ทำเนียบอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์




ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ


อธิการบดี

29 กุมภาพันธ์ 2523 - 28 กุมภาพันธ์ 2525


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2474 ที่จังหวัดสระบุรี เป็นบุตรของนายแทน และนางประไพ อิงคสุวรรณ ครอบครัวทางด้านบิดาเป็นชาวนาอยู่สระบุรี ส่วนครอบครัวของมารดาเป็นชาวสวนอยู่ในจังหวัดธนบุรี

บิดาของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ รับราชการเป็นครูสอนวิชาเกษตร และมีการโยกย้ายโรงเรียนอยู่หลายครั้ง ทุกครั้งก็ได้ย้ายครอบครัวไปด้วย และประจวบกับเป็นระยะสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้การเรียนของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ ในระยะอนุบาล ประถม และมัธยม ต้องเปลี่ยนโรงเรียนถึง 9 แห่ง เริ่มต้นจากโรงเรียนอนุบาลที่โนนวัด จังหวัดนครราชสีมา และมาจบชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนวัดประชาบาลวัดแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนที่อยู่นานที่สุด เนื่องจากบิดาย้ายไปสอนอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแม่โจ้ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยแม่โจ้)

เมื่อเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในชั้นมัธยม 7 และ 8 (เตรียมอุดมศึกษา) นั้น บิดาได้ย้ายมาเป็นผู้ช่วยในโครงการศึกษาพัฒนาการเลี้ยงไก่ ของคุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในขณะนั้น มีบ้านพักอยู่ในมหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ ก็ได้พักอยู่ที่บ้านนี้ด้วย และทำให้มีความใกล้ชิดกับกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยฯ เป็นอย่างมาก ซึ่งอาจจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความสนใจวิชาการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาสัตวบาล เพราะได้เคยผ่านการเลี้ยงไก่ และการเลี้ยงแพะด้วยตนเองมาแต่เด็กๆ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ ได้สอบคัดเลือกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2492 และเมื่อเรียนจบปีที่ 2 แล้ว ก็ได้รับทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อที่ University of California at Davis ตั้งแต่ปริญญาตรี ทางด้านสัตวบาลจนจบปริญญาเอกทางด้านสรีรวิทยาของสัตว์ และกลับมาเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 จนเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2535

งานสอนของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ จะเป็นวิชาพื้นฐานทางด้านสัตวบาล

และการเลี้ยงไก่ รวมทั้งวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพให้คณะวิทยาศาสตร์ และคณะประมง วิชาที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ จำเป็นต้องให้ความสนใจมาก และรับสอนเป็นวิชาแรกในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คือ วิชาภาษาอังกฤษทางเทคนิคสำหรับการเกษตร โดยมีความเห็นว่า เป็นวิชาที่สำคัญสำหรับผู้ที่จะเรียนจบออกไปทำงาน และจำเป็นต้องรับสอน เพราะอาจารย์มีไม่พอในขณะนั้น

ในระหว่างที่รับราชการอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาสัตวบาลอยู่ 4 ปี (พ.ศ. 2511 - 2515) แต่เนื่องจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ เป็นผู้ที่มีความคิดความอ่านกว้างไกล ใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ มีความละเอียดรอบคอบในการทำงาน คุณสมบัติเหล่านี้ จึงทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยในสมัยนั้น ได้เชิญไปช่วยงานบริหารในฐานะผู้ช่วยรองอธิการบดี และต่อมาเป็นรองอธิการบดีอยู่อีก 8 ปี (พ.ศ. 2515 - 2523) ก่อนที่จะเป็นอธิการบดีอีก 2 ปี ในช่วงนั้นเป็นระยะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลงอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญคือ ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ทำโครงการเงินกู้จากธนาคารโลกเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัย และการก่อตั้งวิทยาเขตแห่งแรกคือ วิทยาเขตกำแพงแสน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยงานอย่างสำคัญคนหนึ่งของอธิการบดีในสมัยนั้น คือ ศาสตราจารย์อินทรี จันทรสถิตย์ จนถึงสมัยของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และสืบเนื่องมาตลอดสมัยของศาสตราจารย์ระพี สาคริก ปัญหาอุปสรรคมากมายหลายเรื่องในระยะนั้น จึงได้ผ่านพ้นไปด้วยดี

ในด้านงานวิจัยนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ ได้ให้ทัศนะว่า …งานวิจัยจะต้องคู่กันไปกับการพัฒนา การวิจัยเป็นการค้นคว้าหาองค์ความรู้แล้วก็จะต้องนำความรู้นั้นมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ให้กับผู้คนได้…อาจารย์ทุกคน นิสิตทุกคนควรมองปัญหาว่าสังคมมีปัญหาอะไรที่เราจะสามารถศึกษาและช่วยแก้ปัญหาได้ ก็ใช้เป็นโจทย์ในการศึกษาวิจัย จะเป็นบุคคลในเมือง ในชนบท คนมี คนไม่มี ก็แล้วแต่ ต้องนำมาเป็นโจทย์อย่างทั่วถึง…มหาวิทยาลัยต้องเข้มแข็ง และสามารถเดินสายกลาง ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อทั้งฝ่ายที่มีและฝ่ายที่ไม่มี การเดินสายกลางนี้ก็คือ การวิจัยและพัฒนาต้องอาศัยฐานข้อมูลทางด้านการค้นคว้าวิจัย และพัฒนา งานอันนี้คือสิ่งที่จะต้องเป็นต้นตอถึงความรู้ที่เราจะถ่ายทอดให้แก่นิสิต เป็นความรู้ที่เราจะพัฒนาเพื่อนำไปเป็นสินค้าขายได้ ใช้ประโยชน์ได้…
งานวิจัยสำคัญชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวกับวิชาชีพที่เรียนมาโดยตรงของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ ก็คือเรื่องผลกระทบด้านสรีรวิทยาของแสงสว่าง และความร้อนที่มีต่อไก่พันธุ์ และไก่ไข่ งานวิจัยเรื่องนี้ได้มีส่วนเป็นข้อมูลพื้นฐานของการพัฒนาต่อมาจนเกิดเป็นโรงเลี้ยงไก่สมัยใหม่ที่เรียกว่าระบบ evaporative cooling house โดยการใช้น้ำระเหยและแรงลมเพื่อลดอุณหภูมิ คุมปริมาณแสง คุมชั่วโมงให้แสงสว่าง เพื่อให้ไก่ผลิตผลตอบแทนได้นานมากขึ้น

งานวิจัยที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ มีส่วนร่วม เป็นงานวิจัยในเชิงนโยบายทางด้านการเกษตร โดยร่วมเป็นบรรณาธิการอยู่ในทีมงานของ ศาสตราจารย์ ดร. อาณัติ อาภาภิรม เป็นงานที่รับมอบหมายจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของทรัพยากรของประเทศในอันที่จะนำไปศึกษา และวิจัย เพื่อใช้ในการวางนโยบายการเกษตรของชาติ

หลังจากที่พ้นจากตำแหน่งอธิการบดี ใน พ.ศ. 2525 แล้ว นั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ ได้รับงานพิเศษที่สำคัญอีกบางเรื่อง ยกตัวอย่าง เช่น เป็นผู้ประสานงานโครงการประชากรศึกษาในข่ายงานพัฒนาเกษตรและชนบท (5 มหาวิทยาลัย กับ 8 กรม) ในระหว่าง พ.ศ. 2525-2529 เป็นกรรมการทรัสตีของศูนย์วิจัยระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาข้าวโพดและข้าวสาลี (CIMMYT) ประเทศเม็กซิโก ระหว่าง พ.ศ. 2525-2531 เป็นกรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระหว่าง พ.ศ. 2527-2537 เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาโครงการจัดทำแผนอุดมศึกษาระยะยาว ระหว่าง พ.ศ. 2531-2533 เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาหลักสูตรสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยของรัฐ ระหว่าง พ.ศ. 2531-2535 เป็นประธานกรรมการร่างหลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ใน พ.ศ. 2535 เป็นที่ปรึกษางานเกษตรศึกษา (ลาว) ของ FAO ระหว่าง พ.ศ. 2535-2536 เป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาเกษตรศึกษา (จีนภาคตะวันตกเฉียงเหนือ) ของ FAO และ UNDP ใน พ.ศ. 2537

หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ ก็ยังช่วยทำงานศึกษาวิจัยต่อมาอีกอย่างต่อเนื่อง เช่น ในเรื่องการประมวลทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของไทย ซึ่งเป็นโครงการของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และยังมีงานของทบวงมหาวิทยาลัยอีกหลายเรื่อง ที่สำคัญได้แก่ การบริหารจัดการโครงการศึกษาพัฒนาการให้ความรู้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV และเพื่อการดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์

เนื่องจากเป็นผู้ที่รอบรู้ในหลายๆ เรื่อง เป็นนักการศึกษาที่ดี มีความสามารถในการแก้ปัญหา สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงได้ขอให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ รับตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระหว่าง พ.ศ. 2542-2545 ทั้งนี้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นมหาวิทยาลัยค่อนข้างใหม่ และกำลังเตรียมการที่จะออกนอกระบบราชการตามนโยบายของรัฐ จำเป็นจะต้องมีผู้บริหารที่มีประสบการณ์เข้าไปช่วยวางแผนและเตรียมการในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งในเรื่องนี้ ทางสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้มอบความไว้วางใจให้กับ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ อย่างมาก

ตลอดเวลาที่ได้ทำงานมานั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ ได้ยึดมั่นคติธรรมของคุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจที่ว่า ถึงตัวเราเองจะไม่รวย แต่ถ้าสร้างให้คนอื่นมีความมั่นคงได้ ก็เป็นสิ่งดี เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ความมีสัจจะ มีความโปร่งใส และในการเป็นนักบริหารที่ดีนั้น จะต้องศึกษากฎหมายอย่างถี่ถ้วน จะต้องรู้ระเบียบราชการอย่างแจ่มแจ้ง และทำงานอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ ได้ทุ่มเทความรู้ ความสามารถให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตลอดชีวิตราชการจนถึงเกษียณ และได้ช่วยงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกเรื่อยมา เมื่อถูกขอร้อง เช่น ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอุปนายกสภามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ (พ.ศ. 2541-2545) เป็นต้น ในช่วงที่ทำหน้าที่บริหารนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ มีความภูมิใจในทีมงานเป็นอย่างมากว่าเป็นผู้ถือประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้ง ทุกๆ คนในทีมต่างทำงานอย่างทุ่มเท ด้วยความมีน้ำใจ และสิ่งสำคัญอย่างยิ่งก็คือ ทุกคนในทีมงานมีความเคารพรัก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ อย่างจริงใจ

เรื่องหนึ่งที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ ได้ฝากไว้แก่บุคลากร และนิสิตนักศึกษาก็คือ สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระกระแสรับสั่งถึงเรื่องความพอเพียง ซึ่งเป็นทางสายกลางของเรื่องต่างๆ ถ้าเราทำเรื่องทุกอย่างให้พอเพียง พอดี ก็จะเป็นผลดี เรียนหนังสือก็ต้องเรียนให้พอดี เรียนหนักไปก็ไม่ดี นอกจากนั้นการเรียนการสอนควรจะพยายามทำให้มีความสนุกในการเรียนรู้ ประกอบไปด้วย เมื่อเรียนแล้วสนุกด้วย ก็จะทำให้คนอยากเรียน การเรียนมีความสำคัญ กิจกรรมก็มีความสำคัญ ต้องควบคู่กันไป และผู้มีการศึกษาแท้จริงจะต้องเป็นนักเรียนตลอดชีพ กับต้องเป็นนักธรรมในเชิงปฏิบัติด้วย ชีวิตจึงจะสมบูรณ์

จากผลงานด้านต่างๆ ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ ดังที่กล่าวมาพอสังเขปนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ จึงได้รับการเชิดชูเกียรติ โดยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ และเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น 3 นอกจากนั้น สถานศึกษาเดิมคือ University of California at Davis ก็ได้มอบรางวัล Emil M. Mrak International Award for Outstanding Alumni ให้เมื่อ พ.ศ. 2531 อันนับว่าเป็นเกียรติอย่างสูงที่ศิษย์เก่าคนแรกที่ได้รับเป็นคนไทย

ด้านครอบครัว ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ สมรสกับคุณจารุวรรณ (ถิระวัฒน์) อิงคสุวรรณ (ถึงแก่กรรม) มีบุตร 2 คน คนโตเป็นหญิง ทำงานเป็นผู้จัดการอพาตเมนท์ของครอบครัว คนเล็กเป็นชาย ทำงานเป็นนายทหารอยู่มณฑลทหารบกที่ 11

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ประกาศศยกย่องเชิดชู ให้ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ " เป็น “เกษตราภิชาน” คือ ผู้ที่รู้ยิ่งในศาสตร์การเกษตร ประจำ ปี พ.ศ. 2565 เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะครบ 80 ปี ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2566 สิริรวมอายุได้ 91 ปี



Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University