ทำเนียบอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์




ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร


อธิการบดี

8 มิถุนายน 2539 - 7 มิถุนายน 2541

8 มิถุนายน 2541 - 7 มิถุนายน 2545


ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร เกิดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2484 เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน ของ นายหิรัญ สูตะบุตร อดีตอธิบดีกรมสรรพากร กับ นางเรณู สูตะบุตร (นามสกุลเดิม จุลสมัย) อดีตข้าราชการครู อดีตครูใหญ่และผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนสมถวิลราชดำริ ได้รับการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนดรุโณทยานและอัสสัมชัญ บางรัก และได้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่คณะกสิกรรมและสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นเวลา 3 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 2502-2505) จนสำเร็จอนุปริญญา ในระหว่างนั้นจึงสอบแข่งขันได้ทุนรัฐบาลไทย (ก.พ.) ตามความต้องการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2505 ไปศึกษาในสาขาวิชาโรคพืช (Plant Pathology) ณ University of California at Davis ประเทศสหรัฐอเมริกา จนจบปริญญาตรี โทและเอก และกลับมารับราชการในภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2511 เมื่ออายุเพียง 26 ปี 6 เดือน

ชีวิตราชการของ ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร ก้าวหน้าตามลำดับ เริ่มจากเป็นอาจารย์โทเมื่อแรกบรรจุ และก้าวหน้าในตำแหน่งวิชาการอย่างต่อเนื่องโดยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ 10 ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร ใน พ.ศ. 2534

ทางด้านการบริหารนั้น เริ่มตั้งแต่เป็นหัวหน้ากองแผนงาน (พ.ศ. 2520-2524) หัวหน้าภาควิชาโรคพืช (พ.ศ. 2521-2524) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. 2529-2533) ผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (พ.ศ. 2535-2539) รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนพัฒนา (พ.ศ. 2524-2525) ในสมัยศาสตราจารย์ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ เป็นอธิการบดี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ (พ.ศ. 2533-2535) ในสมัย ศาสตราจารย์ ดร. สุธรรม อารีกุล เป็นอธิการบดี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. 2539-2545) รวม 2 วาระเป็นเวลา 6 ปี นอกจากนั้นยังได้รับเกียรติเชิญให้เป็นกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ (กม.) กรรมการในคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทบวงมหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2545) และกรรมการอื่นๆ อีกหลายตำแหน่ง

เนื่องจาก ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร มีความเชี่ยวชาญด้านโรคพืช ท่านได้ให้ข้อคิดเห็นว่าการเรียนโรคพืชนั้นต้องศึกษา 2 ระบบ คือระบบวงจรชีวิตของพืชและวงจรของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และต้องศึกษาในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ในการทดลองโรคพืชจึงต้องมีการวางแผนต่างๆ อาจจะมากกว่า 2-3 สาขา ทำให้ได้รับการฝึกว่าจะต้องมีการวางแผนระดับหนึ่ง เมื่อได้เป็นหัวหน้ากองแผนงานคนแรกของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ซึ่งดูแลทั้งงานธุรการและการทำแผนงานให้การปฏิบัติเป็นไปตามนโยบายหลักของฝ่ายบริหาร และขณะนั้นเป็นหัวหน้าภาควิชาโรคพืช รวมทั้งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมกัน 3 ตำแหน่ง นับว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก ทำให้สามารถตรวจสอบขั้นตอนของงานให้ถูกต้อง แก้ไขจุดอ่อน จุดบกพร่อง และเชื่อมโยงเรื่องงานวิจัย สามารถประสานงานวิจัยทุกสาขา นอกจากนี้ การที่ได้มีโอกาสทำงานในรูปของกรรมการที่ต้องรับหน้าที่กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการชุดต่างๆ อยู่เสมอ ทำให้ต้องขยันและพิจารณาข้อมูลลึก ต้องเรียนรู้และศึกษาข้อมูล ทำให้มีโอกาสสะสมข้อมูลไว้ได้มากและมีฐานข้อมูลที่กว้าง จึงสามารถนำมาประยุกต์ได้อย่างดีและต่อเนื่อง

ขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ทางบริหาร ก็มิได้ละทิ้งหน้าที่ที่สำคัญ คือการเป็นอาจารย์สอนวิชาโรคพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากไวรัส ซึ่งมีบทบาทในการผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรี-โท-เอก หลายรุ่น และส่งเสริมลูกศิษย์ให้ได้รับทุนการศึกษา ทั้งจากรัฐบาลไทย และจากมหาวิทยาลัยของต่างประเทศ และกลับมาเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศไทย โดยทำงานในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน การที่ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร ได้ทุ่มเทกับงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง แม้จะรับตำแหน่งบริหารในระดับสูงก็ไม่ทิ้งงานวิชาการ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับตำแหน่งทางวิชาการขั้นสูงสุด คือ ศาสตราจารย์ ใน พ.ศ. 2534 นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร ยังได้มีส่วนวางรากฐานการศึกษาและการวิจัยที่สำคัญในด้านไวรัสของพืชในประเทศไทย มีผลงานเป็นตำรามากมายที่ได้รับการอ้างถึงและยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องไวรัสของพืชในประเทศไทยนั้นถือเป็นฐานข้อมูลหลักและเป็นพื้นฐานสำคัญในการวิจัยด้านไวรัส ซึ่งนำไปสู่การวิจัยด้านพันธุวิศวกรรมของพืชในปัจจุบัน ที่เรียกว่า GMO (Genetically Modified Organism) คือขั้นตอนการทำให้ไวรัสอ่อนแอลง แล้วจึงนำไปปลูกลงบนพืช จะทำให้พืชเกิดภูมิคุ้มกันต่อโรคขึ้นมา ที่ได้ดำเนินงานมาแล้ว คือ มะละกอ พริกและมะเขือเทศ ต่อมาได้มีการนำเอาชิ้นส่วนหนึ่งของไวรัสที่เรียกว่า DNA ไปเชื่อมต่อกับพืชโดยตรง แล้วทำให้พืชต้านทานไวรัสได้ GMO นี้จะมีส่วนดี คือ เมื่อใส่เข้าไปในพืชแล้ว ส่วนเมล็ดจะมีภูมิคุ้มกันติดไปตลอด แต่ถ้าใช้ไวรัสอ่อนแอปลูกลงบนพืช ก็จะต้องปลูกเชื้อทุกครั้งเมื่อปลูกพืช แต่ก็สามารถขยายพันธุ์ต่อไปได้ด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ นอกจากนั้นยังมีผลงานโดดเด่นอันเกิดจากผลสัมฤทธิ์ในการประสานงานวิจัยต่างๆ มากมาย อาทิ การจัดทำข้อมูลพื้นฐานในการเผยแพร่เทคโนโลยีทางการเกษตรเสนอต่อคณะของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อวางแผนความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นยังได้เคยประสานงานวิจัยเชิงนโยบายด้านการเกษตรเรื่อง นโยบายพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย ซึ่งมี ดร. อาณัติ อาภาภิรม เป็นหัวหน้าโครงการและมีผู้ร่วมโครงการฯ อาทิ ดร. วีรพงษ์ รามางกูร ดร. ธวัชชัย ยงกิตติกุล เป็นต้น และยังเคยเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง เทคโนโลยีการเกษตรในทศวรรษหน้า และเรื่อง ยุทธศาสตร์วิจัยด้านการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาของชาติ และล่าสุด คือ แผนกลยุทธ์การวิจัยด้านเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ตามวาระการวิจัยแห่งชาติในภาวะวิกฤตเพื่อฟื้นฟูชาติ เป็นต้น ในส่วนของการวิจัยเคยได้รับรางวัลวิจัยดีเด่นและชมเชยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกับเพื่อนร่วมงานและลูกศิษย์ เป็นผลงานวิจัยทางการเกษตรโดยเฉพาะทางไวรัสพืชมาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน

ทางด้านการพัฒนาหน่วยงานนั้น สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร ได้ร่วมก่อตั้งขึ้นมา โดยมีหน้าที่หลักในการประสานงานวิจัยของมหาวิทยาลัย ประสานการร่วมมือวิจัยและอำนวยความสะดวกต่างๆให้คณาจารย์ และนักวิจัย ดูแลในเรื่องของสิ่งจำเป็นที่ใช้ในการวิจัย เช่น เครื่องมือวิทยาศาสตร์ฯ จึงมีศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์กลาง บางเขน และฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง กำแพงแสน เพื่อดูแลในเรื่องการบริหารการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้สถาบันวิจัยและพัฒนาฯเป็นหน่วยงานที่จะเริ่มกลุ่มวิจัยหรือโครงการวิจัยใหม่ๆ ขึ้นมาจนมั่นคงแล้ว ก็ไปตั้งเป็นสถาบันเฉพาะทาง ซึ่งได้ให้ชื่อว่า สถาบันค้นคว้าและพัฒนา ได้แก่ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าด้านสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าด้านพืชศาสตร์ และสถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบเกษตรในเขตวิกฤต ซึ่งวิจัยในเรื่องของสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อม หน่วยงานหนึ่งที่ ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร มีความภูมิใจที่ได้เป็นผู้ก่อตั้ง คือ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ด้วยมองเห็นว่าไทยเราผลิตสินค้าเกษตรมากมาย เราส่งข้าวออกมากที่สุดในโลก ประมาณปีละ 5-6 ล้านตัน ส่งมันสำปะหลังออกมากที่สุดในโลก รวมทั้งยางพาราด้วย แต่ได้ราคาถูก ดังนั้นความจำเป็นในเรื่องของการที่จะแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับประเทศให้ได้ แม้ข้าวเองก็ไม่ได้ทำอาหารอย่างเดียว แป้งจากข้าวและน้ำมันรำข้าวก็มีคุณสมบัติดีที่ทำเครื่องสำอางได้ นอกจากนี้ฟางข้าวยังนำไปพัฒนาเป็นแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน จึงได้ผลักดันให้เกิดสถาบันฯนี้ขึ้นเป็นฐานในการที่จะพัฒนาเทคนิคการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร รวมทั้งจะเน้นไปถึงเรื่องการแปรรูปจากพืชสมุนไพรเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพอีกด้วย

ใน พ.ศ. 2539 ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นคนที่ 12 จนถึง พ.ศ. 2545 ตลอดระยะเวลา 6 ปีนั้น ท่านมีปรัชญาในการทำงาน คือ ในฐานะที่เป็นผู้บริหารระดับสูงสุดของมหาวิทยาลัย มีหน้าที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากรสามารถทำงานได้เต็มศักยภาพที่สุด ใครมาขออะไรหรืออยากทำอะไร ถ้าดูแล้วโอกาสเสี่ยงที่จะเสียหายกับมหาวิทยาลัยหรือกับบ้านเมืองไม่มีหรือมีน้อยมาก ค่าใช้จ่ายก็ไม่มากมาย ก็จะให้ทำได้เลย ในความเป็นผู้ให้และให้แก่ทุกคนนั้น ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร ได้กล่าวว่า ได้สอนผู้เกี่ยวข้องเสมอว่า ถ้ามีโอกาสได้ช่วยเหลือใครก็ช่วย มีโอกาสให้อะไรเขาก็ให้ หรือ ผมก็พยายามบอกลูก ถ้าช่วยเหลือใครได้ก็ช่วย ให้ได้ก็ให้ แต่อย่าไปมุ่งหวังในเชิงตอบแทนว่าเขาจะรู้สึกบุญคุณของเราหรือเขาต้องตอบแทนเรา นอกจากความมีน้ำใจดังกล่าวแล้ว ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร ยังเป็นผู้ให้ความเคารพนับถือต่อผู้อาวุโส โดยกล่าวว่า ผมเป็นคนโชคดีที่ได้มีโอกาสศึกษาแนวคิด และวิธีทำงานของผู้ใหญ่หลายท่าน

การที่อาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยมีความขยันขันแข็ง ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร จึงสนับสนุนให้ทำงานเต็มที่ และมีโอกาสได้ไปติดตามและดูงานโดยการรับเชิญไปร่วมงานต่างๆ ของภาควิชา คณะ สำนักหรือสถาบันทุกครั้ง ทำให้รู้ถึงพัฒนาการของหน่วยงานตลอดมา

รองศาสตราจารย์ ดร. วิโรจ อิ่มพิทักษ์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและพัฒนานิสิต และอธิการบดี (พ.ศ. 2545-) กล่าวถึง ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร ว่า ท่านอาจารย์เป็นปราชญ์ที่มีอุดมการณ์รอบรู้ รู้ลึก วิสัยทัศน์กว้างในทุกด้าน คิดในสิ่งที่หลายคนคิดไม่ถึง กล้าแสดงออก และทำในสิ่งที่หลายคนไม่กล้าทำ หากสิ่งนั้นเป็นความก้าวหน้าในอนาคตของสถาบันและประเทศ สำหรับนิสิต ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักของมหาวิทยาลัยนั้น ก็ได้พยายามให้เวลามากที่สุด โดยไปร่วมกิจกรรมต่างๆที่นิสิตทั้งชมรมต่างๆ สโมสรคณะและมหาวิทยาลัยจัดขึ้นมา ทั้งที่ได้รับเชิญและที่มิได้รับเชิญก็ยังขอไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย เช่น กิจกรรมการรับน้องใหม่ การประชุมเชียร์และการรับน้องในตึกพักหอพัก เพื่อดูแลทางด้านความเป็นอยู่ สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย การดูแลรักษาความปลอดภัย อาหารการกิน รวมทั้งการให้คำปรึกษาหารือในเรื่องทั้งส่วนรวมและเรื่องส่วนตัว ก็กระทำด้วยความเต็มใจและอบอุ่นยิ่งโดยมิได้เหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด รวมทั้งนิสิตระดับบัณฑิตด้วย นอกจากนี้ยังให้การช่วยเหลือนิสิตที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเรียน โดยการนำเงินค่าหน่วยกิต ที่มหาวิทยาลัยขอขึ้นราคาจาก 100 บาทเป็น 200 บาท ในส่วน 50 บาท ไปตั้งเป็นกองทุนในทุกคณะ แล้วให้นิสิตที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ไปขอจากกองทุนนี้ หรือบางคนก็ใช้วิธียกเว้นค่าหน่วยกิต แต่ให้รับทุนอย่างมีเงื่อนไข อาจจะช่วยอาจารย์เตรียมการสอน ค้นเอกสารหรือทำงานอื่นๆ ที่อาจารย์เห็นสมควร เพื่อจะได้ฝึกฝนและเรียนรู้ไปด้วย เพราะเมื่อมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เรื่องค่าหน่วยกิตและค่าเล่าเรียนจะต้องแพงขึ้น ซึ่งท่านก็ได้ให้ความเห็นไว้ว่า เมื่อถึงเวลานั้น นิสิตที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้โดยความสามารถทางวิชาการแล้ว จะต้องได้เรียนหนังสือ แม้จะขาดแคลนทุนทรัพย์ ถ้าจัดสรรและจัดการเงินค่าหน่วยกิต ที่แพงนั้นให้ดี โดยการยกเว้นค่าหน่วยกิตหรือให้เป็นทุนการศึกษา หรือใช้เป็นเงินกู้จากส่วนกลางดอกเบี้ยต่ำ ตลอดระยะการเป็นอธิการบดี ท่านได้ส่งเสริมให้นิสิตที่ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ของแต่ละคณะได้มีโอกาสเป็นอาจารย์แล้วให้ศึกษาขั้นสูงต่อไปเพื่อเป็นฐานทางวิชาการในอนาคต ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 20 คน และเพื่อให้เกิดสมดุลในสังคม จึงให้โอกาสนิสิตที่เป็นแกนหลักทางด้านกิจกรรม เช่น นายกองค์การนิสิต ประธานสภานิสิต และนิสิตที่มีความสามารถเฉพาะทาง เช่น ดนตรี หรือศิลปวัฒนธรรมไทย ก็รับเข้ามาเป็นอาจารย์ด้วยเหมือนเป็นต้นแบบ แล้วผลักดันให้เรียนต่อเช่นกัน แต่มีข้อแม้ว่าต้องได้คะแนนเฉลี่ย 2.5 และนิสิตกลุ่มนี้ต่อไปจะได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรม สโมสรนิสิตด้วย

ในส่วนของนิสิต ส่วนที่ 2 เป็นโควต้าพิเศษในพื้นที่ ก็จะมีบุตรหลานของเกษตรกร โดยมีแนวคิดว่าจะดูแลตั้งแต่ ชั้น ม. 1 ให้ทุนเรียนจนถึง ม. 6 ถ้าเรียนต่อไปไม่ได้ ก็ออกไปทำงานหรือไปเรียนอาชีวะ อาจถึง ม. 3 ออกไปทำงานหรืออาชีวะ เช่นกัน ผู้มีความสามารถก็เข้ามหาวิทยาลัย ได้พยายามผลักดันโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2525 โดยขอให้ โรงเรียนสาธิตฯ กำแพงแสนเป็นแกนหลักในเรื่องนี้ โดยคัดเลือกจากเด็กที่ด้อยโอกาสในส่วนต่างๆ ซึ่งมีปัญหาทางการเงิน หรือเรื่องของความเสียโอกาสด้านอื่นๆ รวมถึงเด็กออทิสติคหรือเด็กพิเศษที่มีความสามารถเฉพาะ ซึ่งได้เคยอนุมัติโครงการนี้เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี และในปี 2545 มีเด็กพิเศษนี้ เรียนจบชั้น ม. 6 จำนวน 5 คน จึงเปิดโอกาสให้เด็กทั้ง 5 คนนี้ เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในคณะสังคมศาสตร์ 3 คน เรียนประวัติศาสตร์ 1 คน เรียนสังคมวิทยา 2 คน และคณะศึกษาศาสตร์ รับไป 2 คน โดยจัดโปรแกรมให้เรียนวิชาที่สามารถที่จะเรียนได้ อาจมีปัญหาบ้าง แต่อยากให้เป็นต้นแบบต่อไป

การที่ได้ทำงานรับใช้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในตำแหน่งบริหารหลายตำแหน่งที่ผ่านมาถึง 35 ปีนั้น ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร มีความประทับใจในหลายๆ แง่มุม เช่น ในบทบาทของอธิการบดี มีความภูมิใจในคนเกษตรกว่าครั้งใด เมื่อใดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต้องรับงานใหญ่ ทำงานใหญ่หรือการรับเป็นเจ้าภาพงานใดๆ บุคลากรมหาวิทยาลัยฯ จะรวมตัวกัน รวมกำลังกันทำงานให้สำเร็จได้เมื่อถึงเวลาจำเป็นและมีการแบ่งกลุ่มกันน้อยกว่าในสังคมอื่นๆ บุคลากรมีความรักในองค์กรอยู่มาก และเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพสูงซึ่งนอกจากจะรักองค์กรแล้วยังไม่พอ ต้องรักบ้านด้วย ท่านจึงได้พยายามผลักดันการขยายโอกาสทางการศึกษาไปในจังหวัดต่างๆ เป็น 7 วิทยาเขต ในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ อดีตอธิการบดีได้แสดงความชื่นชม ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร ว่า เป็นผู้นำการพัฒนาวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่นำไปสู่การพัฒนาวิทยาเขตเพิ่มในพื่นที่ซึ่งแตกต่างกันในสภาพภูมิศาสตร์และประชากรของประเทศ ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร ให้ความเห็นว่า เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่ต่างๆได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้มากขึ้น รวมทั้งบุคลากรได้กลับไปหรืออยู่ดูแลเป็นแกนหลักในการพัฒนาจังหวัดของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ แต่แนวคิดการขยายมหาวิทยาลัยฯ ไปหลายวิทยาเขตนี้วางแผนพัฒนามา 20 กว่าปี ที่ผ่านมาโดยขยายจากบางเขนไปกำแพงแสน ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร เป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมจัดทำโครงการหลายหมื่นล้านนี้ เป็นแผนการดำเนินงานโดยละเอียดทุกมิติ ทั้งด้านการลงทุน การสร้างบุคลากร ซึ่งหลายคนมองว่าอาจจะทำให้บางเขนอ่อนประสิทธิภาพ ประกอบกับขณะนั้นสภาพเศรษฐกิจไม่ดี การขยายงานจึงเป็นไปอย่างล่าช้า สำหรับบางวิทยาเขตที่ขยายไปก็ด้วยมีความต้องการตรงกันทั้งทางจังหวัดนั้นๆ หน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ รวมทั้งศิษย์เก่าเกษตรฯอีกมากมายได้ช่วยกันผลักดัน ส่วนดีอีกประการหนึ่งที่ได้รับคือ อาจารย์มีโอกาสไปหมุนเวียนสอนนิสิตตามวิทยาเขต อันจะเป็นประโยชน์ในเรื่องของการเปิดวิสัยทัศน์ให้กว้างขึ้นทั้งด้านการสอนและในการทำวิจัยต่างๆ

ส่วนความคาดหวังต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในอนาคต ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร ได้ให้ข้อคิดว่า ในช่วงต่อไปข้างหน้านี้ โดยภาพรวม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คงจะต้องพัฒนาไปเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่มีความเข้มแข็งกว่า เช่น เมื่อวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2545 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เชิญมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีความร่วมมือกัน มาร่วมเป็นทีมงานที่จะพัฒนาวิชาการต่อไป ให้เกษตรศาสตร์เป็นแกนกลางที่มีการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยที่พัฒนากว่าเกษตรศาสตร์แล้วร่วมพัฒนามหาวิทยาลัยที่อ่อนกว่าเราเป็นวิธีการในการจะฝึกฝนให้กับคนไทยและประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าเรา เป็นเวทีนานาชาติมากขึ้น การเปิดมหาวิทยาลัยไปหลายๆวิทยาเขตก็มองเน้นในเรื่องของการเป็นฐานในการพัฒนาในประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น วิทยาเขตศรีราชา จะเป็นฐานหลักในการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกที่เชื่อมกับเขมร ส่วนวิทยาเขตฯสกลนครเป็นฐานในการพัฒนาภาคอีสานตอนบนเชื่อมโยงไปทางลาว เขมร เวียดนาม วิทยาเขตกระบี่ เชื่อมไปหาพม่าหรืออาจไปถึงมาเลเซียด้วยและวิทยาเขตกำแพงแสน เป็นฐานในการพัฒนาภาคตะวันตกที่จะเน้นด้านอุตสาหกรรมเกษตร

ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร เป็นผู้มีบทบาทต่อวงการกีฬาอย่างมาก ทั้งภายในมหาวิทยาลัย ในระดับประเทศและในต่างประเทศ ท่านได้ให้ความคิดเห็นในเรื่องการส่งเสริมการกีฬาในมหาวิทยาลัยว่าเป็นการสร้างคน นิสิตที่สนใจกีฬาชนิดใด ก็ให้เล่นกีฬาชนิดนั้นและพยายามสนับสนุนให้มีชมรมกีฬาและชมรมกิจกรรมอื่นๆ ให้มากขึ้น เป็นการดึงความเก่งของนิสิตในแต่ละเรื่องให้ปรากฏ ตัวท่านเองมีความสนใจและชอบเล่นกีฬาทุกชนิด ที่ชอบมากเป็นพิเศษจนเป็นกีฬาประจำตัวที่เล่นมาตั้งแต่เด็กๆ คือ ฟุตบอลและแบดมินตัน จนได้เป็นนักกีฬาฟุตบอลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อเป็นนิสิต และเมื่อได้ทุนไปเรียนต่างประเทศก็ได้มีโอกาสเป็นนักฟุตบอลของมหาวิทยาลัยที่ไปเรียนอีกด้วย แม้เมื่อเรียนจบปริญญาเอกกลับมารับราชการในมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์เมื่อปี 2511 ก็ยังคงเล่นฟุตบอลให้มหาวิทยาลัย จนทุกวันนี้ จึงเป็นที่มาของการส่งเสริมให้มีฟุตบอลไทยแลนด์ยูนิเวอซิตี้ลีค ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยร่วมกับบริษัทยูคอม จำกัด (มหาชน) คุณประเสริฐ พุฒตาลศรี และคุณธวัชชัย สัจจกุล ให้มีข้อบังคับ คือ มีการแข่งขันฟุตบอล แข่งขันกองเชียร์และเชียร์ลีดเดอร์ ภายหลังมีการประกวดมิสยูลีกด้วย เพื่อความคึกคักและน่าสนใจทั้งการกีฬาและกิจกรรมมหาวิทยาลัยฯ ปีต่อไปจะนำกรีฑาเข้ามาเสริมอีกรายการ ส่วนแบดมินตัน กีฬาประจำตัวที่เล่นทุกวันอังคารตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ด้วยเห็นว่า เป็นกีฬาที่ไม่ต้องใช้แรงปะทะ และคนไทยมีความว่องไว ความประณีตสูงอยู่แล้ว น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ปลูกฝังให้แก่เยาวชนไทยในกีฬานี้ จึงจัดให้มีการแข่งขัน Kasetsart Dairy Center Badminton Invitation โดยมีศูนย์นมและผลิตภัณฑ์นมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้สนับสนุนหลัก จัดเป็นปีที่ 3 แล้ว เป็นการแข่งขันที่มีจำนวนนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันมากที่สุดในประเทศ ส่วนการกีฬาอื่นๆ เช่น วงการซอฟท์บอล เคยเป็นเลขาธิการสมาคมฯ จนกระทั่งเป็นอุปนายกและนายกสมาคมซอฟท์บอลสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา และเป็นประธานสหพันธ์กีฬาซอฟท์บอลแห่งอาเซียนในที่สุด เมื่อเป็นอธิการบดีฯ ท่านได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (กก.มท) จึงได้เป็นกรรมการในคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ด้วย ซึ่งนอกจากการส่งเสริมการกีฬาในประเทศแล้ว ก็พยายามสร้างความเข้มแข็งให้แก่การดำเนินการกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย และได้เป็นประธานสหพันธ์กีฬามหาวิทยาลัยแห่งอาเซียน จึงรับเป็นเจ้าภาพกีฬามหาวิทยาลัยอาเซียนเมื่อ ค.ศ. 2000 ด้วย นับว่าเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมและเผยแพร่การกีฬาและชื่อเสียงของประเทศไทยสู่นานาชาติ และยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้านำคณะนักกีฬาไปร่วมการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ครั้งที่ 21 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนใน ค.ศ. 2001 เพื่อการเตรียมความพร้อมในการรับเป็นเจ้าภาพกีฬามหาวิทยาลัยโลกปี 2007 จึงได้สนับสนุนให้ไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ให้มากขึ้น เช่น การรับเป็นเจ้าภาพกีฬายิงธนูมหาวิทยาลัยโลก เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2002 ค.ศ. 2004 ไทยรับเป็นเจ้าภาพแบดมินตันและบีชวอลเลย์บอล ในการไปเสนอตัวแข่งขันการขอรับเป็นเจ้าภาพกีฬามหาวิทยาลัยโลกใน ค.ศ. 2007 ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินการซึ่งเป้าหมายหลักจะมีประเทศต่างๆร่วมการแข่งขันประมาณ 160 ประเทศ แต่ละประเทศจะมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม เฉลี่ย 3-5 มหาวิทยาลัย หมายความว่าจะมีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ จากทั่วโลกประมาณ 600 มหาวิทยาลัยมาประเทศไทย ใน ค.ศ. 2007 จากความโดดเด่นในด้านการเป็นนักกีฬาและผู้บริหารการกีฬาระดับประเทศและนานาชาติ กับมีส่วนผลักดันทางการกีฬาอื่นๆ อีกมากมาย จึงได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ทรงคุณค่าทางการกีฬาอีกด้วย ซึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร. สุพิตร สมาหิโต อดีตรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนา ได้กล่าวถึง ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร ว่า ท่านจะเคร่งครัดในการใช้เวลาที่เป็นส่วนตัว เพื่อการออกกำลังกายโดยเฉพาะการร่วมกิจกรรมกีฬาแบดมินตัน และกีฬาฟุตบอล… จึงไม่แปลกใจว่า ท่านจะสดชื่น อารมณ์ดี ไม่เคยเห็นท่านโกรธ หงุดหงิด ต่อผู้ใดเลย

ทางด้านชีวิตครอบครัว ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร สมรสกับอาจารย์สุนงนาท สูตะบุตร (จุลสมัย) ตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ได้รู้จักกันตั้งแต่เรียนหนังสือ เมื่อกลับจากอเมริกา ก็แต่งงานและมีบุตรธิดา 5 คน คนแรกเป็นผู้หญิง ด.ญ. ธนิดา สูตะบุตร (เสียชีวิตตั้งแต่อายุ 3 ขวบ) ต่อมาเป็นผู้ชาย 4 คน นายหรินทร์ สูตะบุตร รับราชการที่รัฐสภาและลาเรียนปริญญาเอกอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา นายธีร์ภัทร สูตะบุตร ทำธุรกิจส่วนตัวและเรียนปริญญาเอกไปด้วยที่ประเทศอังกฤษ นายธนัย สูตะบุตร เรียนปริญญาเอกอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา นายธีรทัศ สูตะบุตร ช่วยดูแลกิจการของครอบครัว คือ โรงเรียนพิชญศึกษา ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โดยมีอาจารย์สุนงนาท สูตะบุตรเป็นผู้อำนวยการ โดยมีแนวคิดในการดำเนินงานว่า ต้องการฝึกให้คนได้รู้จักคิดรู้จักผสมผสาน จึงนำจินตคณิตมาสอนและเชื่อว่าถ้าเรียนคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษเก่งแล้วก็จะเป็นรากฐานที่ดีสามารถสู้กับใครก็ได้ แล้วเสริมด้วยเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ตามทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งเรื่องระบบสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน และวัฒนธรรมไทย
ทุกคนในครอบครัวมีความเคารพรักและภาคภูมิใจในตัวท่านเป็นอย่างยิ่ง บุตรชายคนแรกคือ นายหรินทร์ สูตะบุตร ได้แสดงความชื่นชมต่อคุณพ่อ สรุปได้ว่า ลูกทุกคนภูมิใจกับคุณพ่อมาก เพราะพ่อเป็นหนึ่งในทุกด้าน เป็นเสาหลักของครอบครัวซึ่งให้ทรัพย์สินและอนาคตแก่ลูกๆ เป็นตัวอย่างของผู้มีคุณธรรม การอุทิศตนต่อส่วนรวม ในขณะที่ นายธีรทัศ สูตะบุตร บุตรชายคนสุดท้อง ชี้ให้เห็นว่า คุณพ่อเป็นคนสำคัญที่สุดของครอบครัว คุณพ่อทำงานทุกวัน ไม่เคยมีวันหยุดราชการ… อาจเป็นเพราะท่านมีสุขภาพแข็งแร็งรวมกับความรักใน เกษตร ของท่าน จึงทำให้ท่านไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เพราะฉะนั้น เมื่อคุณพ่อมีเวลาว่างอยู่กับครอบครัวเมื่อใด ลูกๆ จะต้องว่าง ใครมีนัดก็ต้องเลื่อนนัด เพราะถือว่านัดของพ่อสำคัญที่สุด

ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร มีปรัชญาในการทำงานอีกประการหนึ่งที่น่าจะเป็นสิ่งที่ยึดถือมาโดยตลอดก็คือ ให้ศึกษา ทำงานและการอื่นเพื่อผลได้ ความดี ความชอบ ความสำเร็จ เป็นผลพลอย และตลอดมาได้เรียนวิชาในระดับปริญญาทางการเกษตรมาด้วยความรักเพราะเห็นว่าเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของคนในประเทศ การเรียนทางการเกษตรจึงน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนในวงกว้างและในทุกระดับ โดยเฉพาะระดับรากหญ้า เมื่อได้ความรู้ ประสบการณ์จากการเรียนมาเต็มเปี่ยม ก็ได้นำความรู้ความสามารถมาประกอบการทำงานจนมีความก้าวหน้าและสร้างความเจริญให้กับวงการเกษตรของไทย นอกจากนี้ความรักในการเกษตรก็มีส่วนผลักดันให้ดำรงตำแหน่งต่างๆทางการเกษตร เช่น นายกสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรรมการสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา สภาวิจัยแห่งชาติ ประธานสภาสมาคมการเกษตรไทย เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคลากรดีเด่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่นประจำปี 2545 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯตามตำแหน่งราชการ คือ ศาสตราจารย์ ระดับ 10 เป็นสายสะพาย 4 เส้น ที่เป็นสายสะพายชั้นสูงสุด คือชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2545 จากการที่ได้มีโอกาสทำงานเกี่ยวข้องกับโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือโครงการหลวง ตั้งแต่เริ่มรับราชการราว พ.ศ. 2511 และได้มีโอกาสเป็นประธานจัดงานโครงการหลวง 3 ปีติดต่อกัน

ตลอดชีวิตการทำงานของ ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร เกือบ 35 ปี สิ่งที่ท่านมักจะทำในยามว่างก็คือ การปลูกต้นไม้ ตั้งแต่บอนสี โป๊ยเซียน พุทธรักษา กล้วยไม้ และพวกไม้หายากอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะกล้วยไม้ ท่านให้ความสนใจและมีงานวิจัยทางด้านโรคของกล้วยไม้ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงาน จนปัจจุบันยังเป็นนักสะสมและศึกษาความเป็นไปของกล้วยไม้ป่าและกล้วยไม้พื้นเมืองของไทยอย่างจริงจัง จนอาจารย์จิตราพรรณ พิลึก อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ผสมพันธุ์หวายพื้นเมืองที่เรียกว่า เอื้องแซะ ซึ่งเป็นหวายดอกหอม ผสมข้ามพันธุ์กับดอกหวายกลุ่มอื่นๆ จนได้หวายต้นเตี้ย มีดอกหอม ต้นขนาดเล็ก ปลูกเลี้ยงในที่ร่มได้ และให้ชื่อว่า หวายลูกผสม สูตะบุตร ซึ่งน่าจะพัฒนาต่อไปเป็นกล้วยไม้ขนาดย่อมปลูกในที่ทำงานได้ และความที่เป็นผู้มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ท่านได้ให้แนวคิดในการพัฒนาพืชบางชนิดให้มีอนาคตที่ดีเพื่อทดแทนพืชอื่นที่กำลังประสบปัญหาในหลายๆ ด้าน เช่น พุทธรักษา ที่นอกจากจะมีชื่อเป็นมงคลแล้ว ยังสามารถปลูกได้ในหลายๆ พื้นที่ทั้งที่ลุ่มชื้นแฉะ บริเวณชายน้ำ หรือกลางถนนหนทาง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์พื้นเมือง จึงได้ไปเสาะหารวบรวมพันธุ์พุทธรักษาตามแหล่งต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาทดลองปลูก พบว่าพันธุ์ที่ปลูกได้ตามเกาะกลางถนนจะเป็นพันธุ์ธรรมดา ส่วนพันธุ์ดีที่หายากๆ ต้องดูแลรักษามาก

สำหรับชีวิตหลังเกษียณอายุราชการ (1 ตุลาคม 2545) ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร ยังมีงานที่ต้องรับใช้ชาติบ้านเมืองอีกมากมาย เช่น ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีรัฐร่วมเอกชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรรมการร่วมศูนย์นานาชาติสิรินธร เพื่อการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กรรมการในคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานที่ปรึกษาสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เป็นต้น ในเรื่องการกีฬา เช่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กรรมการในคณะกรรมการดำเนินการเพื่อขอรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน ครั้งที่ 24 ปี 2550 (ค.ศ. 2007) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีงานทางด้านวิจัยและวิชาการที่อยากทำอีกหลายๆ เรื่อง เช่น การประกันราคาผลไม้ไทย จัดทำเป็น Model ต้นแบบให้ครบวงจร แล้วนำไปทำกับพืชทุกอย่าง รวมทั้งกล้วยไม้พื้นเมืองของไทยที่เคยมีอยู่ในป่ามากมาย แต่ขณะนี้กำลังจะหมดไปแล้ว ความปรารถนาของ ศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สูตะบุตร อยากให้ เมืองไทยสวยด้วยกล้วยไม้ไทย โดยพยายามผลักดันให้นำเมล็ดมาเพาะ เพื่อให้ได้ต้นมากขึ้น แล้วกระจายกลับไปตามพื้นที่ในส่วนที่มีคนดูแลรักษาต่อไป



Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University