ทำเนียบอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์




ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์


อธิการบดี

8 มิถุนายน 2525 - 7 มิถุนายน 2527

8 มิถุนายน 2527 - 7 มิถุนายน 2529


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ อธิการบดี ผู้ใช้คุณธรรมนำทางชีวิต เกิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2475 ที่ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรขุนวิเศษดรุณกิจ (เรือง) และนางทองเจือ ปรีชานนท์ เนื่องจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ ต้องตามบิดาซึ่งย้ายไปรับราชการในจังหวัดต่างๆ ทำให้มีโอกาสเรียนหลายแห่ง ทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา สรุปย่อๆ คือ พ.ศ. 2485-2488โรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชั้นมัธยมปีที่ 4 พ.ศ. 2488-2490โรงเรียนประจำจังหวัดสุพรรณบุรี ชั้นมัธยมปีที่ 6 พ.ศ. 2490-2492 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เตรียมอุดมศึกษา พ.ศ. 2492-2495 วิทยาลัยวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับอนุปริญญาวิชาวนศาสตร์ พ.ศ. 2498-2500 College of Forestry University of the Philippines at Los Banos ปริญญาตรีในวิชาวนศาสตร์ พ.ศ. 2501-2503 School of Forestry, Oregon State College ปริญญาโท (Master of Science of Forest Product) พ.ศ. 2505-2509 State University of New York, College of Forestry, Syracuse University, USA. ได้รับปริญญา Ph.D. ทาง Wood Physics ด้วยทุนRockefeller Foundation พ.ศ. 2526-2527 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 26
เมื่อสำเร็จอนุปริญญา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้นอยู่ที่จังหวัดแพร่ ได้ไปเป็นลูกจ้างกรมป่าไม้ 1 ปี และเป็นข้าราชการ 2 ปี จึงไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่ประเทศฟิลิปปินส์ด้วยทุนส่วนตัว แล้วกลับมารับราชการกรมป่าไม้ และโอนมาปฏิบัติราชการเป็นอาจารย์ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2501 ด้วยเหตุผลที่อยากสอน และรู้สึกว่าตนเองอยากเรียนรู้ต่อ ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ต้องการจะเรียนต่อในระดับปริญญาโท-เอก คิดว่าตนเองเรียนได้ กอปรกับครอบครัวของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ ทั้งบิดา มารดา น้า อา เป็นครู แม้แต่น้องซึ่งสำเร็จด้านแพทยศาสตร์ก็เป็นครูในเวลาต่อมา

ชีวิตระหว่างรับราชการเป็นอาจารย์ในคณะวนศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์มีงานสอนเป็นหลัก ในสมัยนั้นทุนวิจัยมีน้อย ถ้าทำวิจัยจะแย่งรุ่นน้อง ทำให้ไม่มีงานวิจัย เมื่อเป็นคณบดีเริ่มมีทุนวิจัยบ้าง แต่เมื่อรับผิดชอบงานบริหารแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ได้อุทิศตนทำงานอย่างเต็มที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์คิดว่าหากจะต้องทำงานบริหารและงานวิจัยควบคู่กันไปคงไม่ได้มาตรฐานที่ดี เกรงว่าส่วนรวมจะเสียหายได้ จึงตัดสินใจทุ่มเทกับงานบริหารร้อยเปอร์เซนต์ การเป็นคณบดีต้องรับผิดชอบงานบริหาร เวลามีปัญหาส่วนรวมแล้วรอไม่ได้ ยิ่งเป็นอธิการบดี ยิ่งมีปัญหามาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์กล่าวว่า ไม่เคยคิด ไม่เคยสนใจเป็นคณบดี อธิการบดี เพราะไม่ใช่ทางแห่งความสุข

ปรัชญาในการทำงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ ย้อนความหลังว่า ตั้งแต่เป็นเด็กมา คิดเสมอว่า ถ้าเราทำดี บิดามารดาจะมีความสุข ทุกครั้งที่คิดว่าจะทำไม่ดีหรือมีโอกาสที่จะไปทำไม่ดีกับเพื่อนฝูงที่ไหนก็ตาม มีความรู้สึกทันทีว่าอย่างนี้พ่อแม่ต้องเสียใจ ก็จะไม่ทำอย่างนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์คิดอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กๆ

ในการครองตน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ยึดถือความถูกต้องในการดำเนินชีวิตตลอดมา คุณสมบัตินี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์เล่าว่าเพราะได้ครูดีจึงระลึกถึงพระคุณครูจนซึมซับไปในทางดีโดยอัตโนมัติ

ในฐานะผู้บริหาร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ยึดหลักการทำงานให้สถาบัน ไม่ได้ทำให้ตัวเอง ทำเพื่อให้ ไม่ใช่ทำเพื่อรับหรืออยากได้ เพราะผู้คนให้ความไว้วางใจ ให้ความสำคัญ หากทำอะไรพลาด หมู่คณะจะเสียหายไปด้วย

ความภาคภูมิใจในชีวิตการทำงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ มีความเห็นว่า เมื่อรับตำแหน่งเป็นผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นคณบดี หรืออธิการบดี จะได้รับความร่วมมืออย่างดีจากบุคลากรในมหาวิทยาลัยหรือผู้เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือจนงานลุล่วงด้วยดี สิ่งที่ภูมิใจคือความรักใคร่สามัคคีของชาวเกษตร แต่มีบางครั้งก็รู้สึกว่าเรารักกันน้อยไป ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์พยายามทบทวนว่ามหาวิทยาลัยควรมีอะไรเพื่อเชื่อมความรักความสามัคคีและความภาคภูมิใจ สิ่งที่คิดขึ้นได้เมื่อรับตำแหน่งอธิการบดีคือ อยากให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาในมหาวิทยาลัยเพื่อพระราชทานปริญญาแก่นิสิตที่จบการศึกษาในแต่ละปี หลังจากที่พระองค์ไม่ได้เสด็จมาหลายปี เนื่องจากหอประชุมจุบัณฑิตได้เพียง 720 คน แต่จำนวนบัณฑิตเพิ่มขึ้นทุกปี จำเป็นต้องไปใช้สวนอัมพรเป็นที่พระราชทานปริญญากว่า 10 ปี ความภาคภูมิใจแรกคือ การขอสนับสนุนจากรัฐบาล ของบประมาณสร้างอาคารอเนกประสงค์ (อาคารจักรพันธุ์) ได้สำเร็จ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์อยากให้อาคารนี้เป็นเอกลักษณ์ เป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่จะใช้ในกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อใช้เป็นสถานที่พระราชทานปริญญาแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์เล่าให้ฟังว่า อาคารอเนกประสงค์สร้างขึ้นมาด้วยความยากลำบาก เพราะงบประมาณที่ได้รับจำกัดมาก เนื่องจากรัฐบาลลดค่าเงินบาท กลุ่มโอเปคขึ้นราคาน้ำมัน ทำให้ของแพงขึ้นมาก สิ่งก่อสร้างแทบจะต้องระงับไปหมด ในขณะเดียวกันความช่วยเหลือจากต่างประเทศหรือองค์กรเอกชน เช่น มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ที่เคยให้ทุนก็งด องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เคยให้เงินสนับสนุนมหาวิทยาลัยก็งดให้ แต่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ก็ยังมีความหวังและความพยายามที่จะได้อาคารส่วนกลาง 1 หลัง เพื่อใช้ในพิธีพระราชทานปริญญา เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย อยากให้นิสิตได้ภาคภูมิใจในบรรยากาศของมหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ได้ขอความร่วมมือจากคณะต่างๆ ขอให้ร่วมมือกันเพื่อส่วนรวม ในท้ายสุดจึงได้งบประมาณ 24,800,000.00 บาท เพื่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ โดยมีผู้บริหารระดับรองอธิการบดีหลายท่าน และผู้เกี่ยวข้องมากมายซึ่งไม่สามารถเอ่ยนามให้ครบถ้วนได้ ช่วยกันวางแผนที่จะสร้างอาคารอเนกประสงค์ โดยวางวัตถุประสงค์ว่าต้องการอาคารที่ใหญ่ที่สุดเพื่อทำกิจกรรมทุกอย่าง เช่น ประชุม เล่นกีฬา ดนตรี แสดงนิทรรศการ โดยเชิญอาจารย์ฐานิศวร์ เจริญพงศ์ ซึ่งเป็นสถาปนิก ขณะนั้นสังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ช่วยออกแบบ ซึ่งอาจารย์ฐานิศวร์ เจริญพงศ์ สามารถออกแบบครอบคลุมวัตถุประสงค์ตามต้องการ คือเป็นอาคารที่ใหญ่มาก มีพื้นที่ใช้สอย 2 ชั้น มีเวทีที่ใช้ประโยชน์เพื่อรับปริญญาหรือกิจกรรมอื่นๆ ก่อนจะออกแบบ ได้มีการไปศึกษาอาคารของมหาวิทยาลัยบางแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดลที่ศาลายาเพื่อศึกษาข้อดี ข้อเสีย จนกระทั่งสามารถออกแบบอาคารจักรพันธ์ฯ ได้ตามความประสงค์ เนื่องจากอาคารจักรพันธ์ฯ เป็นอาคารเอนกประสงค์จึงมีสถาปนิกและวิศวกรหลายท่านร่วมรับผิดชอบ สถาปนิกทั้งชุด ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทองพันธุ์ พูนสุวรรณ อาจารย์ ดร. ฐานิศวร์ เจริญพงศ์ และอาจารย์สถาพร ประดิษพงษ์ วิศวกร ได้แก่ รศ. จิรพัฒน์ โชติกไกร อาจารย์ปราโมทย์ ศรีสุขสันต์ และอาจารย์นนทวัฒน์ จันทร์เจริญ(อาจารย์ ดร. ฐานิศวร์ เจริญพงศ์ ได้โอนไปปฏิบัติราชการที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสมัยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ เป็นอธิการบดี เพราะขณะนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังไม่มีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ งานของอาจารย์ ดร. ฐานิศวร์ เจริญพงศ์ หนักไปทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์)
การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม ในช่วงที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี (ระหว่าง พ.ศ. 2525-2529) เป็นระยะที่รัฐบาลลดค่าเงินบาท ขาดงบประมาณด้านต่างๆ ดังนั้นการดำเนินการเรื่องใดๆ จึงต้องขอความร่วมมือจากคณาจารย์และนิสิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์เล่าอย่างถ่อมตนว่าไม่ได้คิดอะไรคนเดียว งานหลายอย่างมีอาจารย์ช่วยคิด นิสิตช่วยดำเนินการต่อ เช่น การลอกผักตบชวาซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำทุกปี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์แนะนำให้นิสิตใช้คลองให้เป็นประโยชน์โดยการเลี้ยงปลาหลังจากลอกผักตบชวาแล้ว ในช่วงนั้น ได้มอบหมายให้นิสิตคณะประมงและคณะวนศาสตร์โดยมีนิสิตบางคณะร่วมด้วย ช่วยกันยกกองผักตบชวาทิ้งให้เรียบร้อย แล้วมอบหมายให้นิสิตคณะประมงเลี้ยงปลาในคลอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ได้แนะนำให้นิสิตทำโครงการใหม่ๆ ซึ่งในเวลาต่อมานิสิตได้ตั้งชมรมแหล่งน้ำเพื่อการพัฒนา เมื่อเลี้ยงปลาก็ให้นิสิตจับปลาขายได้ มีรายได้เพื่อทำประโยชน์อื่นต่อไป มีการใช้พื้นที่ดินซึ่งว่างปลูกผักขาย โดยนิสิตทุกคนช่วยกันทำงาน เมื่อทำงานระยะหนึ่ง นิสิตแจ้งว่าต้องการเรือเพื่อไปเก็บผักตบชวา หรือต้องการเครื่องสูบน้ำเพื่อรดแปลงผัก ในที่สุดก็ได้เงินทุนคืน นิสิตก็ได้รับค่าจ้างเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ นอกจากนั้นยังมีชมรมชาวตึก ชาวหอ มีหน้าที่ซ่อมแซมหอ ดูแลการซ่อมต่างๆ เช่น ซ่อมมุ้งลวด น้ำรั่ว กิจกรรมดังกล่าวมีอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นผู้ดูแลควบคุม ในช่วงที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์เป็นอธิการบดีนั้น การพัฒนาบริเวณมหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมือจากอาจารย์และนิสิตเป็นอย่างดียิ่ง การที่นิสิตร่วมกิจกรรมครั้งนั้น ได้ส่งผลให้นิสิตบางคนเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถนำความรู้และประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานจนประสบความสำเร็จในงานที่รับผิดชอบเป็นอย่างดียิ่ง

กิจกรรมที่นิสิตร่วมกัน แบ่งได้ 3 ประเภทคือ ชมรมทางศิลปวัฒนธรรม ชมรมบำเพ็ญประโยชน์ และชมรมกีฬา แต่ละชมรมไม่มีสถานที่ถาวร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์เริ่มได้เพียงชมรมพุทธศาสนา ชมรมเดียวให้มีสถานที่ถาวร เพราะอยากให้นิสิตและบุคลากรเป็นคนดี มีอาคารสถานที่ซึ่งใช้ประโยชน์ในการบ่มนิสัยให้เป็นคนดี มีความรู้ อาจารย์หลายท่านได้แนะนำให้ชมรมพุทธเกษตรสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนา ผู้ออกแบบอาคารพุทธเกษตรคือ คุณบุญวัฒน์ ทิพทัส ซึ่งเป็นสถาปนิกที่มีผลงานได้รับรางวัลที่หนึ่งด้านการออกแบบ จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ อาจารย์หลายท่านได้ร่วมมือตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกษม สุขสถาน เป็นผู้ร่วมงานอย่างแข็งขันในโครงการพุทธเกษตร

ความประทับใจที่มีต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์อยากเรียนทางด้านป่าไม้ หรือทางวนศาสตร์ตั้งแต่ต้น ในสมัยแรกการเรียนด้านวนศาสตร์จะเรียนที่ภาคเหนือ จังหวัดแพร่ ภาคเหนือมีธรรมชาติสวยงาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ อยากท่องเที่ยวป่าจึงตัดสินใจเลือกป่าไม้ (ช่วงนั้นสอบเข้าที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ แต่ไม่ได้ไปเรียน ได้ลงทะเบียนเรียนด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนเพียง 2 ปี ก็หยุดเรียน)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ ฟื้นความหลังว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เกิดขึ้นมาในภาวะยากแค้น บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม ได้รับการบอกเล่าจากพระช่วงเกษตรศิลปการว่า ได้รับคำสั่งจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้รับผิดชอบในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เรียกท่านไปพบ และบอกว่าบ้านเมืองเราอยู่ในภาวะไม่ปรกติ กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศ เราต้องมีอาหารให้เพียงพอแก่ประชาชนและกองทัพ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงขึ้นในประเทศไทย เพื่อสอนทางด้านการเกษตร

พระช่วงเกษตรศิลปการ และปรมาจารย์ในยุคนั้นได้ร่วมกันก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยใช้เกษตรกลางบางเขนเป็นสถานที่ศึกษาตั้งแต่ พ.ศ. 2484-2485 จนมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใน พ.ศ. 2486

ความประทับใจของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์คือ มหาวิทยาลัยนี้ มีจุดประสงค์เบื้องแรกว่า ต้องสร้างอาหารให้เพียงพอแก่ปากท้องของประชาชน และกองทัพ เพราะเป็นจุดแข็งของชาติบ้านเมือง ถ้าไม่สามารถผลิตอาหารให้บริโภคในประเทศเพียงพอเราจะเป็นชาติที่อ่อนแอ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ภูมิใจว่าเศรษฐกิจของชาติมีรากฐานที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ย้ำว่า มหาวิทยาลัยคือ สถาบันที่สร้างคน แล้วเราก็สร้างคนให้ไปสร้างชาติ เราไม่ได้สร้างคนรวยให้ไปสร้างชาติ เราสร้างคนให้มีความรู้ นิสัยดี ไปสร้างชาติ ความรู้คือปัญญา ต้องเอาปัญญาเป็นตัวตั้ง

ความคาดหวังของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์คือ อยากให้คงอุดมคติของผู้ก่อตั้ง ให้คำนึงถึงความเสมอภาคในการศึกษา ใช้ปัญญายิ่งกว่าเงินเป็นพื้นฐาน ต้องผลิตบัณฑิตไปสร้างชาติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ย้ำว่า ความสำเร็จที่ได้รับในตำแหน่งคณบดี และอธิการบดีนั้น เพราะได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทุกระดับ ทั้งอาจารย์ ข้าราชการ และนิสิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์มีความสุขที่คณะวนศาสตร์ซึ่งให้ความรู้ อุปนิสัย และวิธีคิด ได้ชื่นชมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนหลายคนเปลี่ยนนิสัยจากการเป็นคนเห็นแก่ตัว เป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์มีความสุขในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาก มีโอกาสเรียน มีหน้าที่การงาน ครอบครัวเจริญก้าวหน้าก็ได้จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์มีเรื่องดีใจและประทับใจ เพราะรุ่นของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ได้มีส่วนคัดลอกแผนที่ป่าแม่เอิงซึ่งเป็นที่มาของทุน อ.อป ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับปีละ 3 ล้านบาท กว่า 30 ปี รู้สึกประทับใจอาจารย์ของคณะวนศาสตร์ ซึ่งได้อุทิศตนเพื่อนิสิต นอกจากสอนในห้องเรียนแล้ว ยังตามไปสอนในป่าปีละ 4-5 เดือน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ได้ลาออกจากราชการเมื่ออายุ 58 ปี โดยไปทำงานบริษัทอุตสาหกรรมไม้แห่งหนึ่ง ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากสมัยเป็นเด็กเคยศึกษาที่นั่น มีความประทับใจ โดยเฉพาะเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง เห็นบิดาไปช่วยรบเพราะเป็นคนหนึ่งในคณะกรรมการของจังหวัด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์จึงอยากกลับไปถิ่นเก่าที่เคยอยู่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด คือประถมาภรณ์ มงกุฎไทย

ชีวิตครอบครัว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์สมรสกับผู้ช่วยศาสตราจารย์พาณี ปรีชานนท์ ซึ่งเป็นอาจารย์ภาควิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีบุตร ธิดา 3 คนคือ คนโตชื่อ สีชาด ปรีชานนท์ จบสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วไปศึกษาต่อปริญญาโทด้าน Technology Management ทำธุรกิจส่วนตัว คนที่สองชื่อ สีรุ้ง ปรีชานนท์ จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิศวกรรมเคมี และศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ปัจจุบันรับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคนที่สามชื่อ สีรง ปรีชานนท์ จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิศวกรรมเครื่องกล และศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ปัจจุบันรับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ประกาศศยกย่องเชิดชู ให้ "ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จงรัก ปรีชานนท์" เป็น “เกษตราภิชาน” ประจำ ปี พ.ศ. 2565 เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะครบ 80 ปี ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566



Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University