ทำเนียบอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์




รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย กปิลกาญจน์


อธิการบดี

16 กุมภาพันธ์ 2550 - 15 กุมภาพันธ์ 2558


ชื่อ - นามสกุล นายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ ตำแหน่ง รองศาสตราจารย์
วัน/เดือน/ปี เกิด 16 กันยายน พ.ศ. 2495
สถานภาพ สมรส คู่สมรส ชื่อ นางศริญญา กปิลกาญจน์
จำนวนบุตร/ธิดา 2 คน คือ นายปิยวัฒน์ กปิลกาญจน์ นางสาวมณฑลี กปิลกาญจน์

การศึกษา

2544 ปริญญาบัตรหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร ภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 13 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
(วปอ.)
2541 ประกาศนียบัตรหลักสูตรเสนาธิการทหาร รุ่นที่ 39 วิทยาลัยเสนาธิการทหาร
2519 Master of Science (Mechanical Eng.) Fairleigh Dickinson University, ประเทศสหรัฐอเมริกา
2517 วศ.บ. (เครื่องกล) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2513 มัธยมศึกษาตอนปลาย (มศ. 5) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
2511 มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

การดำรงตำแหน่งอาจารย์และผู้บริหาร
31 กรกฎาคม 2557 - ปัจจุบัน สมาชิกสภานิติบัญัญัติแห่งชาติ
16 กุมภาพันธ์ 2550 - 15 กุมภาพันธ์ 2558 อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
8 มิถุนายน 2549 - 15 กุมภาพันธ์ 2550 รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
8 มิถุนายน 2545 - 7 มิถุนายน 2549 รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
8 มิถุนายน 2545 - 15 กุมภาพันธ์ 2550 กรรมการและเลขานุการ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
กรกฎาคม 2535 - มิถุนายน 2541 กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
28 กรกฎาคม 2543 - 18 มิถุนายน 2545 คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วาระที่ 3)
28 กรกฎาคม 2539 - 27 กรกฎาคม 2543 คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วาระที่ 2)
28 กรกฎาคม 2535 - 27 กรกฎาคม 2539 คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วาระที่ 1)
24 กรกฎาคม 2533 - 27 กรกฎาคม 2535 รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
1 มีนาคม 2523 - 2 กรกฎาคม 2533 อาจารย์ และเลขานุการคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
31 มกราคม 2520 - 29 กุมภาพันธ์ 2523 อาจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

บทบาทและความคิดเห็นในฐานะอธิการบดี
หอจดหมายเหตุ ได้ขอสัมภาษณ์ท่านอธิการบดี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2551 ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยในขณะนี้ ในประเด็นสำคัญๆ คือ

1. คุณลักษณะที่ทำให้อาจารย์มีความสำเร็จในชีวิต และหน้าที่การงาน

2. แรงจูงใจที่ทำให้อาจารย์เป็นวิศวกร หรือเป็นอาจารย์สอนด้านวิศวกรรมศาสตร์

3. ในฐานะอธิการบดี อาจารย์มีความตั้งใจที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างไร : ความคาดหวัง ฯลฯ

คุณลักษณะที่ทำให้อาจารย์มีความสำเร็จในชีวิต

รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย กปิลกาญจน์ กล่าวว่า การที่อาจารย์ได้ศึกษาที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยก่อนจะย้ายไปเรียนต่อที่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษานั้น เป็นช่วงหล่อหลอมที่สำคัญ เพราะที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ได้หล่อหลอมความเป็นผู้นำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ คือ ไม่ใช่เรียนหนังสืออย่างเดียว แต่ให้ความรู้ในเรื่องดนตรี กีฬา คือ เป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ กล้าคิด กล้าแสดงออก ซึ่งอาจารย์กล่าวว่าโรงเรียน มีส่วนขัดเกลาความนึกคิดที่ดี นอกจากการอบรมสั่งสอนของบิดา มารดา คติประจำใจ คือ ทำให้ดีที่สุด

แรงจูงใจในวิชาชีพวิศวกร

ในความเป็นจริงชอบทางรัฐศาสตร์มาก เพราะชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ชอบการวิเคราะห์ แต่ค่านิยม ในขณะนั้น ถ้าเรียนดี เรียนเก่ง ต้องเข้าแพทย์ หรือ เรียนวิศวะ รวมทั้งค่านิยมที่อยู่ต่างจังหวัด ที่ยังแคร์ต่อสังคม เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถเลือกเรียนอะไรที่เราชอบจริง ๆ กลัวจะทำให้พ่อแม่เสียหน้า ทั้ง ๆ ที่คุณพ่อของอาจารย์เป็นนายแพทย์ คุณแม่จบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ไม่เคยบังคับลูกเรื่องเรียน

ในขณะที่เป็นนิสิตปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีโอกาสเป็นหัวหน้า เป็นผู้แทนประจำปี เป็นนายกสโมสร ทำให้ได้ฝึกความเป็นผู้นำ อาจารย์ยอมรับว่า ออกจะเป็นคนเฮี้ยวในวัยรุ่น ซึ่งเมื่อเป็นอาจารย์สิ่งที่เคยเป็นวัยรุ่นไม่ยอมถูกกดขี่ ก็ได้ใช้เป็นบทเรียนที่จะทำดีต่อลูกศิษย์ ต่อสังคมรู้จักข่มใจ การที่มีโอกาสเป็นผู้แทนรุ่น ทำให้มีประสบการณ์เรื่องการบริหารทางอ้อมเพราะได้บริหารงานร่วมกับเพื่อนๆ สามารถนำมาใช้ในเวลาต่อมา

อาจารย์เล่าว่า เมื่อแรกจบตั้งใจจะเป็นวิศวกรทำงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ออกหน้างาน ไปอยู่ต่างจังหวัด แต่เนื่องจากคุณพ่อถึงแก่กรรมก่อนช่วงจะทำงาน และครอบครัวของอาจารย์ซึ่งมีคุณแม่ พี่สาวอยากมาอยู่กรุงเทพฯ แม้อาจารย์อยากจะอยู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะการเป็นวิศวกรเครื่องกล ควรจะทำงาน ในโรงงาน ซึ่งในสมัยนั้นโรงงานส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด เมื่อครอบครัวต้องการเข้ากรุงเทพ จึงตัดสินใจเป็นอาจารย์และได้มาสมัครเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ในระยะแรกได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่คุมชอป (shop) และเนื่องจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลเป็นภาควิชาที่มีช่างเชื่อมและช่างกลึงมาก เกือบ 30 คน เมื่อแรกเข้าทำงานต้องใช้ศิลปะหลายอย่าง แต่ก็สามารถคุมช่างเหล่านี้ได้เพราะเคยเป็นหัวหน้านักเรียนมาก่อน ต่อมา รองศาสตราจารย์ บุญสม สุวชิรัตน์ คณบดีในขณะนั้น ได้เลือกอาจารย์ให้ทำหน้าที่เลขานุการคณะ แม้อาจารย์จะเรียนท่านว่าไม่เคยเรียนบริหารมาก่อน ซึ่ง รองศาสตราจารย์บุญสม สุวชิรัตน์ ได้ให้กำลังใจว่าสามารถเรียนรู้งานได้ สรุปได้ว่า การทำงาน ปีแรกทำหน้าที่คุมชอป และเข้ามาทำหน้าที่เลขานุการคณะในปีที่ 2

เมื่อทำงานใกล้ชิดกับรองศาสตราจารย์บุญสม สุวชิรัตน์ อาจารย์ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการวางตนให้เหมาะสมกับความเป็นอาจารย์ รวมทั้งแนวปฏิบัติอื่นๆในการทำงาน เนื่องจากอาจารย์ไม่ชอบการบังคับ เวลาสอนนิสิตอาจารย์จึงให้อิสระกับนิสิต คือ ไม่เข้มงวดเรื่องเช็คชื่อ แต่ห้ามนิสิตทุจริต เพราะถ้าทุจริตแล้วออกไปทำงานจะยิ่งโกง

ลักษณะเด่นของ รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย กปิลกาญจน์ คือ ไม่ชอบความไม่ยุติธรรม หรือการเล่นพวก เนื่องจากเคยไปสมัครงานและถูกกีดกันเมื่อรู้ว่าไม่ได้มาจากสถาบันเดียวกัน แทนที่อาจารย์จะโกรธสังคมหรือท้อถอยแต่ได้นำประสบการณ์มาถ่ายทอดแก่ลูกศิษย์ หรือผู้เกี่ยวข้องให้มีใจกว้าง ยอมรับความแตกต่าง อาจารย์มีความเห็นว่าควรพิจารณาเลือกคนด้วยความสามารถ อาจารย์ได้ให้ข้อคิดว่า อาจารย์เป็นศิษย์เก่า เปรียบเสมือนเจ้าบ้านต้องทำตัวให้คนซึ่งมาจากที่อื่นอบอุ่น

จากประสบการณ์ที่เคยไปสมัครงาน และไม่มีโอกาสแม้แต่จะยื่นใบสมัครทำให้เกิดมานะอย่างแรงกล้าที่จะพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ให้เต็มความสามารถ โดยเฉพาะเมื่อได้รับเลือกเป็นคณบดีถึง 3 สมัย ซึ่งอาจารย์ได้พัฒนาบุคลากรหาทุนส่งเสริมให้อาจารย์ไปเรียนปริญญาเอกหลายคนและพัฒนาอาคารเรียน ฯลฯ อาจารย์ชื่นชมอาจารย์ผู้ใหญ่ในอดีตซึ่งทำงานด้วยความเสียสละ เช่น รองศาสตราจารย์ บุญสม สุวชิรัตน์ ซึ่งท่านไม่เคยคิดค่าออกแบบอาคารเลย อย่างไรก็ตามอาจารย์ก็รับรู้และเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงเพราะปัจจุบันได้มีระเบียบค่าตอบแทน เพื่อให้อาจารย์ในรุ่นหลังๆ ได้รับค่าตอบแทนเมื่อทำงานพิเศษต่าง ๆ

ความคาดหวังในฐานะอธิการบดี

หลังจากดำรงตำแหน่งคณบดี ถึง 3 สมัย ระหว่างปี พ.ศ. 2535 -2545 ต่อมาได้รับเลือกให้เป็นรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร 1 วาระ (ระหว่าง พ.ศ. 2545 -2549) และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอธิการบดี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 - ปัจจุบัน สิ่งที่ได้หาเสียงเมื่อเป็นอธิการบดีนั้น ได้ดำเนินการหมดแล้ว งานใหม่ที่กำลังเริ่ม คือ การทำมหาวิทยาลัยให้เป็นระบบ เช่น จะไม่ขยายวิทยาเขตใหม่ๆ ออกไป จะคงไว้ 4 วิทยาเขต ที่บางเขน กำแพงแสน ศรีราชา และสกลนคร เพราะการมีหลายวิทยาเขตทำให้เกิดปัญหา ในการบริหาร ไม่สามารถพัฒนางานได้เต็มที่เพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณสนับสนุน การตั้งวิทยาเขตใหม่ คณะใหม่ ๆ ทำให้ด้อยคุณภาพ จึงไม่ต้องการขยายวิทยาเขตต่อไป แต่จะบริหารวิทยาเขตต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ให้ดีที่สุด

รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย กปิลกาญจน์ ต้องการให้บุคลากรมหาวิทยาลัยรักองค์กร นึกถึงองค์กรมากกว่าตนเอง ทุกคนต้องรับผิดชอบงานที่ทำ มีความคิดริเริ่ม เพื่อทำให้งานดีขึ้น ทุกหน่วยงานควรมีความร่วมมือประสานงานกัน ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ในอนาคตการทำงานจะมีการแข่งขันกันมากขึ้น อยากเห็นทุกคนมีความกระตือรือร้นในการทำงาน ในวันหน้าผู้บริหารทุกระดับและทุกหน่วยงานต้องช่วยตัวเองมากขึ้น ผู้บริหารต้องเป็นนักธุรกิจ คือ หาเงินเข้ามหาวิทยาลัยและลดรายจ่ายในเวลาเดียวกัน

รางวัลประกาศเกียรติคุณ

อาจารย์ได้รับการยกย่องให้เป็นนิสิตเก่าดีเด่น ภาคการศึกษา จากสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2548

เป็นนิสิตเก่าดีเด่น สาขานักบริหารราชการ จากสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2545

เครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุด
มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)



Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University