยู่โรงเรียนไหน ตั้งใจจริง ศึกษาพิจารณาจริงๆ เราจะไปถึงจุดเดียวกันได้หมด…

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เป็น นักกล้วยไม้ ซึ่งแตกต่างกับผู้นิยมกล้วยไม้หรือผู้ค้ากล้วยไม้ที่พบได้ดาดดื่น ท่านกล่าวว่า …ประโยชน์อันเป็นที่สุดของกล้วยไม้ไม่ว่าจะเพื่อการใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการค้า ในที่สุดก็มุ่งไปสู่ประโยชน์ทางการศึกษาและจิตใจ ผู้ประกอบธุรกิจการค้ากล้วยไม้จึงจำเป็นจะต้องคำนึงถึงประโยชน์พื้นฐานดังกล่าวนี้เป็นสำคัญ เพื่อการผลิตและการประกอบการที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง
ที่สำคัญที่สุด ในการประชุมทางวิชาการ Japan Flora ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2543 ท่านได้กล่าวถึงความเป็น นักกล้วยไม้ ของท่านไว้อย่างน่าจับใจในตอนหนึ่งของสุนทรพจน์เรื่องมนุษย์กับธรรมชาติว่า

…มนุษย์ควรมี 2 สิ่งนี้ หนึ่ง ความเป็นตัวของตัวเอง สอง ความมีศิลปะอยู่ในวิญญาณ เห็นความสำคัญของเพื่อนมนุษย์ไม่คิดไปทำร้ายใคร ไม่คิดไปว่าใคร ใครๆ เขาว่าผมเป็นนักกล้วยไม้ ผมยอมรับว่าผมเป็นนักกล้วยไม้ ผมได้เพาะกล้วยไม้เมล็ดแรกลงบนผืนแผ่นดินผืนนี้ตั้งแต่ยังพอจำความได้ แล้วก็มุ่งมั่นรดน้ำบำรุงรักษาจนกระทั่งเขาเจริญเติบโตขึ้นมามีดอกสวยงามให้คนเขาชื่นชมสมใจ ขยายออกไปอย่างเป็นธรรมชาติจนกระทั่งทั่วโลก แต่ว่าไม่ใช่พันธุ์กล้วยไม้ที่คนมองเห็น พันธุ์เหล่านั้นดอกมันบานแล้วก็โรยไป แต่กล้วยไม้พันธุ์นี้นอกจากจะอยู่เป็นอมตะแล้วยังถ่ายทอดสู่ชนรุ่นหลังได้ด้วย ผมตั้งชื่อกล้วยไม้พันธุ์นี้ว่าความรักในเพื่อนมนุษย์ …

นอกเหนือไปจากผลงานด้านวิชาการกล้วยไม้แล้ว ทัศนะอันกว้างขวาง ลึกซึ้ง ทันการณ์ต่อชีวิตและโลกของศาสตราจารย์ระพีได้รับการเรียบเรียงเป็นบทความ รวมตีพิมพ์เป็นเล่มแล้วไม่น้อยกว่า 10 เล่ม บางเล่มมีผู้ขอตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง เช่น เพียงข้าวเมล็ดเดียว หอมกลิ่นกล้วยไม้ แด่วิญญาณครูที่ฉันรักยิ่งชีวิต วิญญาณใต้ร่มนนทรี เกษตรกรที่รัก เขียนจากใจ บันทึกประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เป็นต้น
ด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิอันถึงพร้อม ศาสตราจารย์ระพี สาคริก จึงได้รับยกย่องจากวงการสื่อมวลชนเป็น ราษฎรอาวุโส หนึ่งในสี่ท่าน (อีกสามท่าน คือ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์อคิน ระพีพัฒน์ และศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี) ที่สังคมไทยช่วงหลัง 50 ปีประชาธิปไตยยึดเป็นหลัก น้อมรับฟังความคิด ความเห็นด้วยความเคารพอย่างสนิทใจ ในขณะเดียวกันไม่ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยไปนานเท่าไร ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เป็น อาจารย์ คุณพ่อ และ คุณปู่ ของศิษยานุศิษย์ที่พร้อมจะชี้ทางสว่างไสวและคลี่คลายปัญหาให้ด้วยเมตตาธรรมไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 สิริอายุได้ 95 ปี



Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University