นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์




นายกสภามหาวิทยาลัย

ครั้งที่ 1 30 ส.ค. 2535 – 29 ส.ค. 2537

ครั้งที่ 2 30 ส.ค. 2537 – 29 ส.ค. 2539



ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี ปรัชญาในการทำงาน คิดหรือทำ…ต้องทำให้เป็นเลิศ เกิดเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2475 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรของนายมุ่ง และนางอุสา สรรพศรี ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลวิทยาลัยและโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นได้ไปศึกษาต่อและได้รับอนุปริญญาวนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใน พ.ศ. 2497 ปริญญา B.S. (วนศาสตร์) จาก Oregon State University ใน พ.ศ. 2500 ปริญญา M.S. (วนศาสตร์) จาก Oregon State University ใน พ.ศ. 2502 และ Ph.D. (นิเวศวิทยาป่าไม้) จาก University of Washington สหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. 2504 และเดินทางกลับมารับราชการในภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในตำแหน่งอาจารย์ประจำ

เมื่อเริ่มปฏิบัติภารกิจในคณะวนศาสตร์ในฐานะอาจารย์ มีหน้าที่สำคัญคือ การสอนและวิจัย ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี เป็นคนแรกในสาขาวิชาวนศาสตร์ของประเทศไทย ที่ได้รับปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี มองเห็นความสำคัญของการวิจัย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา จึงได้ริเริ่มจัดตั้งทีมงานวิจัย โดยได้ชักชวนอาจารย์หลายท่าน ทั้งจากคณะวนศาสตร์และคณะกสิกรรมและสัตวบาลในสมัยนั้น ร่วมกันทำงานด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ ซึ่งในขณะนั้นยังมีการศึกษาวิจัยทางด้านนี้น้อยมาก การวิจัยได้ดำเนินการ ณ สวนป่าพุแค จังหวัดสระบุรี สถานีวิจัยสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา ลุ่มน้ำห้วยคอกม้า อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ ป่าชายเลน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี และได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลติดต่อกันเป็นเวลานานนับสิบปี มีการตีพิมพ์เผยแพร่ผลการวิจัยเกี่ยวกับป่าประเภทต่างๆ ที่ได้ดำเนินการวิเคราะห์วิจัย ทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเรียนการสอนในสาขาวิชาเหล่านี้


ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี ได้เริ่มต้นตั้งแต่เป็นหัวหน้าคณะวิจัย ลงมือดำเนินการวิจัยร่วมกับผู้ร่วมงาน และที่สำคัญคือเป็นผู้มีส่วนในการจัดหาทุนมาดำเนินการวิจัยอีกด้วย ต่อมา ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย (พ.ศ. 2511 - 2513) คณบดีคณะวนศาสตร์ (พ.ศ. 2513-2515) รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ (พ.ศ. 2515-2516) กระนั้นก็ตามก็ไม่เคยทอดทิ้งงานวิจัยและทีมงานวิจัย ตลอดเวลา ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี ยังคงจัดหาทุนวิจัย หาโอกาสไปร่วมงานวิจัยอยู่เสมอ นักวิชาการและนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ได้มีโอกาสร่วมมือกับท่านยอมรับนับถือว่า ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี เป็นผู้ผลักดันและส่งเสริมให้มีโอกาสทำการวิจัย กระตุ้นให้เกิดการริเริ่มโครงการวิจัย ตลอดจนได้รับโอกาสในการเสาะแสวงหาแหล่งทุนเพื่อการวิจัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในสายงานวนศาสตร์ นิเวศวิทยา การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หรือการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม กล่าวได้ว่า นักวิจัยในสาขาต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเคยได้ร่วมงาน ได้รับแรงบันดาลใจ คำชี้แนะ การสนับสนุน ตลอดจนทรัพยากรที่จำเป็นในการดำเนินการวิจัยมาแล้วทั้งสิ้น นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี ยังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการเผยแพร่ผลการวิจัย โดยจัดให้มีการพิมพ์รายงานวนศาสตร์วิจัยขึ้นเป็นฉบับปฐมฤกษ์ใน พ.ศ. 2510 ซึ่งได้พัฒนาต่อมาเป็นวารสารวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปัจจุบัน

คำประกาศเกียรติคุณในโอกาสที่ ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี เข้ารับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วนศาสตร์) ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปี 2527 มีใจความตอนหนึ่ง ดังนี้

…ในขณะที่ปฏิบัติราชการประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น นอกจากจะได้ดำรงตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแล้ว นายสง่า สรรพศรี ยังได้ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงอื่นๆ อันได้แก่ ตำแหน่งคณบดีคณะวนศาสตร์ และตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการอีกด้วย จึงมีส่วนสำคัญในการวางรูปแบบการศึกษาและการวิจัย การบริหารงาน และการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างมากมาย เช่น ได้เริ่มจัดวิชานิเวศวิทยาป่าไม้ และวิชาสถิติเพื่อการวิจัยทางป่าไม้ เข้าไว้ในหลักสูตรปริญญาตรีทางวนศาสตร์ ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศหลายประเทศเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการวิจัยทางป่าไม้เพิ่มขึ้นอย่างมากยิ่งเป็นครั้งแรก เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญในการดำเนินการจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัย ได้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาโทในสาชาวิชาวนศาสตร์ ได้วางแผนอัตรากำลังทางวิชาการและจัดหาทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณวุฒิของคณาจารย์เป็นจำนวนมาก และเป็นเจ้าหน้าที่หลักผู้หนึ่งในการจัดเตรียมรายละเอียด ติดต่อเจรจา และประสานงานต่างๆ ในโครงการเงินกู้ธนาคารโลกเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัย เป็นต้น ผลงานต่างๆ เหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ส่งผลให้มหาวิทยาลัยเจริญก้าวหน้า และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

นายสง่า สรรพศรี เป็นนักวิชาการที่ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา โดยได้ทำการค้นคว้าวิจัยด้วยตนเองอยู่เป็นอาจิณตราบเท่าปัจจุบัน จึงมีตำราและเอกสารผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้เริ่มร่วมดำเนินการและให้การสนับสนุนงานวิจัยที่มีความสำคัญเป็นพิเศษต่อประเทศชาติเป็นจำนวนมาก เช่น งานวิจัยด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การถางป่าทำไร่เลื่อนลอย นิเวศวิทยาของป่าดิบแล้งและป่าชายเลน การปลูกพืชอเนกประสงค์ การบำรุงพันธุ์ไม้ป่า การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม เป็นต้น และได้ดำเนินการจัดระบบงานและจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการวิจัยหลายประการ เช่น การจัดตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียมขึ้นในประเทศไทย การกำหนดให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ฝึกอบรมวิชาการด้านการบำรุงพันธุ์ป่าไม้สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน การกำหนดให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลการวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำในบริเวณท้องที่ภาคเหนือ และกำหนดแนวทางและช่วยงานวิจัยระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นภายใต้โครงการช่วยเหลือของสมาคมส่งเสริมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น…


นอกจากด้านการสอนและการวิจัยแล้ว ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี ยังได้มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เขียนไว้ในหนังสือ สร้างชาติด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในหัวเรื่อง ดร. สง่า สรรพศรี กับการขยายงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีข้อความส่วนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

…ดร. สง่า ได้เป็นกำลังสำคัญช่วยสร้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในระยะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำลังขยายงาน เริ่มแต่ พ.ศ. 2505-2516 ขณะนั้นมหาวิทยาลัยมีผู้บริหารจำนวนน้อยมาก ผู้บริหารแต่ละคนจึงต้องอุทิศเวลาให้ราชการ ไม่มีวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ เมื่อข้าพเจ้าเป็นเลขาธิการนั้น เลขาธิการต้องไปดูแลความเรียบร้อยและให้กำลังใจนิสิตในกิจกรรมของนิสิตทุกประเภท โดยเฉพาะกีฬาทุกชนิด ทั้งยังจะต้องเสียภาษีสังคมเป็นค่าถ้วยรางวัลและของขวัญงานแต่งงาน เดือนละ 2,000 บาท จากเงินเดือน 6,000 บาท สมัยนั้นไม่มีเงินประจำตำแหน่งและไม่เบิกค่าล่วงเวลา ในคณะกรรมการที่ข้าพเจ้าเป็นประธานหรือที่ปรึกษา ได้อาศัย ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี เป็นประธานบ้าง รองประธานบ้าง เลขานุการบ้าง โดยเฉพาะ ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี เป็นตัวจักรสำคัญในโครงการเงินกู้ธนาคารโลก พ.ศ. 2511 ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี เป็นผู้ช่วยหัวหน้าโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นกรรมการเตรียมงาน Campus Planner ของ Rockefeller Foundation พ.ศ. 2513 เป็นกรรมการจัดทำ Master Plan ของมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2514 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนา มก. และ พ.ศ. 2515 เป็นเลขานุการหน่วยโครงการเงินกู้ธนาคารโลก จนในที่สุดได้ทำสัญญากู้เงินธนาคารโลกเรียบร้อย เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2515 ในวงเงิน 15.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 320 ล้านบาท โดยทางรัฐบาลไทยจะสมทบงบประมาณให้อีก 269 ล้านบาท ในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2515-2520 เพื่อพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่บางเขน และวิทยาเขตกำแพงแสน ถ้าไม่มีเงินกู้จำนวนนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ไม่อาจจะก้าวหน้ามาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ได้

พ.ศ. 2505 ดร. สง่า สรรพศรี ได้เป็นเลขานุการคณะกรรมการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ เป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการร่างข้อบังคับและร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัย พ.ศ. 2509 เป็นประธานกรรมการการศึกษา มก. และรักษาการรองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย พ.ศ. 2510 เป็นกรรมการวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2511 เป็นรองประธานคณะกรรมการเตรียมจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ พ.ศ. 2512 เป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย พ.ศ. 2513 เป็นประธานกรรมการจัดตั้งสำนักส่งเสริมและเผยแพร่ และเป็นคณบดีคณะวนศาสตร์ พ.ศ. 2514 ในฐานะประธานกรรมการการศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สนับสนุนการจัดตั้งโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เมื่อ พ.ศ. 2512 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีนิสิตปริญญาตรี 3,756 คน นิสิตปริญญาโท 389 คน ข้าพเจ้าเห็นว่าเมืองไทยใช้นักวิชาการมาบริหารงานมหาวิทยาลัย ก็คงพอบริหารกันไปได้ แต่ถ้านิสิตเพิ่มเป็นหมื่นสองหมื่นคน อาจจะเกิดปัญหาที่เกินความสามารถในทางบริหารของนักวิชาการไปก็เป็นได้ ข้าพเจ้าจึงได้เชิญ Dr. J.H. Jensen อดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยโอเรกอนเสตท มาถ่ายทอดความรู้ทางด้านงานบริหารเมื่อ พ.ศ. 2512-15 แต่พอดีข้าพเจ้าต้องไปรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษาเสียหนึ่งปีเต็ม ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี จึงต้องรับหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ความชำนาญในด้านการบริหารงานมหาวิทยาลัย จาก ดร. เจนเสน แทนข้าพเจ้า และต้องรับภาระเกี่ยวกับเงินกู้ธนาคารโลกมากกว่าตัวข้าพเจ้าเอง ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ในขณะที่ทำหน้าที่คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และคณบดีคณะวนศาสตร์ ดร.สง่า ได้วางแผนการและสนับสนุนในด้านพัฒนาบุคลากรเพื่อให้อาจารย์วุฒิปริญญาโทและปริญญาเอก เพิ่มจำนวนและสัดส่วนขึ้นเมื่อเทียบกับอาจารย์วุฒิปริญญาตรี และได้วางแผนให้เพิ่มการสอนปริญญาโทและปริญญาเอกขึ้นในคณะวนศาสตร์.…

ใน พ.ศ. 2516 ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี ได้โอนย้ายไปรับราชการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และได้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน ใน พ.ศ. 2524 - 2535 ตำแหน่งหน้าที่ใหม่ก็ยังเกี่ยวข้องกับสายงานวิชาการ โดยเฉพาะในการวิจัยและการพัฒนาบุคลากร ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี จึงยังมีส่วนผูกพันกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในด้านการให้การสนับสนุนส่งเสริมการวิจัย การพัฒนาบุคลากรในสายการวิจัยของมหาวิทยาลัย และยังคงมาช่วยงานกิจกรรมการเรียนการสอนของคณะวนศาสตร์ตามแต่โอกาสจะอำนวย

ความสามารถและผลงานในการบริหารและในทางวิชาการของ ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี นั้น เป็นที่ยอมรับทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ จึงได้รับเชิญและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ มากมาย อาทิ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน ราชบัณฑิตของ Royal Swedish Academy of Engineering Sciences ราชบัณฑิตของ Royal Norwegian Society of Sciences and Letters ที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสหประชาชาติ เป็นต้น ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยรวม 7 สถาบัน และจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ 4 แห่ง การได้รับการยอมรับจากนานาชาตินี้ เป็นองค์ประกอบในการเผยแพร่ชื่อเสียง เกียรติคุณของประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นแหล่งให้การศึกษาแก่ ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี ด้วยส่วนหนึ่ง


ผลงานสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องยกให้เป็นความสำเร็จของ ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี คือ การจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี ผู้เลือกศึกษาทางการป่าไม้ ได้มองเห็นความสำคัญของสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งจะเป็นแหล่งสำคัญในการรวบรวมพรรณไม้ จัดหมวดหมู่เป็นระบบเพื่อการศึกษาวิทยาการด้านพืช และเป็นศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรพรรณพืชของประเทศไทย ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี จึงมีความมุ่งมั่นในการริเริ่มให้มีสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นในประเทศไทยให้ได้ และโอกาสก็เป็นของท่าน โดยในช่วงที่ ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ผลักดันโครงการจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งได้มีการเตรียมการในรายละเอียดโดยคณะทำงานซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี ได้เตรียมการมาล่วงหน้าเป็นเวลาหลายปี เมื่อได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้โครงการจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ มีความเป็นไปได้โดยสมบูรณ์ คณะรัฐมนตรี (สมัย ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี) จึงมีมติให้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ใน พ.ศ. 2535 และใช้พื้นที่ป่าไม้ในท้องที่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสวนพฤกษศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย ต่อมาใน พ.ศ. 2537 สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามว่า สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และได้พัฒนาต่อเนื่องมาจนมีความสมบูรณ์ สวยงามเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในทางพฤกษศาสตร์ พันธุศาสตร์ นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชาการเกษตร และเพื่อให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่มีความสมบูรณ์ตามหลักสากล ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี ได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะต้องมีศูนย์วิจัยและพัฒนาของสวนพฤกษศาสตร์ และเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2543 ได้มีพิธีเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาขึ้นที่สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนานี้เป็นหัวใจสำคัญยิ่งดังที่ ดร. วีระชัย ณ นคร ผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้เขียนไว้ในเอกสารในวันเปิดงานศูนย์วิจัยและพัฒนาสง่า สรรพศรี ณ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ข้อความตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า

…ศูนย์กลางงานด้านพฤกษศาสตร์ที่เป็นพลังของสวน ได้แก่ หอพรรณไม้ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและอาคารศูนย์วิจัย กลุ่มอาคารนี้จึงได้รับขนานนามว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาสง่า สรรพศรี เพื่อให้เป็นเกียรติประวัติและระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านได้อุทิศทุ่มเทให้กับสวนพฤกษศาสตร์ ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้จะเปรียบเสมือนวิสัยทัศน์ของท่าน

อนึ่งเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ มูลนิธิศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี เพื่อการวิจัย จึงได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2540

ในช่วงปลายชีวิตของ ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน เมื่อต้น พ.ศ. 2535 ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี ได้ลาออกจากราชการมีสถานะเป็นข้าราชการบำนาญ แต่ก็ยังคงทำงานด้านวิชาการ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่องค์กร และวงการวิชาการ วิจัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความเห็นว่า ท่านน่าจะทำประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยได้อีก จึงมีมติให้เสนอชื่อ ดร. สง่า เพื่อทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2535 ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี ก็ได้ทุ่มเทสติปัญญา เพื่อวางโครงสร้างแนวทางการพัฒนา แผนการและรูปแบบการบริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษนี้ ทั้งอัตราการเพิ่มจำนวนนิสิตและบุคลากร เป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยมีภารกิจเพิ่มพูนขึ้นมากมายที่จะต้องดำเนินการบริหารจัดการ ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี ได้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รวม 2 วาระ และสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งใน พ.ศ. 2539

ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี เคยกล่าวกับผู้ใกล้ชิดว่า ท่านโชคดีที่ได้เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และได้มีส่วนร่วมรับใช้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีบุคลากรที่ทรงคุณธรรมและความสามารถในการบริหาร ท่านได้ซึมซับประสบการณ์และแนววิธีการบริหาร จากการที่ได้มีโอกาสร่วมงานทั้งในฐานะศิษย์และผู้ใต้บังคับบัญชากับศาสตราจารย์อินทรี จันทรสถิตย์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ศาสตราจารย์เทียม คมกฤส ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ศาสตราจารย์บุญ อินทรัมพรรย์ ศาสตราจารย์เทอด สุปรีชากร ซึ่งล้วนเป็นบูรพาจารย์ ปูชนียบุคคลที่สำคัญของมหาวิทยาลัย ส่งผลให้ ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี มีโอกาสเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ โดยอาศัยแนวทาง รูปแบบ และประสบการณ์จากท่านต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นแบบอย่าง นอกจากนั้น ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี ยังกล่าวด้วยว่า เป็นโชคดีซ้ำสองของท่าน ที่ได้ผู้ร่วมงานที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพ ทำให้กิจกรรมต่างๆ ลุล่วงตามวัตถุประสงค์ด้วยดี

ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี ได้เขียนตำราและเอกสารทางวิชาการไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมกว่า 100 เรื่อง ทางด้านวิชาการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และด้านวิชาการป่าไม้ และที่สนใจเป็นพิเศษคือ ป่าชุมชน และป่าชายเลน ศาสตราจารย์ ดร. สนิท อักษรแก้ว ได้เขียนไว้ในหนังสือป่าไม้คือชีวิต ข้อความตอนหนึ่งว่า …ด้วยความผูกพันและส่งเสริมทำกิจกรรมนานาประการอย่างจริงจังที่อาจารย์สง่า ได้ทุ่มเทชีวิตและจิตใจเพื่อป่าชายเลนมาโดยตลอดอย่างยาวนานตามที่กล่าวมา สมควรแล้วที่พวกเราได้ยกย่องท่านอาจารย์ โดยกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า …อาจารย์สง่า…คือบิดาของป่าชายเลนโดยแท้

ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี สมรสกับ รองศาสตราจารย์วชิรา (นามสกุลเดิม สัตยะยุกต์) สรรพศรี อดีตหัวหน้าภาควิชาบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีบุตรชายเพียงคนเดียวคือ ดร. ชโยดม สรรพศรี ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี ได้รับเกียรติคุณให้เป็นพ่อตัวอย่างใน พ.ศ. 2530 ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี มีความภาคภูมิใจที่ได้รับเกียรติและการยกย่องจากสถาบันและองค์กรต่างๆ เช่น รางวัล Best All-Around Student Award จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย (พ.ศ. 2494) ศิษย์เก่าดีเด่นจากสมาคมศิษย์เก่า University of Washington สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2521) ศิษย์เก่าดีเด่นสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. 2524) ศิษย์เก่าดีเด่นจากสมาคมศิษย์เก่า Oregon State University สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2532) รางวัลข้าราชการดีเด่นจากสมาคมข้าราชการพลเรือน (พ.ศ. 2529) บุคคลดีเด่นแห่งชาติสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ (พ.ศ. 2530)

ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี ได้ปฏิบัติงานซึ่งก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างประเทศ จึงได้รับการยกย่องและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากประเทศต่างๆ ได้แก่ Royal Order of Commander ประเทศเดนมาร์ค Grand Officier, de' l' ordre de la Couroune ประเทศเบลเยี่ยม The Insignia of the Commander, First Class of the lion of Finland ประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์ The Insignia of the Commander of the Royal of the Polar Star of Sweden ประเทศสวีเดน และ The Insignia of the Commander of the Royal Norwegian Order of Merit ประเทศนอร์เวย์

ด้วยความทุ่มเทในการปฏิบัติราชการและการพัฒนาด้านบริหารและด้านวิชาการ จากความรู้ความสามารถ กอปรกับความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ คือ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เหรียญรัตนาภรณ์ชั้น 3 และเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี ได้เคยพูดอยู่เสมอว่า ความภาคภูมิใจอันสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใดคือ การได้มีโอกาสรับสนองพระมหากรุณาธิคุณในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระบรมราชวงศ์

เนื่องจากศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี ได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2542 การเรียบเรียงข้อเขียนนี้ จึงมีที่มาจากคำบอกเล่าของผู้ใกล้ชิด และเอกสารที่ได้มีการบันทึกไว้โดยท่านที่เกี่ยวข้อง


แหล่งข้อมูล


วชิรา สรรพศรี. สัมภาษณ์, 17 เมษายน 2545.

คำประกาศเกียรติคุณปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วนศาสตร์) พ.ศ. 2527.

สร้างชาติด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. เชียงใหม่ : มูลนิธิศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี เพื่อการวิจัย, 2542.

หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร. สง่า สรรพศรี. ณ วัดเทพสิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันที่ 16 พฤษภาคม 2542.



Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University