ทำเนียบอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์




หม่อมหลวงชูชาติ กำภู


อธิการบดี

2 สิงหาคม 2508 - 1 สิงหาคม 2510

2 สิงหาคม 2510 - 31 ตุลาคม 2510


หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2448 ที่ตำบลประตูสามยอด อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนโตของพลตรีพระยาสุรเสนา (ม.ร.ว. ชิต กำภู) และคุณหญิงผอบ สุรเสนา ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มีน้องชาย หญิงร่วมบิดามารดาอีก 12 คน

หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เริ่มการศึกษาในโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2457 เรียนจบได้รับประกาศนียบัตรชั้นมัธยมบริบูรณ์ เมื่อมีอายุได้ 17 ปี และสอบชิงทุนได้รับทุนเล่าเรียนหลวงให้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ได้เข้าศึกษาที่ St. Peter's School, York, England เมื่อ พ.ศ. 2466 เป็นเวลา 2 ปี แล้วจึงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ City and Guild's Engineering College, London University เมื่อ พ.ศ. 2468 ศึกษาอยู่ 5 ปี จึงสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาโททางวิศวกรรมโยธา ประกาศนียบัตรและปริญญาบัตรที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยนี้คือ A.C.G.I., B.Sc. ทางวิศวกรรมโยธา D.I.C. (Advanced Diploma of Imperial College) และปริญญาโท M. Sc. ทางคอนกรีตและไฮโดรลิกส์ ใน พ.ศ. 2472 ได้เข้าฝึกงานในด้านวิศวกรรมโยธา ในกรมโยธาธิการของอังกฤษอีก 1 ปี จึงกลับประเทศไทย เข้ารับราชการในกรมชลประทาน เมื่อ พ.ศ. 2473

หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ พ.ศ. 2482 โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญญาณวโร) เป็นอุปัชฌาย์ มีฉายาว่า ปญญาวุโธ

หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เริ่มเข้ารับราชการในกรมชลประทาน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2473 จนเกษียณอายุราชการ รวมเวลารับราชการ 36 ปี และเมื่อเข้ารับราชการในกรมชลประทานเพียง 18 ปี ก็ได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2492 และได้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อมาอีกเป็นเวลานานถึง 18 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ได้อุทิศกำลังกายกำลังใจและกำลังสติปัญญาเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเสริมสร้างกิจการชลประทานของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ

ในระหว่างที่ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ควบคุมงานก่อสร้างโครงการนครนายก เกิดอุทกภัย ทำให้การก่อสร้างเสียหายล่าช้า จากประสบการณ์ดังกล่าว เป็นมูลเหตุให้หม่อมหลวงชูชาติ กำภู นำเอาสถิติข้อมูลน้ำฝน น้ำท่า จากแผนกสถิติมาศึกษาค้นคว้าหาพฤติการณ์ของปรากฏการณ์ทางอุทกวิทยาในปริมณฑลต่างๆ ได้วิเคราะห์ปรากฎการณ์ขั้นมูลฐานอันเป็นหัวใจของงานด้านอุทกวิทยาขึ้นไว้ใช้ประกอบในการพิจารณาออกแบบ วางโครงการชลประทานไว้เป็นประโยชน์แก่ราชการด้านนี้เป็นอย่างมาก พร้อมทั้งได้เขียนตำราว่าด้วยน้ำฝน น้ำท่าของประเทศไทย ไว้เป็นคู่มือที่ใช้ในงาน กับเป็นการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องน้ำสืบมาจนบัดนี้ และจากการค้นคว้าปรากฏการณ์ของน้ำฝน น้ำท่า เขียนขึ้นเป็นวิทยานิพนธ์นี้ ได้นำเสนอราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งทำให้ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ได้รับแต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิตในวิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2485

หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ในขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทานได้วางแผนในการพัฒนาประเทศในด้านชลประทานออกไปอย่างกว้างขวาง ผลงานสำคัญๆ ที่อาจกล่าวเป็นสังเขป เช่น งานชลประทานราษฎร์ประเภทเหมืองฝาย งานสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและใหญ่ งานโครงการเจ้าพระยาใหญ่ งานโครงการยันฮี

เนื่องจากผลงานของกรมชลประทานภายใต้การนำของ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เป็นที่ประจักษ์ และได้รับความไว้วางใจจากทุกรัฐบาลตลอดมา ดังนั้น นอกจากงานในหน้าที่ของกรมชลประทานโดยตรงแล้ว รัฐบาลยังมอบหมายให้ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู จัดตั้งเหมืองลิกไนท์ ขององค์การลิกไนท์ ก่อตั้งบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด โรงไฟฟ้าที่บางกรวย โรงไฟฟ้าลิกไนท์ที่กระบี่ ก่อตั้งบริษัทปุ๋ยเคมีและโรงงานปุ๋ยเคมีที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง และก่อตั้งบริษัทอุตสาหกรรมเครื่องจักรไทย จำกัด

หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เป็นผู้รักงานเป็นชีวิตจิตใจ มีความสุขเมื่อเห็นผลสำเร็จของงาน งานจึงก้าวหน้าไปด้วยดี โดยลำดับ กิจกรรมต่างๆ ที่ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ได้ปฏิบัติมา ทำให้เป็นที่ประจักษ์ถึงคุณความดี จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี 2 สมัย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2499 และวันที่ 9 กันยายน 2501 เป็นที่ปรึกษาของธนาคารโลก รองประธานองค์การ International Commission on Irrigation and Drainage เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2508 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2510


ในช่วงที่ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เข้ามาดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นระยะที่จะต้องดำเนินงานตามโครงการปรับปรุง และขยายงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เกษตรกลางบางเขนขึ้น ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ในระยะ 5 ปีแรก (พ.ศ. 2510-2514) ที่จะขยายงานให้รับนิสิตได้ 5,000 คน และในระยะ 5 ปีที่สอง (พ.ศ. 2515-2519) ให้รับนิสิตได้ 10,000 คน ตามมติของสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในขณะนั้น คือ

1. ความต้องการนักวิชาการในระดับปริญญาตรีสาขาต่างๆ ของวิชาที่เกี่ยวกับการเกษตรจะมากกว่า 400 คน ต่อปี

2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ควรจะขยายงานเพื่อรับนิสิตให้ได้เกิน 5,000 คน ในอนาคต

3. จัดหาสถานที่เพื่อรับแผนการขยายงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ 3 (พ.ศ. 2515-2519)

เพื่อให้การขยายงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินไปตามมติของสภามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ดังกล่าว หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ได้พิจารณาจัดซื้อที่ดิน ที่ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้

1.ดินกำแพงแสน เป็นดินดีเหมาะกับการเพาะปลูก

2. ที่ดินแปลงนี้จะได้รับการชลประทานจากคลองที่จะขุดมาจากเขื่อนวชิราลงกรณ์ (เดิม) ได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเขื่อนแม่กลองเมื่อไม่นานมานี้

3. อาณาเขตที่ดิน ทิศเหนือจรดถนนจันทรุเบกษา ทิศใต้จรดถนนลาดยางกรมชลประทาน ทิศตะวันตกจรดทางรถไฟสายนครปฐม-สุพรรณบุรี ทิศตะวันออกจรดถนนมาลัยแมน

4. ที่ดินแปลงนี้ห่างจากจังหวัดนครปฐม 20 กิโลเมตร และจากกรุงเทพฯ 80 กิโลเมตร

5. ที่ดินแปลงนี้มีพื้นที่ประมาณ 8,000 ไร่ เป็นขนาดที่เหมาะแก่การเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่จะรับนิสิตได้ 10,000 คน ในระยะยาว

หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งได้เจริญก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน และในขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ได้จัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้รักษาการคณบดีคนแรก

ผลงานของ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เป็นที่ประจักษ์ทั่วไปทั้งในทางราชการและสังคม ทั้ภายในประเทศ และต่างประเทศ นับได้ว่าเป็นอัจฉริยบุรุษและปรมาจารย์

หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เริ่มรับราชการเป็นนายช่างผู้ช่วยประจำกองที่ปรึกษากรมชลประทาน ชั้นผู้ช่วยเซ็กชั่นแนลเอนยิเนียร์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2473 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นตามลำดับ รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการ ดังต่อไปนี้


พ.ศ. 2474 ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก
พ.ศ. 2475 ดำรงตำแหน่งนายช่างอำนวยการแบบแผนชั้นเซ็กชั่นแนลเอนยิเนียร์
พ.ศ. 2477 ดำรงตำแหน่งนายช่างชลประทานภาคนครนายก
พ.ศ. 2480 เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นเอกและดำรงตำแหน่งนายช่างอำนวยการแบบแผน
พ.ศ. 2490 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นพิเศษและดำรงตำแหน่งนายช่างใหญ่กรมชลประทาน
พ.ศ. 2491 ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทานอีกตำแหน่งหนึ่ง
พ.ศ. 2492 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน
พ.ศ. 2498 ได้รับเงินเดือนชั้นพิเศษ อันดับ 3 ขั้น 1,400 บาท ซึ่งเป็นอัตราเงินเดือนขั้นปลัดกระทรวงเป็นกรณีพิเศษสำหรับอธิบดี
พ.ศ. 2499 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี (วันที่ 18 สิงหาคม 2499 ถึงวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2500) และยังคงเป็นอธิบดีกรมชลประทาน
พ.ศ. 2507 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ (วันที่ 9 กันยายน 2507 จนสิ้นสมัยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2512) และยังคงเป็นอธิบดีกรมชลประทาน
พ.ศ. 2508 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ (วันที่ 2 สิงหาคม 2508 ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2510) อีกตำแหน่งหนึ่ง
พ.ศ. 2509 พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน เหตุสูงอายุ ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติอยู่ต่อไปจนสิ้นสมัย
พ.ศ. 2512 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติอีก เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2512 และยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการอยู่จนถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2512

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่ได้รับคือ เหรียญรัตนาภรณ์ ภ.ป.ร. ชั้นที่ 3 (พ.ศ. 2498) มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (พ.ศ. 2500) ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (พ.ศ. 2505) เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (พ.ศ. 2507) สายสะพายจากประเทศออสเตรีย (The Silver Grand Cross with Sash for Merit to the Republic of Austria) (พ.ศ. 2509)

หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ได้สมรสกับคุณหญิงโฉมศรี กำภู ณ อยุธยา ธิดามหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพลเทพ (เฉลิม โกมารกุล ณ นคร) และคุณหญิงสว่างพลเทพ

หม่อมหลวงชูชาติ กำภู มีบุตรธิดา 2 คน คือ นายคาวี กำภู ณ อยุธยา และนางสาวสุธาทิพย์ กำภู ณ อยุธยา
หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2512 สิริรวมอายุได้ 64 ปี



Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University