-->
อาจารย์กวี วิสุทธารมณ์
รักษาราชการแทนอธิการบดี
1 พฤศจิกายน 2510 - 20 พฤศจิกายน 2510
อาจารย์กวี วิสุทธารมณ์ เป็นบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งในการก่อตั้งและพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ทำงานเพื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ก่อประโยชน์ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นานัปการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกเพื่อก่อตั้งวิทยาเขตกำแพงแสน
อาจารย์กวี วิสุทธารมณ์ เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2452 ที่ตำบลบ้านดอน (เทพกษัตริย์) อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายขำ นางแหมะ วิสุทธารมณ์ เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย บิดามารดามีอาชีพกสิกรรม และเป็นแพทย์แผนโบราณประจำตำบล
เดิมบิดามารดาใช้สกุล กันภัย ต่อมานายกองพี่ชายได้ขอเปลี่ยนนามสกุลจาก กันภัย มาเป็นวิสุทธารมณ์ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2482 และพี่น้องทุกคนได้เปลี่ยนตามตั้งแต่นั้นมา
อาจารย์กวี วิสุทธารมณ์ ได้สมรสเมื่อ พ.ศ. 2472 กับคุณเจียน เมตตาจิตต์ บุตรีของ ขุนปราณีนรกรรม์ กับนางเนื่อง เมตตาจิตต์
การศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนประจำมณฑลภูเก็ต สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2467 แล้วบวชเป็นเณร
พ.ศ. 2468 ได้รับทุนมณฑลมาเรียนหลักสูตรประโยคครูประถมกสิกรรม (ป.ป.ก.) ที่บางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาพร้อมกับนักเรียนทุนอีกคนหนึ่งชื่อ ร่าน รักเจริญ ได้เบี้ยเลี้ยงวันละ15 บาท เมื่อได้รับทุนศึกษาก็สึกจากเณรเดินทางมา ทันที ถึงสถานีบางสะพานใหญ่ นายพรหม ท้าวสัน กับนายทิม หาญกล้า นักเรียนปีที่ 1 ซึ่งเดินทางมาถึงก่อน ขับเกวียนมารับ พอเห็นศีรษะโล้นก็ล้อว่า มหา และเรียก มหากวง เรื่อยตลอดมา พอไปถึงโรงเรียนก็ไปรายงานตัวต่อท่านเจ้าคุณอาจารย์ใหญ่ (พระยาเทพศาสตรสถิตย์) ขณะนั้นท่านนุ่งกางเกงขาก๊วยกำลังดายหญ้าที่ลานหน้าบ้าน
พ.ศ. 2469 โรงเรียนย้ายมาทับกวาง จังหวัดสระบุรี แรก ๆ นั่งเรียนหนังสือใต้ต้นไม้ สิ้นปีสอบได้ ป.ป.ก. ระหว่างเรียนมีความประทับใจข้อความตอนหนึ่งในหนังสือหลักการสอนวิชาทำสวน (เจ้าคุณอาจารย์ใหญ่พิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นคู่มือนักเรียน) ซึ่งท่านเจ้าคุณเน้นว่า นักเรียน ป.ป.ก. ที่สำเร็จออกไปเป็นครูสอนเด็ก ต้องยึดเป็นหลักไว้ในใจว่า จะต้องพยายามปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวชาวกสิกรให้ดีขึ้นสูงขึ้น ให้กินดีอยู่ดี แต่มิใช่ฟุ่มเฟือย
หลังจากจบการศึกษาที่ทับกวาง ได้วุฒิ ป.ป.ก. ใน พ.ศ. 2470 แล้วท่านได้เข้ารับราชการ โดยเป็นครูน้อย ประจำโรงเรียนมณฑลภูเก็ต หรือโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย สังกัดกระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2475 ย้ายไปเป็นครูน้อยโรงเรียนฝึกหัดครูมูล มณฑลภูเก็ต (กระทรวงธรรมการ) และ พ.ศ.2478 ย้ายไปเป็นครูน้อยโรงเรียนฝึกหัดครูมูลกสิกรรม จังหวัดเพชรบุรี
แต่ด้วยท่านเป็นผู้ใฝ่รู้ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา ใน พ.ศ. 2478 ท่านสอบได้ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยมกสิกรรม (ป.ม.ก.) และได้รับปริญญาตรีธรรมศาสตรบัณฑิต (ธ.บ) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) ใน พ.ศ. 2496
อาจารย์กวี วิสุทธารมณ์ เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใน พ.ศ. 2480 โดยเป็นครูตรี ที่โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดกระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2481 เป็นครูตรีโรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดกองวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมเกษตรและการประมง กระทรวงเกษตราธิการ หลังจากนั้นได้ไปช่วยราชการกองสถานีทดลอง กรมเกษตร อีก 2 ปี จนกระทั่ง พ.ศ.2484 จึงได้เป็นครูตรีประจำวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้ปกครองนิสิตด้วย ช่วงเวลาที่เป็นอาจารย์ประจำที่วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สังกัดกระทรวงเกษตราธิการนี้เอง ท่านได้ร่วมกับบรรดาคณาจารย์อีกหลาย ๆ ท่าน ช่วยกันก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสามารถก่อตั้งได้เรียบร้อยใน พ.ศ.2486 (ยังสังกัดกระทรวงเกษตราธิการ)
พ.ศ. 2486 อาจารย์กวี วิสุทธารมณ์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกสารบรรณ สำนักงานเลขาธิการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงเกษตราธิการ และทำหน้าที่เป็นอาจารย์ดูแลปกครองนิสิต ดังนั้น นิสิตตั้งแต่รุ่นแรกๆ ของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงรู้จักและคุ้นเคยกับอาจารย์กวี วิสุทธารมณ์ มากเป็นพิเศษ
ใน พ.ศ. 2495 ท่านได้ดำรงตำแหน่งรักษาราชการในตำแหน่งเลขาธิการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แทนเลขาธิการ ซึ่งลาไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันก็รักษาการในตำแหน่งเลขานุการกรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ดูแลปกครองนิสิตเช่นเดิม
ชีวิตราชการของอาจารย์กวี วิสุทธารมณ์ เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ โดยใน พ.ศ. 2496 ได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์เอก คณะเกษตรศาสตร์ ในขณะเดียวกันก็ยังดำรงตำแหน่งรักษาราชการในตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และตำแหน่งเลขานุการกรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เช่นเดิม จนถึง พ.ศ. 2501 จึงได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง
จนกระทั่ง พ.ศ. 2504 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปลี่ยนสังกัดจากกระทรวงเกษตร มาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี อาจารย์กวี วิสุทธารมณ์ ได้ดำรงตำแหน่งเลขานุการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทำหน้าที่ดูแลปกครองนิสิตด้วย พ.ศ. 2506 ได้เลื่อนเป็นข้าราชการสามัญชั้นพิเศษอันดับ 1 และดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายปกครองและสวัสดิการ และได้ดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นระยะเวลาสั้นๆ คือ ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2510
เหตุการณ์สำคัญในช่วงที่อาจารย์กวี วิสุทธารมณ์ ใกล้จะเกษียณอายุราชการ ที่ควรบันทึกไว้คือ เมื่อ พ.ศ.2509 ด้วยความดำริชอบของ ม.ล. ชูชาติ กำภู อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในขณะนั้น เล็งเห็นว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่บางเขน ซึ่งต้องมีการแบ่งเนื้อที่ให้กระทรวงเกษตร จึงทำให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คับแคบ ไม่สามารถจะขยายอีกได้เพื่อรองรับนิสิตที่จะเพิ่มขึ้น และไม่มีสถานที่สำหรับฝึกนิสิต อธิการบดีจึงได้ดำริที่จะขยายมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปเปิดวิทยาเขตแห่งใหม่ ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นที่บริเวณในพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเวนคืนของกรมชลประทาน
ม.ล. ชูชาติ กำภู อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ตั้งคณะกรรมการเวนคืน และจัดซื้อที่ดินที่วิทยาเขตกำแพงแสนขึ้น โดยมี อาจารย์กวี วิสุทธารมณ์ เป็นประธาน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการจัดซื้อที่ดินกรมชลประทาน เป็นกรรมการ ที่ดินจังหวัดนครปฐม เป็นกรรมการ และ นายชาญชัย ณ ป้อมเพ็ชร เป็นกรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการได้ทำการจัดการเวนคืนและจัดซื้อที่ดินได้ประมาณ 8,000 ไร่ สร้างเป็นวิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อการขยายมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะได้รับนิสิตเพิ่มขึ้นได้ โดยอาจารย์กวี วิสุทธารมณ์ ได้ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2509 ถึง พ.ศ. 2511 ต่อจากนั้นท่านก็เกษียณอายุราชการ
จะเห็นได้ว่าตลอดชีวิตราชการของท่าน ได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตลอดมา
อาจารย์กวี วิสุทธารมณ์ ได้เข้ารักษาตัวอยู่ ณ โรงพยาบาลราชวิถีจนถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2533 สิริอายุได้ 81 ปี 10 เดือน 7 วัน