นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์




นายกสภามหาวิทยาลัย

30 ส.ค. 2515 – 29 ส.ค. 2517



ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ (หลวงอิงคศรีกสิการ) หนึ่งใน สามเสือแห่งเกษตร ผู้สร้างและพัฒนางานเกษตรและการศึกษาทางการเกษตรของประเทศไทย เดิมชื่อ เอี้ยง จันทรสถิตย์ เกิดเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2442 ที่ตำบลเตาปูน อำเภอบางพลัด จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรของนายอุ่น นางเหม จันทรสถิตย์

การศึกษา จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดคฤหบดี พ.ศ. 2451 ชั้นมัธยม 8 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พ.ศ. 2459 ได้รับทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อที่ University of the Philippines at Los Banos ประเทศฟิลิปปินส์ ได้รับปริญญา B.S. in Agriculture พ.ศ. 2464 ได้รับทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อปริญญาโท ที่ Cornell University ประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2464 และได้รับปริญญา M.S. สาขาเกษตร พ.ศ. 2466 ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ เป็นคนแรกของประเทศไทยที่จบปริญญาโททางการเกษตรในต่างประเทศ

ประวัติการรับราชการ ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ เริ่มรับราชการครั้งแรกใน พ.ศ. 2459 ได้รับบรรจุเป็นครูฝึกหัดสอนชั้นมัธยมปีที่ 6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ระหว่าง พ.ศ. 2466-2470 ได้รับมอบหมายให้สอนที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมหลายแห่ง โดยเป็นครูสอนที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระประโทน จังหวัดนครปฐม โรงเรียนฝึกหัดครูประถมบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และต่อมาย้ายไปสอนที่ทับกวาง จังหวัดสระบุรี

ระหว่าง พ.ศ. 2471-2474 ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ย้ายไปเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ต่อจากนั้นใน พ.ศ. 2475-2478ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัด ใน พ.ศ. 2478 โอนไปรับราชการที่กรมเกษตรและการประมง ในตำแหน่งหัวหน้ากองอุตสาหกรรมพืชพรรณ ชีวิตราชการของท่านมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ใน พ.ศ. 2492-2499 ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเกษตร (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมกสิกรรม)

ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ลาออกจากราชการเพื่อรับบำนาญ พ.ศ. 2499 เมื่ออายุ 57 ปี


พ.ศ. 2501 กลับเข้ารับราชการใหม่ โดยได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี กรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ดำรงตำแหน่งนี้ถึง 4 สมัย ระหว่าง พ.ศ. 2501-2508, 2510-2512

พ.ศ. 2519 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี

ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ได้รับเกียรติจากสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานราชการ เชิญท่านให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหรือกรรมการอื่นๆ มากมาย เช่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. 2488) กรรมการก่อตั้งสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2491) กรรมการโรงงานยาสูบ (พ.ศ. 2495-2514) กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (พ.ศ. 2504) ประธานกรรมการมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. 2504-2531) เป็นต้น

ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ด้วยความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ทางด้านบริหารและวิชาการ ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัย 3 แห่ง คือ ปริญญากสิกรรมและสัตวบาล ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ( วันที่ 9 มิถุนายน 2508 ) ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วันที่ 29 มิถุนายน 2522 ) และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพืชศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ ( วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2527)


ยศและบรรดาศักดิ์

ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอิงคศรีกสิการ พ.ศ. 2467 และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2485 โดยใช้ชื่อและนามสกุลเดิมคือ อินทรี จันทรสถิตย์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ศาสตราจารย์พิเศษอินทรี จันทรสถิตย์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดคือ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (พ.ศ. 2511)

ชีวิตการครองเรือน ศาสตราจารย์พิเศษอินทรี จันทรสถิตย์ ได้เข้าพิธีมงคลสมรสกับนางสาวสำเนียง เธียรประสิทธิ์ มีบุตรสาว 1 คน คือ นางสาวอิงอร จันทรสถิตย์

การพัฒนางานเกษตรและการศึกษาทางการเกษตรของประเทศไทย
ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ เริ่มรับราชการตั้งแต่ พ.ศ. 2459 ปฏิบัติงานต่อเนื่อง จนถึงบั้นปลายชีวิต จากสมุดทะเบียนประวัติระบุไว้ ตามคำสั่งกระทรวงการคลัง สรุปว่าท่านรับราชการเป็นเวลานานถึง 43 ปี เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ยังได้รับใช้ราชการต่ออีก 9 ปี รวม 52 ปี


ตลอดชีวิตของศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ท่านได้สร้างผลงานไว้มากมาย โดยเฉพาะการพัฒนาการศึกษาด้านการเกษตรของประเทศไทย โดยร่วมบุกเบิกก่อตั้งโรงเรียนทางการเกษตร พัฒนาเป็นวิทยาลัย และตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามลำดับ โดยมีเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตเสนาบดี และรัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ ซึ่งวางรากฐานการศึกษาทางการเกษตรของประเทศไทย ได้ตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม เมื่อ พ.ศ. 2460 มีบูรพาจารย์ 3 ท่าน ร่วมงานตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้บันทึกไว้ว่า สำหรับการศึกษาทางการเกษตรของประเทศไทยนั้น บัดนี้เป็นอันวางใจได้ว่าจะไม่มีวันอับปางเป็นอันขาด ตราบใดที่สามเสือแห่งเกษตรที่ฉันส่งไปเรียนเมืองนอก (คุณพระช่วงเกษตรศิลปการ คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และคุณหลวงอิงคศรีกสิการ) ยังอยู่

เพื่อเป็นเกียรติประวัติของศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ จักขอสรุปผลงานของท่านจากบทความของผู้ใกล้ชิด ผู้ร่วมงาน หรือลูกศิษย์ ซึ่งได้เขียนถึงท่านในแง่มุมต่างๆ ตามวาระและโอกาส สรุปประเด็นสำคัญคือ

การพัฒนาโรงเรียน จังหวัดนครราชสีมา ในฐานะอาจารย์ใหญ่

ศาสตราจารย์บุญ อินทรัมพรรย์ บันทึกไว้ในหนังสือชีวิตและงานศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ว่า ท่านศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ย้ายมาเป็นอาจารย์ใหญ่ ที่โรงเรียนประถมกสิกรรม (ป.ป.ก.) โนนวัด (จังหวัดนครราชสีมา) ในปี พ.ศ. 2475 ท่านได้ทำการปรับที่และลงมือก่อสร้างเป็นการใหญ่ มีตัวโรงเรียนเป็นแบบอาคารชั้นเดียว มีใต้ถุน ห้องเรียนมี 2 ห้องเรียน ห้องอาจารย์ใหญ่ ห้องพักครู ห้องสมุด… พร้อมทั้งสนามกีฬา เช่นสนามฟุตบอล สนามบาสเกตบอล นอกจากนั้นแล้วท่านอาจารย์ยังต้องรับหน้าที่หัวหน้าสถานีกสิกรรมซึ่งอยู่ติดกับโรงเรียนและเป็นครูใหญ่ ฝึกหัดครูมูลซึ่งอยู่ในตัวจังหวัดนครราชสีมาด้วย แสดงให้เห็นว่าภาระกิจใดของครูในอดีตมีสิ่งที่ต้องดำเนินการมากมาย ต้องช่วยเหลือตัวเองแทบทุกเรื่อง

ใน พ.ศ. 2478 โรงเรียนฝึกหัดครู 3 แห่ง คือที่แม่โจ้ (เชียงใหม่) คอหงส์ (หาดใหญ่) โนนวัด (นครราชสีมา) ถูกยุบ โดยเปลี่ยนเป็นโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ได้โอนมาดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองอุตสาหกรรมพืชพรรณ กรมเกษตรและการประมง

การพัฒนากระทรวงเกษตราธิการ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน)

ใน พ.ศ. 2480 กระทรวงเกษตราธิการได้ตกลงสร้างสถานีเกษตรกลางบางเขน โดยศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ เป็นผู้รับผิดชอบเป็นแม่งานใหญ่สร้างเกษตรกลางบางเขน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในเวลานั้น ในช่วงนี้ท่านได้พัฒนางานเกษตรนานัปการ รวมทั้งจัดที่ดินให้กรมประมง สร้างที่พักและส่งเสริม โครงการบำรุงพันธุ์ปลาแบบประชาอาสา

ช่วง พ.ศ. 2491 ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ได้เป็นอธิบดีกรมกสิกรรม คุณพระช่วงเกษตรศิลปการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ มีส่วนในการช่วยให้พระช่วงเกษตรศิลปการ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ทำงานสนับสนุนให้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยก้าวหน้าไปตามแผน โดยท่านให้เหตุผลว่าเป็นสมาคมทางวิทยาศาสตร์แห่งเดียวในเวลานั้น เมื่อตั้งสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2510 ท่านให้เกียรติเป็นนายกสมาคมคนแรก…คงไม่มีผู้ใดที่จะช่วยสร้างและจรรโลงวงการเกษตรของประเทศไทยได้มากและนานเท่ากับอาจารย์หลวงอิงศรีกสิการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สันทัด โรจนสุนทร ได้กล่าวไว้


ในระหว่างดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมกสิกรรม ท่านได้ส่งเสริมงานทั้งด้านบริหารและวิชาการ กิจกรรมที่ได้ดำเนินการมีมากมาย สรุปงานสำคัญ ได้แก่

เป็นกรรมการอำนวยการและกรรมการจัดหาขององค์การยาสูบ กระทรวงการคลัง ส่งเสริมเพิ่มการผลิตใบยาในประเทศไทย รวมทั้งขยายงานส่งเสริมการเกษตรในระดับภาคให้มีหน่วยงานส่งเสริมการเกษตรภาคต่างๆ 7 ภาค ในส่วนภูมิภาคคงมีกสิกรรมจังหวัดและกสิกรรมอำเภอ

วางรากฐานของการส่งเสริมพืชไร่ พืชเส้นใย พืชผัก รวมทั้งไม้ประดับ เช่น ดอนย่าจากประเทศฟิลิปปินส์ ต้นอินทนิลสีชมพู นุ่นพันธุ์โตจากประเทศเขมร มะรุมฝักยาวจากอินเดีย กะทกรกฝรั่ง รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรทำไร่ปลูกไม้ผลของไทย เช่น มะม่วง มะม่วงหิมพานต์ นอกจากนี้ยังได้ใช้ความรู้ทางการเกษตรช่วยให้พันธุ์ทุเรียนที่มีชื่อของไทย รอดพ้นจากการสูญพันธุ์ เมื่อ พ.ศ. 2485 เพราะเกิดน้ำท่วมใหญ่ทำลายสวนทุเรียนพันธุ์ดีของจังหวัดนนทบุรี และธนบุรี ท่านได้ใช้ความรู้ทางการเกษตรเพื่อชาวบ้านอย่างแท้จริง คือการขยายพันธุ์ทุเรียนโดยใช้วิธี ต่อตา ส่งเสริมให้สถานีทดลองกสิกรรมบางกอกน้อยเผยแพร่ความรู้ต่อไป ซึ่งทำให้ชาวสวนใช้ความรู้ปรับปรุงพืชพันธุ์ จนกระทั่งสำนักงานคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติได้ส่งผู้บัญชาลูกเสือไปเรียนการติดตา ต่อกิ่งต้นไม้ และบรรจุวิชานี้ไว้ในหลักสูตรอบรมลูกเสือสามัญ

ใน พ.ศ. 2499 ท่านได้ลาออกจากราชการเป็นข้าราชการบำนาญ ก่อนครบเกษียณอายุราชการ เหตุผลคือ เพื่อให้คนอื่นเขาเป็นอธิบดีบ้าง

ด้วยความรู้ ความสามารถ กอปรด้วยประสบการณ์ด้านบริหารและวิชาการ ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ได้รับเกียรติโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 4 สมัย คือ สมัยที่ 1 พ.ศ. 2501-2504 สมัยที่ 2 พ.ศ. 2504-2506 สมัยที่ 3 พ.ศ. 2506-2508 สมัยที่ 4 พ.ศ. 2510-2512

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม 2515 - วันที่ 29 สิงหาคม 2517

การพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะอธิการบดี 4 สมัย และนายกสภามหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ได้ใช้ความรู้ความสามารถทั้งด้านบริหารและวิชาการพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งด้านการเรียน การสอน การค้นคว้าวิจัย การส่งเสริมและเผยแพร่กิจกรรมของมหาวิทยาลัย รวมทั้งการจัดตั้งคณะใหม่ พัฒนาอาคารสถานที่ ฯลฯ

ศาสตราจารย์บุญ อินทรัมพรรย์ ได้สรุปผลงานของท่านว่า ท่านได้ปรับปรุงและพัฒนามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ให้เจริญก้าวหน้าไปมาก โครงการต่างๆ ที่ชะงักมาก็ได้รับการเร่งเร้าสนับสนุนให้กลับขึ้นมาใหม่อย่างเต็มที่ จนเป็นผลให้เตรียมการโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในเรื่องการพัฒนามหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจนเป็นโครงการเงินกู้จากธนาคารโลก โครงการนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ อยู่ในตำแหน่งอธิการบดี แต่ท่านมิได้รับความชอบนี้เพียงผู้เดียว ท่านได้ขอให้ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้ชี้แจงเพื่อให้เกียรติแก่ผู้เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้บันทึกว่า คุณหลวงอิงฯ ได้เคยขอร้องให้ข้าพเจ้าชี้แจงความจริงให้ปรากฏว่า ผู้สมควรได้รับสดุดีเป็นอันดับแรกเกี่ยวกับการกู้เงินจากธนาคารโลกคือ อาจารย์ ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ ท่านเป็นผู้ออกความคิดริเริ่มเรื่องนี้ ได้ดำเนินเรื่องจนสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติลงมติเห็นด้วยและได้เกลี้ยกล่อมให้ข้าพเจ้ายอมรับเงื่อนไขของธนาคารโลกทุกข้อ โดยกล่าวว่า รัฐบาลไทยเห็นความสำคัญของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ไม่มีทางสนับสนุนทางงบประมาณได้มากกว่านี้ นอกจากจะขอกู้เงินจากธนาคารโลก ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ยังกล่าวสดุดีว่า หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เป็นบุคคลต่อมาที่ควรได้รับการสรรเสริญ เพราะได้ดำเนินการเรื่องเงินกู้ธนาคารโลกจนสำเร็จเรียบร้อย ทำให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เจริญรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบันนี้

ด้านวิชาการ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีนั้น ท่านได้พัฒนางานทางด้านวิชาการมากมาย เช่น ตั้งคณะใหม่ ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ ทดลองปลูกข้าวโพดลูกผสม ฯลฯ กิจกรรมเด่นๆ คือ จัดพิมพ์วิทยาสารเกษตรศาสตร์ ราย 3 เดือน (พ.ศ. 2504) จัดประชุมวิชาการเกษตรในงานวันสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 1 และดำเนินการต่อมาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2505) เปิดสอนภาคฤดูร้อนเป็นปีแรก (พ.ศ. 2508) ก่อตั้งบัณฑิตวิทยาลัย (พ.ศ. 2509) ก่อตั้งคณะศึกษาศาสตร์ (พ.ศ. 2511)

การเสริมสร้างบุคลากร

ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ได้ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้มีโอกาสศึกษาต่อหรือเข้ารับราชการ ฝึกอบรมทางวิชาการ กล่าวคือ ท่านได้ขอการสนับสนุนแหล่งทุนจากองค์กรทั้งภายในและต่างประเทศ เช่น ทุน Rockefeller Foundation, Columbo Plan และ UNESCO หรือทุนจากรัฐบาลหลายประเทศ ฯลฯ ทำให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามารถปรับปรุงคุณวุฒิ หรือได้มีโอกาสฝึกงาน ณ ต่างประเทศ จนทำให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้นำทางด้านวิชาการเกษตรศาสตร์ในระดับประเทศและภูมิภาค

การพัฒนานิสิต

ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ อบรมและกวดขันนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างจริงจัง ท่านได้สั่งสอนนิสิตว่า ให้นิสิตแสวงหาความรู้และมีความรู้ให้จริงจัง มหาวิทยาลัยจะมีชื่อนั้นมิใช่เพราะมีตึกสวยงาม หรืออาจารย์ที่มีชื่อ แต่อยู่ที่ตัวนิสิต ถ้านิสิตสำเร็จออกไปทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้มากเท่าใด ก็เป็นชื่อเสียงแก่มหาวิทยาลัยเท่านั้น นอกจากนี้ท่านยังมีความรัก ความห่วงใยต่อลูกศิษย์และให้ความสำคัญต่อศิษย์ เมื่อมีการแข่งขันกีฬา ท่านจะไปดู แสดงความรัก ความห่วงใย และชื่นชมอย่างเต็มที่ เงินเดือนในตำแหน่งอธิการบดีท่านบริจาคให้กิจกรรมนิสิตทั้งหมด

การพัฒนาอาคารสถานที่เพื่อการเรียน การสอน และการวิจัย

ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ได้พยายามปรับปรุงอาคารเรียนให้พอเพียงแก่ความต้องการ เช่น สร้างตึกเทพศาสตร์ให้เป็นตึกพลศึกษา สร้างห้องปฏิบัติการให้แก่คณะต่างๆ เช่น คณะประมง สร้างที่พักให้แก่คณะวนศาสตร์ที่ประจวบคีรีขันธ์ คณะประมงที่คลองวาฬ สร้างบ้านพักนิสิตที่ปากช่อง สร้างตึกเรียนกีฏวิทยา สร้างหอสมุดใหม่ ตั้งสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อฝึกหัดนิสิตและเผยแพร่กิจกรรมของมหาวิทยาลัย และขยายสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปที่เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา ในเวลาต่อมา ปรับปรุงถนนให้เป็นถนนคอนกรีตซึ่งแต่เดิมเป็นถนนดิน ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังตั้งกรรมการเพื่อกำหนดการก่อสร้างและแผนผังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในสมัยของท่านนี้ ยังได้ขอไร่ธนรัตน์จากรัฐบาล เพื่อใช้เป็นสถานีทดลองเกษตรกรรม

ความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และการสร้างสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ร้อยตรี ประพาส ลิมปะพันธ์ อดีตนายกสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เขียนถึงศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ สรุปว่า ท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดอาคารถาวรของสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้อนุญาตให้ทำการก่อสร้างอาคารลงในที่ดินของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์…ทั้งนี้ท่านปรารถนาที่จะให้บรรดาศิษย์เก่าได้รวมตัวกันเพื่อก่อสร้างอาคารสมาคมเพื่อใช้เป็นจุดศูนย์รวม…ซึ่งเท่ากับการกลับมาเยี่ยมมหาวิทยาลัย

บทความของผู้ช่วยศาสตราจารย์พุม ขำเกลี้ยง กล่าวว่า ไม่มียุคใดสมัยใดที่ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะแนบแน่นเท่ากับสมัยที่อาจารย์คุณหลวงอิงฯ เป็นอธิการบดี…ท่านเห็นว่า สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คือแขนขาของมหาวิทยาลัย ถ้าสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เจริญก้าวหน้า ทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม มีชื่อเสียง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็พลอยมีชื่อเสียงไปด้วย

การบริจาคเงิน

ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ชอบทำบุญ ได้เสียสละทรัพย์และบริจาคเงินในวาระและโอกาสต่างๆ เช่น มอบทุนให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มอบทุนให้ก่อสร้างสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ รวมทั้งการสร้างโรงเรียน หรือบริจาคเงินให้วัด โรงพยาบาล ฯลฯ

งานสำคัญที่ท่านปฏิบัติต่อเนื่องและยาวนานคือ การเป็นประธานมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกเกษตรศาสตร์ ระหว่าง พ.ศ. 2504-2531

การดำเนินชีวิตและความเป็นครูผู้ควรแก่การบูชา

จากบทความของผู้ใกล้ชิด ผู้ใต้บังคับบัญชา ศิษย์ ซึ่งได้เขียนถึงการบริจาคเงิน ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ท่านเป็นผู้ดำเนินชีวิตเรียบง่าย เป็นตัวอย่างที่ดีของศิษย์ หากเป็นเรื่องงาน ท่านเป็นนักต่อสู้ในงานจนสามารถสร้างความเจริญให้แก่วงการเกษตรของประเทศไทย

ในฐานะผู้บังคับบัญชา ท่านเป็นผู้มีเหตุผล ให้ความไว้วางใจแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา มีเมตตาอารี เป็นคนละเอียดรอบคอบ รักความสะอาด ความมีระเบียบเรียบร้อย เคร่งครัดในหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมาย ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เขียนถึงศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ว่า ท่านสอนว่าการทำงานให้ใช้หลักทางพระพุทธศาสนา คือต้องรู้จักคบคนให้ถูกต้อง เดินสายกลางไว้แหละดี อย่าทำงานแบบชี้นิ้ว ต้องลงมือทำเองด้วยทำให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ความสำเร็จมิได้ขึ้นกับโชคชะตา แต่ขึ้นอยู่กับความพยายามของตนเอง


ความเป็นครู ท่านเป็นครูที่ดีมาโดยตลอด ให้คำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ว่า ท่านเป็นครูผู้ใช้การปฏิบัติเป็นแม่บทที่แท้จริง

ความเป็นพ่อ นางสาวอิงอร จันทรสถิตย์ บุตรสาวคนเดียวของท่านได้เขียนถึงศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ว่า พ่อสั่งสอนเสมอว่า ให้เดินสายกลาง ไม่ฟุ่มเฟือยหรือตระหนี่เกินไป และข้อสำคัญคือไม่โลภ ให้พอใจในสิ่งที่มีอยู่ มีความกตัญญูรู้คุณคน และหาโอกาสตอบแทนบุญคุณของท่านผู้มีพระคุณให้ได้ ให้จุนเจือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ อีกอย่างที่ช่วยในการดำเนินชีวิตคือ พยายามมองโลกและคนในแง่ดี ประพฤติตัวอยู่ในกรอบของศีลห้า แล้วชีวิตจะมีแต่ความสุข ข้อสำคัญที่สุดคือ ให้ช่วยตัวเองให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้

เกียรติประวัติที่ได้รับ

ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ได้รับการยกย่องในฐานะบูรพาจารย์ของการพัฒนางานและการศึกษาด้านการเกษตรของชาติ เนื่องจากท่านเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถและได้อุทิศตนเพื่อพัฒนางานเกษตรอย่างแท้จริง ท่านจึงได้รับเกียรติและได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญอย่างต่อเนื่อง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ การได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 4 สมัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้รับการเทิดทูนเคารพบูชาในฐานะบูรพาจารย์ ท่านจึงเป็นปูชนียบุคคลของชาติ โดยเฉพาะด้านการศึกษาทางการเกษตรของประเทศไทย

ในบั้นปลายชีวิต ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ ได้ล้มป่วยด้วยโรคความดันต่ำ เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลพญาไท 1 และอยู่ในความดูแลของแพทย์ระยะหนึ่ง แต่สุดความสามารถของแพทย์ที่จะรักษาอาการป่วยของท่านได้ ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2532 สิริอายุได้ 89 ปี ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2533 ณ วัดเทพศิรินทราวาส


แหล่งข้อมูล

ชีวิตและงานศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ (หลวงอิงคศรีกสิการ). กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2533.



Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University