ทำเนียบอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์




ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สุธรรม อารีกุล


อธิการบดี

8 มิถุนายน 2529 - 7 มิถุนายน 2531

8 มิถุนายน 2531 - 7 มิถุนายน 2533

8 มิถุนายน 2533 - 7 มิถุนายน 2535




ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สุธรรม อารีกุล เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2474 ที่ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรของนายฮุ่ยฮ่อง อารีกุล และนางปิ่น อารีกุล ( อิสสระพานิช ) ขณะอายุ 2 ขวบ เมื่อคุณแม่มีน้อง ได้ถูกส่งไปอยู่กับคุณตาที่บ้านสวน หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนประจำจังหวัด สุราษฎร์ธานีใน พ.ศ. 2489 แล้วมาเรียนต่อมัธยมศึกษาปีที่ 7 และ 8 ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ กรุงเทพฯ โดยพักอาศัยอยู่ที่บ้านคุณน้า พอจะเข้ามหาวิทยาลัยมีเรื่องทำให้ตัดสินใจลำบาก เพราะคุณพ่ออยากให้เรียนวิศวกรรมศาสตร์ คุณแม่อยากให้เรียนแพทยศาสตร์ คุณน้าอยากให้เรียนธุรกิจ และคุณตาบอกว่าอยากเรียนอะไรก็ได้ขอให้เรียนให้สูงสุดไว้ ในที่สุดตัดสินใจเรียนเกษตรเผื่อจะได้ไปช่วยดูแลสวนคุณตา โดยมีเพื่อนสนิทที่เรียนด้วยกันคือ ดร. เสริมลาภ วสุวัต

สมัยนั้นการเรียนเกษตรระดับมหาวิทยาลัยยังไม่แพร่หลาย แม้แต่ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่บางเขน ก็ไม่ค่อยมีคนรู้จัก การคมนาคมจากในเมืองมามหาวิทยาลัยยังไม่สะดวก ข้อมูลต่างๆ ก็ไม่แพร่หลาย ผู้สมัครเรียนส่วนใหญ่จะไม่รู้จักสถานที่ มักจะมีเหตุการณ์ได้พบกับคุณลุงที่นุ่งกางเกงขาสั้น เดินไปมาอยู่บริเวณบ่อปลาและคอกไก่ ภายหลังจึงทราบว่า ลุงคนนั้น คือท่านอธิการบดี หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ซึ่งภายหลัง ท่านจะปรากฏตัวในการสอนบ้าง การประชุมนิสิตบ้าง เอาผลผลิตทางการเกษตรมาอวดบ้าง เช่น ปลาจีนตัวโตๆ เป็นต้น สำนักงานที่ใช้เป็นที่ติดต่อกับมหาวิทยาลัย คือ เรือนไม้สองชั้น ทาสีเขียว จึงเรียกว่า เรือนเขียว ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าการสอน การเรียน การเงิน การอยู่หอพัก และการเจ็บป่วย จะต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ที่ เรือนเขียว แห่งเดียวเท่านั้น

ชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สุธรรม อารีกุล เริ่มต้นเรียนปีที่ 1 พ.ศ. 2491 สมัยนั้นหลักสูตร 5 ปี เรียนทั้งพืชและสัตว์ เมื่อเรียนถึงปีที่ 4 เริ่มทำงานช่วยสอนวิชาสัตววิทยา พอขึ้นปีที่ 5 ก็เป็นอาจารย์ช่วยสอนวิชานี้เต็มรูปแบบ โดยอาศัยวุฒิอนุปริญญาที่ได้รับเมื่อจบหลักสูตร 3 ปี หลังจากเรียนจบปริญญาตรีกสิกรรมและสัตวบาลแล้ว ตั้งใจไปสมัครงานที่กรมปศุสัตว์ หวังเห็นโลกกว้าง ขี่ม้า ต้อนวัว แบบหนังคาวบอย แต่เมื่อไปขอใบรับรองการจบปริญญาจากมหาวิทยาลัย อาจารย์กวี วิสุทธารมณ์ เลขาธิการ บอกว่า ออกใบรับรองให้ได้แต่เอาไปสมัครงานที่อื่นไม่ได้ เพราะคุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ อธิการบดี สั่งไว้ ให้ทำงานที่มหาวิยาลัยก่อน มีตำแหน่งให้แล้ว แสดงว่าชะตาชีวิตบังคับให้ต้องเป็นครูบาอาจารย์ ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยชอบเท่าใดนัก

หลังจากเริ่มชีวิตการทำงานในปี 2496 ปีต่อมาก็ได้รับเลือกให้ได้รับทุนตามสัญญาแลกเปลี่ยนอาจารย์ระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ Oregon State University สหรัฐอเมริกา คุณหลวงสุวรรณฯ กำหนดให้เรียนกีฏวิทยาเป็นวิชาหลัก และโรคพืชเป็นวิชารอง ขณะเรียนได้แสดงความขยันหมั่นเพียร มุมานะมาก จนหัวหน้าภาควิชาและอาจารย์ที่ปรึกษาช่วยหาทุนเรียนต่อระดับปริญญาเอกให้หลังจากสามารถจบปริญญาโทภายใน 1 ปีครึ่ง คุณหลวงสุวรรณฯ ซึ่งต้องการเรียกตัวกลับเพราะขาดกำลังอาจารย์ก็เลยต้องยินยอมให้เรียนต่อจนจบปริญญาเอก ที่ Washington State University ใน พ.ศ. 2501 นับเป็นคนไทยคนแรกที่เรียนจบระดับปริญญาเอกทางกีฏวิทยา จากนั้นได้กลับมาทำงานที่แผนกกีฏวิทยาและโรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สุธรรม อารีกุล ได้ทุ่มเทกำลังสติปัญญา แรงกาย แรงใจในการทำงานมาโดยตลอดเพื่อความเจริญของแผนกฯ ( ต่อมาเปลี่ยนเป็นภาควิชากีฏวิทยา ) ดังลูกศิษย์หลายรุ่นที่ทำงานในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ท่านเป็นผู้อุมิศตนในการทำงานอย่างแม้จริง มีความรอบรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอน หวังให้ลูกศิษย์เติบโตในความรู้อันไม่จำกัด อีกทั้งยังแทรกในเรื่องจริยธรรม คุณธรรมไปด้วย เป็นผู้มีวิริยะ อุตสาหะ เป็นนักค้นคว้า นักวิจัยที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีจรรยาบรรณที่ดี สมถะ สุภาพอ่อนโยน ยอมเสียสละ รับงานสอนเกือบทุกวิชาในสาขากีฏวิทยาเพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์คนอื่นๆ ได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ เป็นแบบอย่างของผู้ทำงานหนัก

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สุธรรม อารีกุล ผลิตผลงานด้านวิชาการที่มีคุณค่ายิ่งต่อวงการศึกษา โดยเฉพาะด้านการเกษตร เป็นประโยชน์ต่อประเทศในการแก้ปัญหา พัฒนาพืชผลให้ก้าวหน้าโดยการศึกษา ค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด สำหรับงานเขียนตำราโดยเฉพาะตำราด้านกีฏวิทยานั้นมีเนื้อหาทันสมัยทัดเทียมต่างประเทศ ซึ่งเกิดจากการศึกษาค้นคว้าอย่างลึกซึ้ง ทำให้ผู้ปฏิบัติงานด้านวิชการนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยโดยเฉพาะงานด้านอารักขาพืชได้เป็นอย่างมาก ตำราที่สำคัญๆ นอกจากหนังสือกีฏวิทยาเบื้องต้น แล้วก็มีเรื่อง แมลงที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย แมลงศัตรูข้าวโพดของประเทศไทย และมวนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

สำหรับงานวิจัยนั้น ถือได้ว่าอยู่ในสายเลือดก็ว่าได้ เพราะแม้จะมีงานสอนและงานบริหารหนักเพียงใด ก็ไม่เคยวางมือในการศึกษาค้นคว้าวิจัย ผลงานต่างๆ ช่วยแก้ปัญหาให้แก่ประเทศชาติมากมาย โดยเฉพาะต่อชาวไร่ ชาวนา ชาวเขา แม้เกษียณอายุราชการแล้ว ก็ยังทำงานด้านนี้อยู่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ และให้นักวิจัยนำไปต่อยอดได้ ผลงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการปฏิบัติงานวิจัยให้แก่โครงการหลวงเป็นโครงการอาสาสมัคร และมีหลายโครงการที่ได้รับรางวัล โดยได้จากมหาวิทยาลัย สภาวิจัยแห่งชาติ ทั้งได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติอีกด้วย งานวิจัยที่สำคัญๆ เป็นประโยชน์ยิ่ง ก็มีเช่น งานวิจัยแมลงศัตรูข้าวโพด งานวิจัยพิษสารฆ่าแมลงในพืชกับการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน งานวิจัยไพรีทรัม งานวิจัยเพื่อค้นหาพืชของไทยที่มีคุณสมบัติในการป้องกันกำจัดแมลงวันทอง งานวิจัยการทดลองหาวิธีเลี้ยงแตนเบียน Trichogramma australicum งานวิจัยผึ้งไทยและแมลงผสมเกสร การศึกษาพืชป่าที่ชาวเขาใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย การศึกษาพืชสมุนไพร ฯลฯ ผลงานวิจัยบางส่วน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สุธรรม อารีกุล ได้นำไปเสนอในที่ประชุมต่างประเทศ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต่างชาติได้รู้จักแมลงของไทยมากขึ้น ผลก็คือ มีการปรับปรุงตำราต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแมลงในประเทศเขตร้อนไปด้วย และด้วยผลงานด้านนี้นักอนุกรมวิธานต่างประเทศได้ตั้งชื่อแมลงชนิดหนึ่งที่ค้นพบใหม่ให้เป็นเกียรติตามชื่อสกุลของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สุธรรม อารีกุล คือ แมลงตัวห้ำ Ammophilomima areekuli ในปี 2517 ในเวลาเดียวกันก็ได้ตั้งชื่อแมลงในสกุลเดียวกัน แต่เป็นชนิดใหม่อีก 3 ชนิด ให้เป็นเกียรติแก่ภรรยา คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิมล อารีกุล 1 ชนิด คือ Ammophilomima pimolae และแก่ประเทศไทย 2 ชนิด คือ Ammophilomima siamae และ Ammophilomima thailandae

นอกจากศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพิษตกค้างของสารฆ่าแมลงในผัก ผลไม้ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน ตลอดจนพิษของสารฆ่าแมลงต่างๆ ที่ใช้ในนาข้าวซึ่งเป็นอันตรายต่อพืช ปลา สัตว์อื่นๆและสภาพแวดล้อมแล้ว ยังได้ศึกษาพบพิษของสารฆ่าแมลงในอาหารสุกรที่ปนเปื้อนมากับการคลุกเมล็ดข้าวโพด จึงได้รายงานให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแถลงข่าวให้สื่อมวลชนรับทราบ พร้อมมาตรการที่ต้องแก้ไข ยังผลให้กระทรวงเกษตรฯ ต้องดำเนินการอย่างจริงจังโดยร่าง พ.ร.บ. วัตถุมีพิษเพื่อควบคุมสารพิษสารเคมี อันได้แก่ สารฆ่าแมลงและสารอื่นๆ ที่ใช้ในการเกษตร ซึ่งได้มีประกาศบังคับใช้ในปี 2511 เป็นต้นมา อีกเรื่องหนึ่งย้อนหลังไปสมัยตั๊กแตนปาทังก้าระบาด ทำลายข้าวโพดเป็นจำนวนมาก ใน พ.ศ. 2503 จำนวนร้อยกว่าไร่ พ.ศ. 2504 จำนวนพันกว่าไร่ พ.ศ. 2505 จำนวนหมื่นกว่าไร่ พ.ศ. 2506 จำนวนสามแสนไร่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สั่งให้ปราบเป็นเรื่องเร่งด่วน ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็รีบขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ใช้เครื่องบินพ่นยา ปรากฏว่ายาที่ใช้ในอเมริกาได้ผลแต่มาใช้ในเมืองไทยไม่ได้ผล ผู้เชี่ยวชาญจึงมาขอให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สุธรรม อารีกุล ช่วย จึงได้ทดลองยาดูปรากฏว่ายาที่ใช้แมลงไม่ตาย ต้องใช้ยาตัวอื่น โดยจะต้องทดสอบยาทุกครั้งก่อนนำไปฉีดยาฆ่าแมลง การปราบแมลงปาทังก้าจึงได้ผลสำเร็จ ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มีหนังสือชมเชย

นอกจากงานวิจัย งานสอน ทั้งในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยอื่นแล้ว ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สุธรรม อารีกุล ยังทำงานบริการวิชาการ โดยการส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ที่ศึกษาค้นคว้ามาให้แก่ประชาชนผ่านทางสื่อต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ การบรรยายตามหน่วยงานที่ได้รับเชิญ รวมทั้งให้คำแนะนำและตอบจดหมายต่างๆให้แก่เกษตรกร ครู นักเรียน บริษัทห้างร้านเอกชน ที่มาติดต่อขอรับคำแนะนำอีกด้วย

ส่วนงานด้านบริหารมหาวิทยาลัย เริ่มใน พ.ศ. 2510 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สุธรรม อารีกุล ได้รับแต่งตั้งจากหม่อมหลวงชูชาติ กำภู อธิการบดี ให้เป็นผู้อำนวยการวิจัย เพื่อดูแลจัดระบบการบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัย แต่ได้ลาออกเมื่อหม่อมหลวงชูชาติ กำภู พ้นตำแหน่ง ต่อมา พ.ศ. 2514 ก็ได้เป็นหัวหน้าภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช ในสมัยหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ( พระอิสริยยศในขณะนั้น ) เป็นอธิการบดี ในปี 2516 ได้รับแต่งตั้งให้รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการในระหว่าง พ.ศ. 2517 - 2523 รวม 3 วาระ ต่อจากนั้นก็ได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีจากการลงคะแนนเสียงของชาวเกษตรโดยตั้งใจว่าหากคะแนนเสียงใกล้เคียงกันจะถอนตัว เพราะไม่อยากให้แตกแยก แต่ถ้ามีผู้สนับสนุนมากก็จะรับ ผลปรากฏว่าได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ( ราว 800 กว่าต่อ 200 กว่าเสียง ) ในการเลือกตั้งอธิการบดี และเป็นติดต่อกันถึง 3 วาระในระหว่าง พ.ศ. 2529 - 2535 พร้อมการดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ 11 คนแรกของมหาวิทยาลัย

เกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สุธรรม อารีกุล เล่าว่า ขณะนั้นเพิ่งจะรักษาการรองอธิการบดี ในคืนวันที่ 11 ตุลาคม 2516 นิสิตมีการชุมนุม จะเดินขบวนไปมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และจะไม่เข้าสอบไล่ จึงต้องเข้าไปเจรจาต่อรอง ยับยั้ง ไม่ให้ไปธรรมศาสตร์ ต้องนอนกับนิสิต ตั้งแต่วันนั้นจนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ช่วงนั้นได้ประสบการณ์หลายอย่างเกี่ยวกับถูกหลอกบ้าง เล่นละครปลุกระดมบ้าง ต้องแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าอยู่ตลอดเวลา ในฐานะผู้บริหารช่วงนั้น ได้เผชิญเรื่องงานปกครองที่เกิดขึ้นติดต่อกันไม่ขาดสายในหลายเรื่อง เช่น 1. นิสิตฟ้องอาจารย์ บังคับให้ผู้บริหารลงโทษ 2. อาจารย์ฟ้องอาจารย์ บังคับให้ผู้บริหารลงโทษ 3. ทะเลาะกันเอง ตีกันระหว่างสภานิสิตกับองค์การนิสิตในเรื่องของนิสิตนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สุธรรม อารีกุล มีความเป็นห่วง และคอยดูแลอย่างสม่ำเสมอ ออกคำสั่งไปแล้วต้องติดตามดู เช่น การต้อนรับน้องใหม่ ไม่ให้รุ่นพี่กระทำเกินเวลาที่กำหนด โดยจะคอยแอบดูความเคลื่อนไหวของนิสิต และเคยจับได้ว่าไม่เลิกตามเวลาก็จะลงโทษรุ่นพี่ เรื่องบางเรื่องก็ต้องขอให้ตำรวจจัดการ เป็นต้น

สำหรับการหาทุนและความช่วยเหลือจากต่างประเทศในรูปให้เปล่าเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยในช่วงเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการนั้น ที่สำคัญคือ ความสำเร็จในการเจรจาขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการสร้างศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง ศูนย์จักรกลทางการเกษตร ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติขึ้นที่วิทยาเขตกำแพงแสน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินช่วยเหลือ 360 ล้านบาท การได้มา 3 ศูนย์นี้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของมหาวิทยาลัย ทำให้มีการสร้างนักวิจัยเพิ่มขึ้น และถือเป็นงนใหญ่ระดับชาติทีเดียว ผู้ใต้บังคับบัญชาบางคนกล่าวว่า ภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิด ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานที่แยบยล ได้กลยุทธ์ในการติดต่อโต้ตอบกับผู้คนและสังคมที่หลากหลาย ทั้งยังได้จิตใจที่เอื้อเฟื้อและพร้อมจะให้กับบุคคลรอบข้าง

เมื่อ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สุธรรม อารีกุล เข้ารับตำแหน่งอธิการบดี งานที่แรกที่ทำก็คือ การพิจารณางบประมาณมหาวิทยาลัยที่เคยได้น้อย โดยสำนักงบประมาณให้เหตุผลว่าใช้งบประมาณไม่หมด มีเงินเหลือทุกปี พบว่าเงินที่เหลือคือไม่ได้บรรจุอัตราใหม่ที่ขอไว้ ปกติการขอเพิ่มงบประมาณ เขาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ จากฐานงบประมาณที่ได้แต่ละปี จึงจำเป็นต้องยกฐานให้สูงขึ้น โดยวางฐานการก่อสร้างอาคารเรียนสำหรับการพัฒนาทางด้านสังคม มนุษยศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ เพื่อจะได้เพิ่มจำนวนการรับผู้เรียนได้มากขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีอาคารเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละอย่างน้อย 4 อาคาร นอกจากอาคารเรียนแล้วยังขยายออกไปถึงอาคารวิจัย อาคารกิจกรรมนิสิต ศูนย์หนังสือ ศูนย์กีฬา และศูนย์วัฒนธรรม รวมทั้งอาคารบริหารสารนิเทศ 50 ปี ด้วย นอกจากนี้ก็ได้วางแผนสร้างอาคารสำหรับส่งเสริมการกีฬาและสนามกีฬาอีก โดยอ้างว่าจะรับเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยใน 3 ปีข้างหน้า ทำให้ได้เงินมาอีก 150 ล้าน เพื่อพัฒนาด้านกีฬา

สำหรับสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร ท่านเล่าว่า โครงการที่วางไว้ แผนและแบบแปลนต่างๆ ตลอดจนงบประมาณการก่อสร้างตั้งใจให้เป็นศูนย์วัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย เป็นที่รวมของชมรมต่างๆ ที่น่าสนใจซึ่งมีมากถึง 26 ชมรม เช่น ชมรมวรรณศิลป์ ชมรมลูกทุ่งดาวกระจุย ชมรมดนตรีไทย ดนตรีสากล และชมรมกีฬาต่างๆ อีกมากมาย โดยจะเป็นอาคารที่มีการวิจัย การสอน สำหรับผู้สนใจในชมรมต่างๆ ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ เข้าเรียนได้ ไม่เฉพาะนิสิตเท่านั้น แต่พอสร้างเสร็จกลับกลายเป็นสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร ซึ่งผิดวัตถุประสงค์โดยสิ้นเชิง เพราะตั้งใจให้เป็นศูนย์ศึกษาวิจัย และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชาติ ตามหน้าที่อย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่จะต้องทำด้วย

เรื่องการเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยในสมัยท่านเป็นอธิการบดี เมื่อมีการเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาจากนิสิต อธิการบดีบอกเขาว่า เรื่องนี้จะต้องขอความเห็นจากคณาจารย์ ศิษย์เก่า และประชาชนด้วย เพราะมหาวิทยาลัยก็ใช้ภาษีของประชาชน ในที่สุดฝ่ายไม่เปลี่ยนเป็นฝ่ายชนะ

เรื่องหลักสูตรแพทยศาสตร์ สมัยนั้นยังเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ทางโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ขอให้มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรแพทย์ เขาจะช่วยสอนให้ แต่ท่านเห็นว่า ถ้าสร้างแพทย์เองต้องลงทุนมาก และจะต้องทุ่มเทงบประมาณทุกปีให้กับการบริการทางโรงพยาบาล จึงคิดจะสร้างเป็นเครือข่ายแพทย์ โดยอาศัยความร่วมมือจากโรงพยาบาลต่างๆ เข้าร่วมโครงการ โดยไม่ต้องสร้างอาคารหรือโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ขั้นตอนแรกจะสอนเตรียมแพทย์ให้กับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พอดีพ้นตำแหน่งก่อน ไม่ได้มีการสานต่อ ไม่อย่างนั้นเราก็มีแพทย์มานานแล้ว

การใช้พื้นที่ต่างจังหวัด เห็นว่าควรต้องใช้พื้นที่ต่างจังหวัดพัฒนาการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ไม่จำเป็นจะต้องเป็นวิทยาเขตเสมอไป อาจจะใช้เป็นที่วิจัย ที่ฝึกงาน ที่ฝึกอาชีพ เพราะการเรียนสมัยใหม่มีเทคโนโลยีช่วยมาก อย่างที่สกลนครก็สอนโดยใช้สื่อทางไกลที่มีประสิทธิภาพสูง มหาวิทยาลัยจะสอนแบบท่องจำไม่ได้ ต้องสอนให้นิสิตรู้จักคิดและเรียนด้วยตนเอง เป็นการศึกษาต่อเนื่อง และการศึกษาตลอดชีวิต และต้องเน้นการวิจัยด้วย ปัจจุบันข้อมูลต่างประเทศมีมาก และสะดวกในการค้นหาทาง Internet แต่ก็เป็นเรื่องของต่างประเทศ ดังนั้น จะต้องไม่ละเลยเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาษาพื้นบ้านโดยเฉพาะที่ใช้เรียกชื่อสัตว์ พืชชนิดต่างๆ เป็นต้นนอกจากนี้ต้องสนใจสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น กฎหมาย รัฐศาสตร์ การปกครองท้องถิ่น การพัฒนาชนบท ชุมชน สังคมเกษตร สังคมชนบทด้วย คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เคยพูดว่า จุดประสงค์ของการเรียนก็เพื่อนำไปใช้ให้ชีวิตดำรงอยู่อย่างมีความสุข ดังนั้นความรอบรู้ในวิชาต่างๆ จะช่วยเราได้เป็นอย่างดี

ในเรื่องกีฬาบุคลากรมหาวิทยาลัย เนื่องจากอธิการบดีเห็นว่า สังคมในมหาวิทยาลัยเกิดช่องว่างมากขึ้นระหว่าง อาจารย์-ข้าราชการ มีอาจารย์หลายคนคิดกันว่าจะจัดกีฬาบุคลากร จุดสำคัญก็คือ จะแบ่งทีมอย่างไร จึงจะไม่มีการแบ่งชั้น แบ่งพวก แบ่งคณะ อันจะก่อให้เกิดการแตกแยกมากขึ้นอีก ในที่สุดได้เสนอให้ แบ่งทีม โดยจัดเป็นราศีเดือนเกิด ใครเกิดเดือนอะไรก็อยู่ทีมนั้น ทำให้ได้รับผลสำเร็จ ผู้บริหารเกิดเดือนไหนก็จะต้องร่วมทีมด้วย แต่ละทีมก็จะลงขันกันเป็นงบประมาณของแต่ละทีม ทำให้ข้าราชการ อาจารย์ มีความสัมพันธ์ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และรู้จักกันมากขึ้น

ในด้านชีวิตครอบครัว ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สุธรรม อารีกุล สมรสกับผู้ช่วยศาสตราจารย์พิมล อารีกุล (แสงอุทัย) อาจารย์ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ เกษตร รุ่น 11 มีบุตรธิดา 4 คน( หญิง 2 คน ชาย 2 คน) คนแรกเรียนจบปริญญาโททางสถาปัตยกรรมศาสตร์ คนที่ 2 จบปริญญาเอกทางวิศวกรรมไฟฟ้า จาก Washington State University คนที่ 3 จบปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร คนที่ 4 ทำไร่ที่เชียงใหม่

ตำแหน่งหน้าที่ราชการก่อนเกษียณอายุ (1 ตุลาคม 2534) คือ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร และดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดคือ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ แห่งราชบัณฑิตยสถาน

หลังจากเกษียณ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สุธรรม อารีกุล ยังคงปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายอย่างต่อเนื่องเช่นเดิม เช่น งานราชบัณฑิต งานประเมินผลงานหน่วยงานต่างๆ งานวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านเป็นที่ปรึกษาและนักวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง และกรรมการต่างๆ อีกหลายชุด ท่านจึงเป็นผู้มีจิตวิญญาณของนักวิจัยโดยแท้ และยังคงทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติอยู่โดยตลอด

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ประกาศศยกย่องเชิดชู ให้ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สุธรรม อารีกุล" เป็น “เกษตราภิชาน” คือ ผู้ที่รู้ยิ่งในศาสตร์การเกษตร ประจำ ปี พ.ศ. 2565 เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะครบ 80 ปี ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566



Copyright © 2019 Archives of Kasetsart University