กาลานุกรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



เหตุการณ์เมื่อ 6 พฤษภาคม 2489

 

หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คนที่ 3

หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คนที่ 3 (6 พ.ค. 2489 – 14 เม.ย. 2501) หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (สุวรรณ เรศานนท์) เดิมชื่อ ทองดี เรศานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2439 ที่ตำบลโพธิ์กลาง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรคนโตของนายทัย และนางเรศ เรศานนท์ มีน้องร่วมมารดาเดียวกัน 2 คน แต่ถึงแก่กรรมเมื่อเยาว์วัย หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ จึงเป็นบุตรคนเดียวของบิดา มารดา การศึกษาชั้นต้นเริ่มด้วยการเข้าเรียนโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลนครราชสีมา เป็นเวลา 2 ปี เมื่อบิดาถึงแก่กรรม มารดาจึงอพยพครอบครัวไปประกอบอาชีพค้าขายและทำสวนที่จังหวัดบุรีรัมย์ และหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจก็ได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนประจำจังหวัดบุรีรัมย์ 2 ปี ต่อมาทางการของมณฑลนครราชสีมาได้ทำการคัดเลือกนักเรียนส่งเข้าเป็นนักเรียนหลวง หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจสามารถสอบได้เป็นที่ 1 จึงได้รับการคัดเลือกส่งมาเป็นนักเรียนหลวงที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พระนคร แล้วสอบเข้าเรียนต่อในแผนกครุศึกษา กรมมหาวิทยาลัยสำเร็จวุฒิการศึกษา ป.ม. ใน พ.ศ. 2459... หลังจากจบการศึกษาแล้ว หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้เข้ารับราชการครูในกระทรวงธรรมการเมื่อ พ.ศ. 2460 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มรับราชการ ได้รับเงินเดือน 80 บาท โดยเป็นครูสอนที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม หอวัง พร้อมกับครูผล สินธุรเวชญ์ ซึ่งสำเร็จการศึกษา ป.ม. พร้อมกัน โรงเรียนตั้งอยู่ที่บริเวณหอวัง หรือบ้านสวนหลวง สระปทุม บริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติในปัจจุบัน โรงเรียนดังกล่าวมีพระยาเทพศาสตร์สถิต ( โห้ กาฬดิษฐ์) เป็นอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนนี้สอนวิชาฝึกหัดครูประถม มีวิชาครู กับวิชาเกษตรเพิ่มในหลักสูตร ต่อมาใน พ.ศ. 2461 โรงเรียนได้ย้ายไปตั้งที่ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โรงเรียนไม่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้าง ต้องทำกันเองทั้งหมดตั้งแต่อาคารเรียน โรงเรือนต่างๆ และที่พักครู หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้ย้ายติดตามไปสอนต่อ ณ โรงเรียนดังกล่าวโดยคุมของไปทางเรือ ส่วนครูผลไปทางรถไฟ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นผู้ที่มีความวิริยะอุตสาหะต่องานในหน้าที่ และการค้นคว้าศึกษาเล่าเรียนจนเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจสามารถท่องพจนานุกรม ฉบับของนายแมคฟาร์แลนด์ ได้จบทั้งเล่ม ดังนั้น ใน พ.ศ. 2463 กระทรวงธรรมการ โดยการสนับสนุนของพระยาเทพศาสตร์สถิตย์ได้ส่งหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจไปศึกษาวิชาเกษตรที่ University of the Philippines at Los Banos ในระหว่างศึกษาได้ทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง "การศึกษาไข่ดกของไก่ในเดือนต่างๆ" ได้นอนค้างอยู่ที่เครื่องฟักไข่ตลอดเวลาในช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยม ทางเกษตร (B.Sc. Agr. Hons.) ในปี 2467 โดยสามารถสอบได้เป็นที่ 1 ของนักศึกษาทั้งหมดในปีนั้น เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ก็กลับมาทำการสอนตามเดิมที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ตำบลพระประโทน จังหวัดนครปฐม . ในปี 2467 เมื่อกลับมาทำงานแล้ว หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก และในปีเดียวกันนั้นเอง โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมได้ย้ายไปตั้งที่บางสะพานใหญ่ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งบริเวณที่ดินที่จะสร้างโรงเรียนเป็นดงไม้ขนาดใหญ่และไม่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้าง ต้องทำการโค่นต้นไม้เพื่อสร้างกันเอง อาจารย์ใหญ่ อาจารย์ และนักเรียนต่างช่วยกันบุกเบิกถางพงปลูกสร้างกันเองจนสำเร็จอีกครั้งหนึ่ง ชาวประมงที่นั่นพากันเรียกหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจว่า อาจารย์หมอ เพราะเก่งทางผ่าตะมอยที่เกิดจากการถูกปลาดุกทะเลยัก หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นคนทำอะไรทำจริง และเป็นผู้ที่ขยันขันแข็งต่อการงานจึงเป็นที่รักและเคารพนับถือของบรรดาเพื่อนร่วมงานและศิษย์ทุกคน ในขณะที่เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม บางสะพานใหญ่ ก็ได้รับมอบหมายให้แยกโรงเรียนไปอยู่ที่แห่งใหม่อีกแห่ง คือไปอยู่ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เพื่อปลูกพืชไร่และเลี้ยงสัตว์ใหญ่ นำเงินรายได้มาบำรุงโรงเรียน เพราะจะหวังเงินงบประมาณได้ยาก อีกทั้งยังเป็นการฝึกงานภารปฏิบัติของนักเรียนด้วย ดังนั้น ในปี 2469 หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ จึงได้นำนักเรียนปีที่ 2 ของโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม บางสะพานใหญ่ ไปสร้างสถานที่เรียนและโรงเรียนใหม่ ในขณะนั้นทับกวางยังเป็นป่าทึบ เต็มไปด้วยสัตว์ร้าย และไข้ป่าชุกชุม หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจใช้เวลาประมาณ 2 ปีทำการแผ้วถางก่อสร้างโรงเรียนจนสำเร็จ และต่อมาได้ย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมจากบางสะพานใหญ่ไปอยู่ที่ทับกวางเพียงแห่งเดียว ใน พ.ศ. 2471 ในวันที่ 8 ธันวาคม 2471 รองอำมาตย์เอก ทองดี เรศานนท์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ" และยังคงรับราชการเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ทับกวาง จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2472 เมื่อพระยาเทพศาสตร์สถิตได้ถึงแก่อนิจกรรมหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ใหญ่สืบแทนต่อมา จนถึง พ.ศ. 2475 จึงได้ย้ายจากทับกวางไปเป็นหัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมที่ตำบลควนเนียง อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา แต่เนื่องจากความไม่เหมาะสมของสถานที่ ทางการจึงได้ย้ายสถานีทดลองกสิกรรมจากตำบลควนเนียงไปอยู่ที่ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ ณ ที่แห่งใหม่นี้ก็ได้ทำการก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคใต้ขึ้นอีกแห่งหนึ่งนับเป็นแห่งที่ 2 ของประเทศ ส่วนโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมทับกวางได้ย้ายไปตั้งที่ตำบลโนนสูง อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัดใน พ.ศ. 2476 มีหลวงอิงคศรีกสิการเป็นอาจารย์ใหญ่ และอาจารย์จรัด สุนทรสิงห์ เป็นผู้ช่วย ในขณะเดียวกันกับโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัดเกิดขึ้นนั้น โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมประจำภาคเหนือก็ได้ตั้งขึ้นที่แม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มีพระช่วงเกษตรศิลปการเป็นอาจารย์ใหญ่ และอาจารย์สวัสดิ์ วีระเดชะ (ย้ายจากโนนวัด) เป็นผู้ช่วยส่วนทางภาคใต้ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจต้องทำงานหนัก คือ เป็นทั้งหัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรม และอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคใต้ โดยมีอาจารย์เริ่ม บูรณฤกษ์ เป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ ใน พ.ศ. 2477 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ จึงทำให้นโยบายการศึกษาของชาติในทางกสิกรรมที่ท่านได้ตั้งต้นไว้นั้นเปลี่ยนแปลงไป และเป็นเหตุให้โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมทั้งสามภาคเลิกล้มไปด้วย เมื่อสภาพการณ์เปลี่ยนไปเช่นนี้ บรรดาอาจารย์ที่ได้ร่วมงานกับพระยาเทพศาสตร์สถิตมาแต่เดิม อันมีหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นหัวแรงสำคัญ พระช่วงเกษตรศิลปการ และหลวงอิงคศรีกสิการ เป็นต้น ได้ร่วมกันคิดหาทางต่ออายุการศึกษากสิกรรมไว้โดยได้เสนอให้จัดตั้งโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมขึ้นที่แม่โจ้ ซึ่งกระทรวงธรรมการรับหลักการจัดตั้งขึ้นรวมทั้งที่อื่นด้วยเป็น 4 แห่ง อันเป็นพื้นฐานนำไปสู่การจัดตั้งวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่แม่โจ้ แล้วย้ายมาอยู่ที่บางเขน พระนคร และต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งบุคคลทั้งสามมีส่วนสำคัญยิ่งในการก่อตั้งและพัฒนามาโดยตลอด เนื่องจากในระยะนั้นกระทรวงเกษตราธิการได้ขยายงานออกไปมาก ใน พ.ศ. 2477 กระทรวงเกษตราธิการได้ขอโอนหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจจากกระทรวงธรรมการและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมเกษตร (ต่อมาเปลี่ยนเป็น กรมเกษตรและการประมง) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2477 หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจดำรงตำแหน่งอธิบดี จนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2479 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเกษตรฝ่ายวิชาการ กรมเกษตรและการประมง ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอธิบดี หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้เป็นพระยาแรกนาขวัญคนแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ( สมัยฟื้นฟูวัฒนธรรม พ.ศ . 2479 ) ในต้น พ.ศ. 2481 กระทรวงเกษตราธิการได้รับโอนเงินโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม 4 แห่ง พร้อมด้วยครูอาจารย์จากกระทรวงธรรมการมาอยู่ในสังกัด แต่ด้วยเหตุที่มีครูอาจารย์น้อย และเพื่อให้วิชาการแข็งขึ้นจึงได้ยกโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมที่คอหงส์ โนนวัด และบางกอกน้อยไปรวมจัดการศึกษาที่แม่โจ้แห่งเดียว แล้วยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปีเดียวกันนี้ กระทรวงเกษตราธิการได้จัดตั้ง สถานีเกษตรกลางขึ้นที่ทุ่งบางเขน จังหวัดพระนคร และเพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างการค้นคว้าทดลองกับการศึกษาทางเกษตร ในปี 2482 กระทรวงเกษตราธิการจึงได้ย้ายวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากแม่โจ้มาอยู่ที่บางเขน และเปลี่ยนสภาพโรงเรียนที่แม่โจ้เป็นโรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป สำหรับวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บางเขนกำหนดรับนักเรียนที่จบจากโรงเรียนเตรียมฯ ที่แม่โจ้มาเข้าเรียนต่อโดยเปิดเป็น 3 แผนก จัดการศึกษาขั้นอนุปริญญา มีหลักสูตร 3 ปี คือ แผนกเกษตรศาสตร์ และแผนกสหกรณ์ จัดสอนที่บางเขน และให้โรงเรียนป่าไม้ที่จังหวัดแพร่เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนวนศาสตร์ และมารวมเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย ได้แต่งตั้งให้หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมเกษตรและการประมงมาเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง โดยมีอาจารย์เริ่ม บูรณฤกษ์ เป็นผู้ช่วย หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และคณาจารย์จึงได้เริ่มต้นวางแผนพัฒนาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แห่งนี้ ต่อมา พ.ศ. 2484 หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เชี่ยวชาญฝ่ายการปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ กรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ อาจารย์เริ่ม บูรณฤกษ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แทน ในปี 2485 หลวงสุวรรณฯ ได้รับพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์ " หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ" โดยใช้ชื่อและนามสกุลเดิมว่า "สุวรรณ เรศานนท์" ใน พ. ศ. 2486 รัฐบาลอันมี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญยิ่งของการเกษตร จึงได้ปรับปรุงและรวมกิจการของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บางเขนกับโรงเรียนวนศาสตร์ จังหวัดแพร่ มาเป็น " มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" และประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ พุทธศักราช 2486 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2486 โดยจัดการศึกษาเป็น 4 คณะ คือ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวนศาสตร์ คณะการประมง และคณะสหกรณ์ มีพลเรือโท สินธุ์ กมลนาวิน ( ยศในขณะนั้น) ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัย ต่อมาในวันที่ 4 กันยายน 2488 หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะจนถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2488 และเป็นอธิบดีตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2488 ในปีเดียวกันนี้ได้รับพระบรมราชานุญาตให้กลับคืนบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ" ตามเดิม ถัดมาอีกหนึ่งปีใน พ.ศ. 2489 สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้พิจารณาเห็นว่า ตำแหน่งอธิการบดีนั้นควรเป็นตำแหน่งข้าราชการประจำ จึงได้แต่งตั้งให้หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ อธิบดีกรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะมาดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นับเป็นอธิการบดีคนที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2489 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 14 เมษายน 2501 ก็ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการเพื่อรับพระราชทานบำนาญ รวมเป็นเวลา 12 ปี ช่วงเวลา 12 ปีที่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นอธิการบดี ท่านได้สร้างสรรค์และพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้เจริญก้าวหน้าไปในหลายทาง โดยเน้นใน 3 ด้านแรกที่ท่านถือว่าเป็นหน้าที่หลักที่สำคัญของมหาวิทยาลัย นั่นคือ การให้การศึกษา การค้นคว้าทดลอง และการส่งเสริมและเผยแพร่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์





Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University