หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ความเป็นมา / นิทรรศการ / รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น



รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น

      อาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อาคารจั่วสามมุข” อาคารที่ทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่ได้รับการบำรุงรักษาและอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีกว่า 60 ปี ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2561 ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ โดยการพิจารณาของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์


      ทั้งนี้ คณะผู้แทนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน (ผู้แทนอธิการบดี) ผศ.รัชด ชมภูนิช รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์และสื่อสารองค์กร ผศ.ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารีย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (ผู้แทนสถาปนิกผู้ออกแบบอนุรักษ์/ปรับปรุง)ได้เข้ารับพระราชทานรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2561 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 30 เมษายน 2562 เวลา 9.00 น. ณ อาคารชาแลนเจอร์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี

      สำหรับประวัติของอาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น  ได้รับการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 18 เมษายน พุทธศักราช 2497 โดยจอมพล ป. พิบูล สงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สร้างแล้วเสร็จในพุทธศักราช 2500 ผู้ออกแบบได้แก่ นายศิริชัย นฤมิตรเรขการ สถาปนิกกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อใช้เป็นสถานที่รับพระราชทานปริญญาบัตรตั้งแต่พุทธศักราช 2500 – 2519 ต่อมามีการต่อเติมอาคารบริเวณพื้นที่ทางเดินข้างส่วนหอประชุมเพื่อใช้เป็นพื้นที่พักคอยและจัดเลี้ยงระหว่างพักการแสดง หลังจากนั้นในพุทธศักราช 2555 – 2556 มีการบูรณะซ่อมแซมอาคารตามหลักวิชาการอย่างเคร่งครัด แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การบูรณะศิลปกรรมลายปูนปั้นประดับหลังคา และการซ่อมแซมและปรับปรุงองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่ชำรุดเสียหายให้เหมาะสมกับการใช้งานโดยไม่ส่งผลกระทบต่อรูปแ บบศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมดั้งเดิม ประกอบด้วย การซ่อมแซมหลังคาและมุงกระเบื้องใหม่ การซ่อมแซมและตกแต่งพื้นที่ภายในอาคารทั้งหมด และเปลี่ยนระบบปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงภูมิสถาปัตยกรรมโดยรอบอาคารให้เหมาะสมกับการใช้งานอีกด้วย

      อาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาเข็มซุงไม้เนื้อแข็งยาว 17 เมตร อาคารกว้าง 59.40 เมตร ยาว 64.55 เมตร และสูง 24 เมตร รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีประยุกต์ผสมผสานลักษณะของสถาปัตยกรรมตะวันตกแนวนีโอ-คลาสสิค ในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองระหว่างพุทธศักราช 2475 – 2500 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและการพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัย (Modernization) อาคารมีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา เน้นประโยชน์ใช้สอย ลดการประดับประดาหรือตกแต่งด้วยองค์ประกอบที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ มีลักษณะสมมาตร มีทางเข้าออก 3 ด้าน ทางเข้าหลักอยู่ทางด้านหน้าอาคารฝั่งตะวันออกที่เชื่อมกับสระน้ำ ด้านหน้าหอประชุมเป็นอาคาร 3 ชั้น ที่เรียงลำดับความเป็นส่วนตัวจากชั้นล่างขึ้นชั้นบน พื้นที่ชั้น 1 เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมกึ่งสาธารณะ ประกอบด้วยห้องประชุมใหญ่ 500 ที่นั่ง ห้องนิทรรศการหมุนเวียนหอประวัติ และห้องรับรองขนาดเล็ก 2 ห้อง ตั้งอยู่ทั้ง 2 ด้านของห้องประชุมใหญ่ พื้นที่ชั้น 2 ประกอบด้วยห้องประชุม ห้องพิธีการ ห้องจัดเลี้ยง และทางเข้าบริเวณชั้นลอยของห้องประชุมใหญ่ชั้น 1 ส่วนพื้นที่ชั้น 3 เป็นพื้นที่รับรองพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายชั้นสูงประกอบด้วย ห้องที่ประทับ 2 ห้อง และห้องรับรองผู้ติดตามส่วนพระองค์ 2 ห้อง

อาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

      นับเป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับการรักษาคุณค่าทาง ศิลปกรรม คุณค่าทางสถาปัตยกรรม คุณค่าทางวิชาการ และ คุณค่าทางสังคม ทำให้อาคารสามารถรักษาบทบาทการเป็นศูนย์รวมและเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้อย่างน่า ชื่นชม โดยความคิดเห็นของคณะกรรมการคัดเลือก มองว่า สถาปนิกผู้ออกแบบอนุรักษ์/ปรับปรุง มีความแยบยลในการปรับปรุงงานระบบและเปลี่ยนวัสดุ แต่ยังแสดงองค์ประกอบเดิมและไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบ ทั้งนี้ สถาปนิกผู้ออกแบบอนุรักษ์/ปรับปรุง ได้แก่ อาจารย์ศรุติ โพธิ์ไทร ผศ.ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี และอาจารย์จตุพล อังศุเวช



Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University