ทำเนียบอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์




หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (สุวรรณ เรศานนท์)


อธิการบดี

ครั้งที่ 1 6 พ.ค. 2489 – 5 พ.ค. 2491

ครั้งที่ 2 6 พ.ค. 2491 – 5 พ.ค. 2493

ครั้งที่ 3 6 พ.ค. 2493 – 21 มี.ค. 2495

ครั้งที่ 4 23 มี.ค. 2495 – 14 เม.ย. 2501


หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (สุวรรณ เรศานนท์) เดิมชื่อ ทองดี เรศานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2439 ที่ตำบลโพธิ์กลาง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรคนโตของนายทัย และนางเรศ เรศานนท์ มีน้องร่วมมารดาเดียวกัน 2 คน แต่ถึงแก่กรรมเมื่อเยาว์วัย หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ จึงเป็นบุตรคนเดียวของบิดา มารดา การศึกษาชั้นต้นเริ่มด้วยการเข้าเรียนโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลนครราชสีมา เป็นเวลา 2 ปี เมื่อบิดาถึงแก่กรรม มารดาจึงอพยพครอบครัวไปประกอบอาชีพค้าขายและทำสวนที่จังหวัดบุรีรัมย์ และหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจก็ได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนประจำจังหวัดบุรีรัมย์ 2 ปี ต่อมาทางการของมณฑลนครราชสีมาได้ทำการคัดเลือกนักเรียนส่งเข้าเป็นนักเรียนหลวง หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจสามารถสอบได้เป็นที่ 1 จึงได้รับการคัดเลือกส่งมาเป็นนักเรียนหลวงที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พระนคร แล้วสอบเข้าเรียนต่อในแผนกครุศึกษา กรมมหาวิทยาลัย สำเร็จวุฒิการศึกษา ป.ม. ใน พ.ศ. 2459

หลังจากจบการศึกษาแล้ว หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้เข้ารับราชการครูในกระทรวงธรรมการเมื่อ พ.ศ. 2460 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มรับราชการ ได้รับเงินเดือน 80 บาท โดยเป็นครูสอนที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม หอวัง พร้อมกับครูผล สินธุรเวชญ์ ซึ่งสำเร็จการศึกษา ป.ม. พร้อมกัน โรงเรียนตั้งอยู่ที่บริเวณหอวัง หรือบ้านสวนหลวง สระปทุม บริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติในปัจจุบัน โรงเรียนดังกล่าวมีพระยาเทพศาสตร์สถิต ( โห้ กาฬดิษฐ์) เป็นอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนนี้สอนวิชาฝึกหัดครูประถม มีวิชาครู กับวิชาเกษตรเพิ่มในหลักสูตร ต่อมาใน พ.ศ. 2461 โรงเรียนได้ย้ายไปตั้งที่ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โรงเรียนไม่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้าง ต้องทำกันเองทั้งหมดตั้งแต่อาคารเรียน โรงเรือนต่างๆ และที่พักครู หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้ย้ายติดตามไปสอนต่อ ณ โรงเรียนดังกล่าวโดยคุมของไปทางเรือ ส่วนครูผลไปทางรถไฟ

หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นผู้ที่มีความวิริยะอุตสาหะต่องานในหน้าที่ และการค้นคว้าศึกษาเล่าเรียนจนเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจสามารถท่องพจนานุกรม ฉบับของนายแมคฟาร์แลนด์ ได้จบทั้งเล่ม ดังนั้น ใน พ.ศ. 2463 กระทรวงธรรมการ โดยการสนับสนุนของพระยาเทพศาสตร์สถิตย์ได้ส่งหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจไปศึกษาวิชาเกษตรที่ University of the Philippines at Los Banos ในระหว่างศึกษาได้ทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง "การศึกษาไข่ดกของไก่ในเดือนต่างๆ" ได้นอนค้างอยู่ที่เครื่องฟักไข่ตลอดเวลาในช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยม ทางเกษตร (B.Sc. Agr. Hons.) ในปี 2467 โดยสามารถสอบได้เป็นที่ 1 ของนักศึกษาทั้งหมดในปีนั้น เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ก็กลับมาทำการสอนตามเดิมที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ตำบลพระประโทน จังหวัดนครปฐม


ในปี 2467 เมื่อกลับมาทำงานแล้ว หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก และในปีเดียวกันนั้นเอง โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมได้ย้ายไปตั้งที่บางสะพานใหญ่ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งบริเวณที่ดินที่จะสร้างโรงเรียนเป็นดงไม้ขนาดใหญ่และไม่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้าง ต้องทำการโค่นต้นไม้เพื่อสร้างกันเอง อาจารย์ใหญ่ อาจารย์ และนักเรียนต่างช่วยกันบุกเบิกถางพงปลูกสร้างกันเองจนสำเร็จอีกครั้งหนึ่ง ชาวประมงที่นั่นพากันเรียกหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจว่า อาจารย์หมอ เพราะเก่งทางผ่าตะมอยที่เกิดจากการถูกปลาดุกทะเลยัก

หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นคนทำอะไรทำจริง และเป็นผู้ที่ขยันขันแข็งต่อการงานจึงเป็นที่รักและเคารพนับถือของบรรดาเพื่อนร่วมงานและศิษย์ทุกคน ในขณะที่เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม บางสะพานใหญ่ ก็ได้รับมอบหมายให้แยกโรงเรียนไปอยู่ที่แห่งใหม่อีกแห่ง คือไปอยู่ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เพื่อปลูกพืชไร่และเลี้ยงสัตว์ใหญ่ นำเงินรายได้มาบำรุงโรงเรียน เพราะจะหวังเงินงบประมาณได้ยาก อีกทั้งยังเป็นการฝึกงานภารปฏิบัติของนักเรียนด้วย ดังนั้น ในปี 2469 หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ จึงได้นำนักเรียนปีที่ 2 ของโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม บางสะพานใหญ่ ไปสร้างสถานที่เรียนและโรงเรียนใหม่ ในขณะนั้นทับกวางยังเป็นป่าทึบ เต็มไปด้วยสัตว์ร้าย และไข้ป่าชุกชุม หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจใช้เวลาประมาณ 2 ปีทำการแผ้วถางก่อสร้างโรงเรียนจนสำเร็จ และต่อมาได้ย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมจากบางสะพานใหญ่ไปอยู่ที่ทับกวางเพียงแห่งเดียว ใน พ.ศ. 2471

ในวันที่ 8 ธันวาคม 2471 รองอำมาตย์เอก ทองดี เรศานนท์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ" และยังคงรับราชการเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ทับกวาง จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2472 เมื่อพระยาเทพศาสตร์สถิตได้ถึงแก่อนิจกรรมหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ใหญ่สืบแทนต่อมา จนถึง พ.ศ. 2475 จึงได้ย้ายจากทับกวางไปเป็นหัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมที่ตำบลควนเนียง อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา แต่เนื่องจากความไม่เหมาะสมของสถานที่ ทางการจึงได้ย้ายสถานีทดลองกสิกรรมจากตำบลควนเนียงไปอยู่ที่ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ ณ ที่แห่งใหม่นี้ก็ได้ทำการก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคใต้ขึ้นอีกแห่งหนึ่งนับเป็นแห่งที่ 2 ของประเทศ ส่วนโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมทับกวางได้ย้ายไปตั้งที่ตำบลโนนสูง อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัดใน พ.ศ. 2476 มีหลวงอิงคศรีกสิการเป็นอาจารย์ใหญ่ และอาจารย์จรัด สุนทรสิงห์ เป็นผู้ช่วย ในขณะเดียวกันกับโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัดเกิดขึ้นนั้น โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมประจำภาคเหนือก็ได้ตั้งขึ้นที่แม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มีพระช่วงเกษตรศิลปการเป็นอาจารย์ใหญ่ และอาจารย์สวัสดิ์ วีระเดชะ (ย้ายจากโนนวัด) เป็นผู้ช่วยส่วนทางภาคใต้ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจต้องทำงานหนัก คือ เป็นทั้งหัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรม และอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคใต้ โดยมีอาจารย์เริ่ม บูรณฤกษ์ เป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่

ใน พ.ศ. 2477 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ จึงทำให้นโยบายการศึกษาของชาติในทางกสิกรรมที่ท่านได้ตั้งต้นไว้นั้นเปลี่ยนแปลงไป และเป็นเหตุให้โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมทั้งสามภาคเลิกล้มไปด้วย เมื่อสภาพการณ์เปลี่ยนไปเช่นนี้ บรรดาอาจารย์ที่ได้ร่วมงานกับพระยาเทพศาสตร์สถิตมาแต่เดิม อันมีหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นหัวแรงสำคัญ พระช่วงเกษตรศิลปการ และหลวงอิงคศรีกสิการ เป็นต้น ได้ร่วมกันคิดหาทางต่ออายุการศึกษากสิกรรมไว้โดยได้เสนอให้จัดตั้งโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมขึ้นที่แม่โจ้ ซึ่งกระทรวงธรรมการรับหลักการจัดตั้งขึ้นรวมทั้งที่อื่นด้วยเป็น 4 แห่ง อันเป็นพื้นฐานนำไปสู่การจัดตั้งวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่แม่โจ้ แล้วย้ายมาอยู่ที่บางเขน พระนคร และต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งบุคคลทั้งสามมีส่วนสำคัญยิ่งในการก่อตั้งและพัฒนามาโดยตลอด

เนื่องจากในระยะนั้นกระทรวงเกษตราธิการได้ขยายงานออกไปมาก ใน พ.ศ. 2477 กระทรวงเกษตราธิการได้ขอโอนหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจจากกระทรวงธรรมการและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมเกษตร (ต่อมาเปลี่ยนเป็น กรมเกษตรและการประมง) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2477 หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจดำรงตำแหน่งอธิบดี จนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2479 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเกษตรฝ่ายวิชาการ กรมเกษตรและการประมง ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอธิบดี หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้เป็นพระยาแรกนาขวัญคนแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ( สมัยฟื้นฟูวัฒนธรรม พ.ศ . 2479 )

ในต้น พ.ศ. 2481 กระทรวงเกษตราธิการได้รับโอนเงินโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม 4 แห่ง พร้อมด้วยครูอาจารย์จากกระทรวงธรรมการมาอยู่ในสังกัด แต่ด้วยเหตุที่มีครูอาจารย์น้อย และเพื่อให้วิชาการแข็งขึ้นจึงได้ยกโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมที่คอหงส์ โนนวัด และบางกอกน้อยไปรวมจัดการศึกษาที่แม่โจ้แห่งเดียว แล้วยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปีเดียวกันนี้ กระทรวงเกษตราธิการได้จัดตั้ง สถานีเกษตรกลางขึ้นที่ทุ่งบางเขน จังหวัดพระนคร และเพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างการค้นคว้าทดลองกับการศึกษาทางเกษตร ในปี 2482 กระทรวงเกษตราธิการจึงได้ย้ายวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากแม่โจ้มาอยู่ที่บางเขน และเปลี่ยนสภาพโรงเรียนที่แม่โจ้เป็นโรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป สำหรับวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บางเขนกำหนดรับนักเรียนที่จบจากโรงเรียนเตรียมฯ ที่แม่โจ้มาเข้าเรียนต่อโดยเปิดเป็น 3 แผนก จัดการศึกษาขั้นอนุปริญญา มีหลักสูตร 3 ปี คือ แผนกเกษตรศาสตร์ และแผนกสหกรณ์ จัดสอนที่บางเขน และให้โรงเรียนป่าไม้ที่จังหวัดแพร่เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนวนศาสตร์ และมารวมเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย ได้แต่งตั้งให้หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมเกษตรและการประมงมาเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง โดยมีอาจารย์เริ่ม บูรณฤกษ์ เป็นผู้ช่วย หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และคณาจารย์จึงได้เริ่มต้นวางแผนพัฒนาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แห่งนี้

ต่อมา พ.ศ. 2484 หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เชี่ยวชาญฝ่ายการปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ กรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ อาจารย์เริ่ม บูรณฤกษ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แทน ในปี 2485 หลวงสุวรรณฯ ได้รับพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์ " หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ" โดยใช้ชื่อและนามสกุลเดิมว่า "สุวรรณ เรศานนท์"

ใน พ. ศ. 2486 รัฐบาลอันมี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญยิ่งของการเกษตร จึงได้ปรับปรุงและรวมกิจการของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บางเขนกับโรงเรียนวนศาสตร์ จังหวัดแพร่ มาเป็น " มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" และประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ พุทธศักราช 2486 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2486 โดยจัดการศึกษาเป็น 4 คณะ คือ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวนศาสตร์ คณะการประมง และคณะสหกรณ์ มีพลเรือโท สินธุ์ กมลนาวิน ( ยศในขณะนั้น) ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัย

ต่อมาในวันที่ 4 กันยายน 2488 หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะจนถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2488 และเป็นอธิบดีตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2488 ในปีเดียวกันนี้ได้รับพระบรมราชานุญาตให้กลับคืนบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ" ตามเดิม

ถัดมาอีกหนึ่งปีใน พ.ศ. 2489 สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้พิจารณาเห็นว่า ตำแหน่งอธิการบดีนั้นควรเป็นตำแหน่งข้าราชการประจำ จึงได้แต่งตั้งให้หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ อธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะมาดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นับเป็นอธิการบดีคนที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2489 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 14 เมษายน 2501 ก็ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการเพื่อรับพระราชทานบำนาญ รวมเป็นเวลา 12 ปี ช่วงเวลา 12 ปีที่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นอธิการบดี ท่านได้สร้างสรรค์และพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้เจริญก้าวหน้าไปในหลายทาง โดยเน้นใน 3 ด้านแรกที่ท่านถือว่าเป็นหน้าที่หลักที่สำคัญของมหาวิทยาลัย นั่นคือ การให้การศึกษา การค้นคว้าทดลอง และการส่งเสริมและเผยแพร่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ ดังผลงานบางส่วนที่ขอนำมากล่าวพอเป็นสังเขป คือ

ด้านการให้การศึกษา
หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจมองเห็นปัญหาและแนวทางในการพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี 2491 จึงพยายามของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล โดยได้มีหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ตอบกลับมาว่า "จดหมายของคุณหลวง ลงวันที่ 24 กรกฎาคม ศกนี้ ว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขาดอุปกรณ์การสอน การเรียน การฝึกหัด และการศึกษาค้นคว้างบประมาณที่ได้รับไม่เพียงพอ จึงใคร่ขอให้พิจารณาช่วยเหลือ สนับสนุน ดังความแจ้งแล้วนั้น ผมได้รับทราบแล้วขอขอบคุณในการที่คุณหลวงได้เอาใจใส่ในการปรุบปรุงมหาวิทยาลัยนี้เป็นอันมากในปี 2492 ขอให้คุณหลวงตั้งงบประมาณไปให้เต็มที่ ผมยินดีจะสนับสนุนให้เป็นพิเศษ" ..................... จอมพล ป. พิบูลสงคราม

นอกจากได้รับงบประมาณเพิ่มแล้ว ในปี 2493 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับสัมปทานการทำป่าไม้สักแม่อิง จังหวัดเชียงราย และแม่แฮด จังหวัดแพร่ และได้มอบให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ( อ.อ.ป.) เป็นผู้รับทำ โดยมีสัญญาข้อตกลงว่ากำไรสุทธิมอบให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ร้อยละ 30 มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ได้รับร้อยละ 70 ในปีแรกของการดำเนินงานในปี 2496 จึงได้เงินมาสร้างหอพักนิสิตจำนวน 2 หลัง ราคาหลังละ 1 ล้านบาท ต่อมาคณะรัฐมนตรีไห้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จ่ายเงินรายได้อุดหนุนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ปีละ 3 ล้านบาท

ในปี 2497 ได้มีการปรับปรุงกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 พ.ศ. 2497 ให้รับโอนคณะสัตวแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และให้รวมโรงเรียนการชลประทาน ( เปลี่ยนเป็นคณะวิศวกรรมชลประทาน) เข้าอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้มหาวิทยาลัยฯมีคณะเพิ่มขึ้นจากปี 2486 เป็น 6 คณะ

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในช่วงที่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นอธิการบดี ได้มีการติดต่อกับต่างประเทศมาก และได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการในหลายรูปแบบ เช่น การส่งผู้เชี่ยวชาญมาประจำเพื่อให้คำปรึกษา / สอน การให้ทุนแก่อาจารย์ไปศึกษาต่อ หรือดูงาน ณ ต่างประเทศ จัดหาวัสดุอุปกรณ์หรือเครื่องมือ เครื่องใช้ประกอบการเรียนการสอนจากองค์การและสถาบันต่างๆ อาทิ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ( FAO), มูลนิธิการศึกษาฟุลไบรท์ (Fullbright), สหพันธ์กสิกรอเมริกา (American Farm Bureau), องค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา ( USOM), มหาวิทยาลัย Oregon State University ( สัญญา KU - OSU ), สถาบันเศรษฐกิจและวัฒนธรรมแห่งมหานครนิวยอร์ก ( Council on Economic and Cultural Affairs, Inc. New York City), มูลนิธิ Rockefeller เป็นต้น

ด้านการค้นคว้าทดลอง
การเลี้ยงสัตว์ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกและเป็นผู้พัฒนาระบบการเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เป็นผู้ริเริ่มค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับสัตว์เศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงไก่ จนได้ชื่อว่า " บิดาแห่งการเลี้ยงไก่ของประเทศไทย" ท่านได้นำวิธีการเลี้ยงสัตว์แบบใหม่มาทดลองที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวอย่างเช่นทดลองเลี้ยงไก่แบบขังกรง หรือที่เรียกกันว่า " โรงแรมไก่" ทดลองเลี้ยงไก่เนื้อ / ไก่ไข่พันธุ์ต่างๆ และฟักไข่ด้วยเครื่องฟักทันสมัย ทดลองเลี้ยงเป็ดพันธุ์ต่างๆ คือ เป็ดพันธุ์เนื้อ และเป็ดลูกผสมริเริ่ม ให้แผนกวิชาสัตวบาลทดลองเลี้ยงหมูพันธุ์ต่างๆ โคนม กระบือนม และแพะนมพันธุ์ต่างประเทศ คือทดลองไปตั้งแต่วิธีการเลี้ยง การผสมเทียม การรีดนม และกรรมวิธีผลิตนมสดที่รีดแล้วนำออกจำหน่ายในทันที ชื่อว่า "นมสดเกษตร" เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายตั้งแต่สมัยนั้นจนกระทั่งปัจจุบัน รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากนมต่างๆ นอกจากนี้ ยังทดลองเลี้ยงแกะและกระต่ายเพื่อเป็นการศึกษาของนิสิตด้วย

การเลี้ยงปลา เนื่องจากแต่เดิมเกษตรกลางบางเขนเป็นท้องนา มีบ่อและแหล่งน้ำอยู่หลายแห่งในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้สั่งลูกปลาจีนมาจากไต้หวัน มี ปลาลี้ฮื้อ เฉาฮื้อ ซงฮื้อและเล่งฮื้อ มาทดลองเลี้ยงในบ่อ โดยใช้อาหารประเภทต่างๆ รวมทั้งมูลไก่ พันธุ์ปลาจีนดังกล่าว ต่อมาได้ผสมพันธุ์ผลิตลูกปลาขึ้นเอง ไม่ต้องสั่งจากต่างประเทศอีกต่อไป นอกจากนี้ เมื่อสร้างคอกไก่หรือโรงแรมไก่ ต้องขุดดินด้านข้างตลอดแนวยาวของคอกขึ้นมาถมพื้นที่ให้สูงขึ้นกันน้ำท่วม และได้บ่อน้ำข้างคอกไก่นี้เป็นที่ทดลองเลี้ยงปลาจีน ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาดุก และปลาช่อน ทดลองอาหาร รวมทั้งมูลไก่ และวิธีเลี้ยงปลา เมื่อทดลองได้ผลก็ส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงเป็นอาชีพต่อไป

ทางด้านพืช หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาการปลูกพืชเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกันท่านได้ศึกษาค้นคว้าทดลองมาตั้งแต่สมัยเป็นอาจารย์โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ณ ที่ต่างๆ เมื่อมาเป็นอธิการบดีก็ได้นำวิชาการใหม่ๆ มาพัฒนาการปลูกพืช สั่งพันธุ์พืชใหม่ๆ เข้ามาทดลองปลูกจนเป็นที่แพร่หลายอยู่จนทุกวันนี้ ทั้งมะเขือเทศ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก และกะหล่ำดอกอิตาเลี่ยน (Broccoli ) นอกจากนี้ก็เป็นพวกฝ้ายพันธุ์ดี ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน องุ่น แตงไทย พืชอาหารสัตว์ ( ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ข้าวฟ่าง กระถิน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ) เป็นต้น พืชผักผลไม้ที่ปลูกทดลองและส่งเสริมเผยแพร่ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กลายเป็นพืชสำคัญที่เกษตรกรนิยมปลูกหลายชนิด

ในด้านพืชนั้น ยังมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ควรบันทึกไว้ คือ ยางพารา ซึ่งกล่าวได้ว่าหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นทั้งผู้บุกเบิกทั้งพัฒนาหรือเป็นคนแรกที่พัฒนาวิชาการยางพารามาตั้งแต่เป็นหัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรม และอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคใต้จนเป็นพืชสำคัญของประเทศมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นผู้ที่ริเริ่มให้มีการสอนวิชาการยางพาราในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ด้านการส่งเสริมและเผยแพร่
หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจมีความสามารถหลายด้าน ทั้งด้านการบริหาร การสอน การค้นคว้าทดลอง การส่งเสริมและเผยแพร่ สิ่งสำคัญที่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก ก็คือ เมื่อหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้ศึกษาทดลองสิ่งใดได้ผลแล้ว ท่านได้ถ่ายทอดวิชาความรู้นั้นๆ ไปสู่ประชาชนอย่างไม่ปิดบังทั้งยังส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ต่างๆ โดยอาศัยสื่อทั้งหลายที่มีอยู่ในเวลานั้นอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับของประชาชน ทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ สร้างรายได้ให้แก่ประเทศชาติอย่างมหาศาลจนถึงปัจจุบัน

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2467 เป็นต้นมาหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้แต่งตำรา และเขียนบทความต่างๆเผยแพร่ทางสื่อมวลชนต่างๆ เช่น หนังสือ "วิทยาจารย์" ของกระทรวงธรรมการ หนังสือ " กสิกร" ของกรมเกษตร และหนังสือ "สาส์นไก่" ของแผนกไก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนังสือตำราก็มีตำราเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงสัตว์ ทำสวนครัว การคำนวณหน้าไม้และพื้นที่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้เขียนบทความออกอากาศทางวิทยุเป็นประจำ

การให้บริการแก่ประชาชน ก็กระทำในหลายรูปแบบ เช่น ตอบปัญหา รับเอกสารเผยแพร่โดยตรงที่แผนกไก่ และแผนกวิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตรของมหาวิทยาลัย หรือ ตอบโดยทางจดหมาย/วิทยุ สำหรับทางวิทยุนั้น หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้ตั้ง โรงเรียนไก่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นโดยนำความรู้เรื่องไก่ไปกระจายเสียงเผยแพร่สัปดาห์ละครั้ง ณ สถานีวิทยุกรมโฆษณา สถานีวิทยุ 1 ปณ.และสถานีวิทยุ อส. พระราชวังดุสิต และยังได้จัดรายการการเลี้ยงสุกร การเลี้ยงปลาอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้จัดทำ "ห้องสมุดไก่" ไว้ให้ผู้สนใจศึกษาค้นคว้าหาความรู้ จัดตั้งสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ เพื่อเป็นการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ให้แพร่หลาย การแข่งขันไก่ไข่ดกเพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักเลี้ยงไก่ได้ใช้ความรู้สมัยใหม่มาทำการเลี้ยงไก่ของตนเอง เป็นต้น

หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้จัดงานตลาดนัดเกษตรกลางบางเขนขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 3- 4 มกราคม 2491 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมโน้มน้าวจิตใจประชาชนให้มีความสนใจต่ออาชีพการเกษตรและเพื่อเผยแพร่ผลงานก้าวหน้าทางวิชาการเกษตรสาขาต่างๆ ทั้งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และหน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง งานนี้ได้จัดติดต่อกันมาโดยเว้นเป็นบางช่วงในระยะแรกๆ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "งานวันเกษตร" และจัดอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน

การอบรมวิชาชีพภาคฤดูร้อน เป็นงานส่งเสริมและเผยแพร่อีกรูปแบบหนึ่งของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ที่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้ดำริจัดขึ้นครั้งแรกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2496 มีผู้เข้ารับการอบรม 404 คน ใน 5 วิชา คือ การถนอมอาหาร ( 59 คน) การทำสวนผัก ( 26 คน ) การเลี้ยงผึ้ง ( 136 คน ) การเลี้ยงวัวนม ( 40 คน ) และการเลี้ยงสัตว์ปีก ( 143 คน ) หลังจากนั้น แผนกวิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร ( สำนักส่งเสริมฯ ) ได้รับงานนี้มาทำอย่างต่อเนื่องทุกปีจนกระทั่งปัจจุบันซึ่งเปิดอบรมตลอดปี

นอกจากการพัฒนาด้านการศึกษา การค้นคว้าทดลอง การส่งเสริมและเผยแพร่แล้ว หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้พยายามหางบประมาณทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมาก่อสร้าง และพัฒนาด้านอาคารสถานที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารเรียนและฝึกงาน อาคารหอพักนิสิต หอประชุม สถานพยาบาล สนามกีฬา ถนนหนทาง บ้านพักที่ปรึกษา อาจารย์ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ รวมทั้งสวัสดิการอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่ท่านได้วางผังปูพื้นฐานไว้ในระยะแรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจากการประสานงานพัฒนาต่อของผู้บริหารรุ่นหลังๆ เช่น หลวงอิงคศรีกสิการ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ( พระอิสริยยศในขณะนั้น) ฯลฯ ทำให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เจริญก้าวหน้าและโดดเด่นเป็นสง่าในปัจจุบัน


เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปริญญากิตติมศักดิ์ที่ได้รับ และอนุสรณ์เชิดชูเกียรติ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้รับ คือ มหาวชิรมงกุฎ ประถมาภรณ์ช้างเผือก และทุติยจุลจอมเกล้า สำหรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ปริญญา Honorary Degree of Doctor of Science จาก Oregon State University เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2498 และปริญญากสิกรรมและสัตวบาลดุษฎีบัณฑิต ( กิตติมศักดิ์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2504 ส่วนอนุสรณ์เชิดชูเกียรติ มีดังนี้

อนุสาวรีย์หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2511
อนุสาวรีย์สามบูรพาจารย์ หรือ สามเสือแห่งเกษตร ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2538
ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ อันเป็นที่ทำการไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารทหารไทยสาขาย่อยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อาคารสุวรรณวาจกกสิกิจ ที่ตั้งของสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการพัฒนาพืช สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบเกษตรในเขตวิกฤต
ถนนหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ
สวน 100 ปีหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ
สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้า และพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์
ฟาร์มไก่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ต้นแบบการเลี้ยงไก่ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
สถานีฝึกนิสิตสุวรรณวาจกกสิกิจ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
ทุนการศึกษานิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชื่อทุน สุวรรณวาจกกสิกิจ
ข้าวโพด พันธุ์สุวรรณ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ได้มีการปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ให้ผลผลิตดีและต้านทานโรคราน้ำค้าง ซึ่งพัฒนาโดย ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ เช่น พันธุ์สุวรรณ 1-2


เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจมีผลงานชิ้นสุดท้ายที่ได้ทำไว้ คือ การสร้างฟาร์มไก่หลวงสุวรรณ ( ฟาร์มเรศานนท์) ขึ้นที่ซอยอัฏฐมิตร ( พหลโยธิน 37 บางเขน กรุงเทพฯ ) เพื่อแสดงว่าท่านเองไม่เพียงแต่ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปเลี้ยงไก่เท่านั้น แต่ท่านยังทำการเลี้ยงไก่ด้วยตัวท่านเอง เมื่อมีโอกาสจะทำได้

ด้านชีวิตครอบครัว หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้สมรสกับ นางเสงี่ยม (ศรีเพ็ญ) เรศานนท์ มีบุตรและธิดาจำนวน 5 คนคือ

รองศาสตราจารย์พร สุวรรณวาจกกสิกิจ
นายแพทย์ถวิล เรศานนท์
อาจารย์เพ็ญศรี เอกก้านตรง
นายพงษ์ เรศานนท์
นางสาวเพ็ญพรรณ เรศานนท์
มีบุตรและธิดากับนางเลื่อน (วัฒนสุข ) เรศานนท์ อีก 2 คน คือ อาจารย์ไพรวรรณ เรศานนท์ ( อดีตรองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน) และนางพรทิพย์ ( เรศานนท์) จรัสวิโรจน์

หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้ถึงแก่อนิจกรรมที่โรงพยาบาลกลาง เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2506 ขณะมีอายุ 67 ปี ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม พระนคร เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2507



Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University